onwin
5. The Entrepreneur Creator ABAC The Land of Tradition and Innovation

The Entrepreneur Creator ABAC The Land of Tradition and Innovation

 

“อุปสรรคทั้งปวง สามารถเอาชนะได้ด้วยความอุตสาหะ”

  สถาบันที่เปรียบประดุจบ้านเกิด

ผู้เรียนทุกคนประหนึ่งเป็นสมาชิก

ในครอบครัวเดียวกัน 

 สถาบันที่เป็นแสงประทีปแห่งปัญญา

เป็นดวงประทีปส่งนำชีวิตไปสู่จุดหมาย

ด้วย “ปัญญา” และ “คุณธรรม” 

 สถาบันที่เปรียบเป็น “นาวาชีวิต”

ที่ต้องฝ่าคลื่นลมไปจนถึงฝั่ง 

โดยให้คิดอยู่เสมอว่า “ชีวิตคือการต่อสู้”

สถาบันที่สอนให้คนทำงานทุกอย่างเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระเจ้า

และให้มุ่งแสวงหาความรู้อยู่เสมอ 

 สถาบันที่พร่ำสอนให้กระทำความดี

เพื่อเชิดชูและจรรโลงไว้ซึ่งเกียรติยศ

จะเป็นที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว 

 ..................

 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)  

The Entrepreneur Creator

“ปรัชญาการศึกษาของ ABAC ไม่เปลี่ยนเพราะถือเป็นสถาบันการศึกษาคาทอลิก ต้องยึดมั่นต่ออุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งคือนักบุญ หลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต (Saint Louis Marie Grignion de Montfort) ที่เชื่อว่า การศึกษาจะเป็นตัวสร้างคนให้มีปัญญา”

ของเก่าดีๆ เก็บไว้ ของใหม่มา ใช้อย่างรู้ทัน ใช่ว่า “เก่าไป ใหม่มา” ซะที่ไหนกัน ถ้าจะให้ดีทั้งสองอย่างต้องผสมกลมกลืนให้ลงตัวที่สุด ความคิด วิธีการ คุณค่า ค่านิยมที่เติบโตมาพร้อมความงอกงามของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ประสานกับองค์ความรู้ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี เพราะโลกศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงชนิดที่ต้องจับตาทุกขณะ มหาวิทยา-ลัยอัสสัมชัญจึงเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงเสมอมา  

@ABAC สถาบันการศึกษาที่เกิดขึ้นจากการออกแบบมาตั้งแต่ต้น (Born By Design) โดยมีปรัชญาการศึกษาที่พัฒนาศักยภาพของบุคคลทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย สติ ปัญญา อารมณ์ และจิตวิญญาณ เพราะแต่ละส่วนที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวนั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้เด็ดขาด ถึงจะเรียกว่า “สมบูรณ์แบบ”

 

ดัง “จิตตารมณ์” ที่ได้รับการทบทวนจากคณะภราดาเสมอเหมือนอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่น ทุ่มเท ทำงานหนัก (Operated by Commitment) เพื่อผลิตผู้เรียนออกสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพพร้อมสรรพวิชาด้วยบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาของผู้เรียนยิ่งเปิดโลกทัศน์และมุมมองทางความคิดให้กับผู้เรียนได้เห็นมุมมองของการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

“การให้การศึกษากับคน ต้องให้การศึกษาให้ครบไม่ใช่ให้ส่วนเดียวของร่างกายเพราะคนนี่มีหลายมิติ (Dimensions) ซึ่งจับแยกกันไม่ได้” ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว หากร่างกาย (body) ไม่แข็งแรงก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และประกอบกิจการงานต่าง ๆ ขณะเดียวกันสติปัญญาต้องได้รับการพัฒนาโดยให้การศึกษา ให้คนรู้จักคิด รู้จักสร้างงานด้วยตนเอง และสร้างสรรค์งานอย่างมีคุณธรรม

ปณิธานเมื่อแรกก่อตั้ง จวบจนวันนี้ยังคงความเข้มแข็งในการทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้” การศึกษาอันเป็นเลิศของคณะภราดาและคณาจารย์ เพื่อบ่มเพาะความรู้ให้กับผู้เรียนพร้อมกับคุณธรรมที่ดำรงไว้ซึ่งความเป็น “คนดี” ของสังคม ดังที่ ภราดา ซีเมออน (Simeon) อัคราธิการองค์ที่ 2 (ค.ศ. 1852- 1862) 

เคยกล่าวไว้ว่า “…จะอย่างไรก็ตามภราดาที่รัก พวกเราต้องพยายามทำตนให้เหมาะสมกับการเป็นครู มิใช่ทางด้านศาสนาและคุณธรรมเท่านั้น แต่ในด้านวิชาโลกด้วย...” (4 สิงหาคม 1855 )

พัฒนาการของมหาวิทยาลัยก้าวไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อม ผนวกกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) ปรับรูปแบบวิธีการบริหารงานให้คล่องตัว (Adapting itself to the changes) และนำนวัตกรรมกลับมาใช้ใหม่ (Re-innovation) ผ่านหลักสูตรที่ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย เทคโนโลยีการสอนที่ตามทันกระแสนำมาใช้เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มและตื่นตัวต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ตลอดจนไม่ได้ละเลยเทคนิคการสอนของอาจารย์แม้จะเป็นคณาจารย์รุ่นเก่าแต่มีความทันสมัยที่ปรับตัวไปพร้อมกับผู้เรียนทุกย่างก้าว

ทว่า สิ่งหนึ่งที่เอแบคยังคงยึดมั่นไม่เสื่อมคลายแม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปมากแค่ไหนก็ตาม คือ การขัดเกลาผู้เรียนให้มีคุณธรรม ซึ่งสะท้อนผ่านวิชา Professional Ethics ที่แม้จะไม่มีหน่วยกิต ไม่สามารถวัดผลเป็นคะแนนได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ความสำคัญกลับเป็นเครื่องมือหล่อหลอมคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งเป็นพื้นฐาน “ความดี” ของความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เรียนที่ซึมลึกอยู่ในจิตวิญญาณ 

ความรอบรู้ที่จำเป็น ในยุคโลกาภิวัตน์จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่เส้นทางการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันในโลกยุคใหม่ที่ต้องมองให้รอบด้านบริหารจัดการให้เป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ สิ่งแวดล้อมภายใน ภายนอกอย่างเท่าทัน และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็น

“เราฝึกเด็กของเราให้เป็นผู้นำ ในศตวรรษที่ 21 ต่างจากผู้นำในอดีต และจะนำอย่างไร เราจึงต้องรู้จักสร้างคนให้เป็นผู้นำโดยมีลักษณะเป็นคนที่ Think Globally and Act Locally ต้องรู้จักประชาคมโลก มีนิสัยที่เรียกว่าคิดกว้าง เรียนรู้วัฒนธรรมต่างประเทศ เมื่อรู้วัฒนธรรมคนอื่นก็รู้จักเขาดีขึ้นและทำธุรกิจก็ง่าย”

จากปี 1969 ถึง 2011 เอแบคก้าวขึ้นแท่นผู้นำด้านการศึกษา เพราะเมื่อคิดจะลงทุนใน “คน” แล้ว ก็ต้องทำให้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แม้ผลสะท้อนที่ได้กลับมาไม่ได้ออกมาเฉพาะแต่บุคลากรที่จบออกไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่ความงอกงามและคุณธรรมที่ติดตัวพร้อมกับทักษะการใช้ชีวิตจะเป็นเครื่องมือและเกราะป้องกันที่ดีที่พร้อมให้พวกเขาเหล่านั้นรู้ทันและปรับตัวเข้ากับโลกได้อย่างองอาจนั่นเอง

แหล่งที่มา : นิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม - กันยายน 2554 หน้า 56-59