onwin
6. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สถาบันการศึกษาที่คนไทยเชื่อมั่นในความเป็นนานาชาติ

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สถาบันการศึกษาที่คนไทยเชื่อมั่นในความเป็นนานาชาติ

เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปิดพรมแดนนานาชาติให้สามารถทำการค้าด้วยกันได้ทั่วโลก ความต้องการบุคลากรที่มีความพร้อมทั้งความรู้ความสามารถ และภาษาที่เป็นสากลในตลาดแรงงาน ทำให้วงการศึกษาในไทยเกิดความตื่นตัวรับกระแส สถาบันการศึกษาหลายแห่งพยายามปรับหลักสูตรให้สามารถตอบสนองความต้องการในภาคธุรกิจ จนเกิดการแข่งขันสร้างจุดเด่นในความเป็นนานาชาติในสายตาพ่อแม่ผู้ปกครอง 

ท่ามกลางสถาบันการศึกษานานาชาติที่เปิดแข่งกันเป็นดอกเห็ดอยู่ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มีระบบการสอนหลักสูตรนานาชาตินับตั้งแต่วันแรกเริ่มก่อตั้งกระทั่งมาขยับนำไปอีกก้าวด้วยการตั้งเป้ายกระดับความเป็นนานาชาติ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยโลก เพื่อแสดงศักยภาพความเป็นสถาบันการศึกษาที่พร้อมมอบองค์ความรู้ระดับสากลแก่นักศึกษาทั่วโลก 

ยกระดับนานาชาติ สู่มหาวิทยาลัยโลก 

ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) กล่าวว่าการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ ไม่ได้หมายเพียงแค่เรื่องภาษาเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงองค์ประกอบทุกอย่างอันเป็นปัจจัยสร้างองค์ความรู้ระดับสากลที่จะทำให้เมื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว นักศึกษาสามารถนำเอาองค์ความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วทุกมุมโลก โดยไม่ต้องมาเสียเวลากับการปรับตัวอีก ซึ่งการสร้างองค์ความรู้สากลนี้เอแบคได้สั่งสมประสบการณ์มานานกว่า 40 ปี โดย เน้นปัจจัยสำคัญดังนี้

 - ผู้เรียน ปัจจุบันเอแบคมีนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 3,000 คน จาก 88 ประเทศใน 6 ทวีป และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน้อยปีละ 15% การเป็นแหล่งรวมนักศึกษานานาชาติอย่างแท้จริง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอันจะเป็นการลดช่องว่างและสร้างความเข้าใจที่เสริมประสิทธิภาพวิชาความรู้ของนักศึกษาให้สามารถนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ทั่วทุกมุมโลก 

- ผู้สอน อาจารย์ผู้สอนเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิมาจากหลายประเทศ โดยมีอาจารย์ต่างชาติ 30% ที่เหลือเป็นอาจารย์คนไทยที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ และบางท่านมีประสบการณ์การสอนในต่างประเทศมาก่อน 

- สภาพแวดล้อม ทั้งตึกอาคารเรียน สำนักงาน หอสมุด หอพัก หรือแม้กระทั่งป้ายประกาศล้วนสร้างให้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมนานาชาติอย่างแท้จริง ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้นักศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัยต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร บรรยากาศการเรียนการสอนจึงไม่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยเมืองนอกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย 

- หลักสูตรการเรียนการสอน มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชื่อดังในหลายประเทศเพื่อพัฒนาหลักสูตรให้มีความเป็นสากลตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานโลก อีกทั้งยังมีการควบรวมหลักสูตรที่มีความเกื้อหนุนกันเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่รอบด้าน นักศึกษาที่จบออกไปจึงไม่เพียงรู้ลึกรู้กว้างในสาขาวิชาที่เรียน แต่ยังมีความคล่องตัวในการปรับตัวให้เข้ากับวิชาชีพในอนาคต “เช่น หลักสูตรวิศวกรรมการบิน นักศึกษาจะมีความรู้พื้นฐานทั้งทางด้านวิศวกรรม และด้านอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อจบออกไปแล้ว หากค้นพบทีหลังว่าไม่ชอบหรือไม่ถนัดอาชีพนักบิน หรือประสบปัญหาไม่สามารถประกอบอาชีพนักบินได้ ก็ยังสามารถไปประกอบอาชีพอย่างอื่นได้ หรือศึกษาต่อในด้านอื่นได้ เช่น วิศวะ หรือ ช่างซ่อมเครื่องบิน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว  

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นสถาบันการศึกษานานาชาติที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ มีหลายมหาวิทยาลัยทั้งใน ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั่วเอเชียส่งนักศึกษามาเรียนที่นี่ปีละหลายร้อยคน ภราดา ดร. บัญชากล่าวว่ากว่าเอแบคจะมาเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ ที่ยังไม่มีอาจารย์จบจากต่างประเทศมากนัก ทำให้เอแบคต้องลงทุนจ้างอาจารย์ชาวต่างชาติมาสอนขณะที่นักศึกษาในยุคนั้นมีพื้นฐานภาษาไม่ดีประเภทเรียนมาหลายปีก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ มหาวิทยาลัยจึงต้องพยายามทุกอย่างเพื่อปรับพื้นฐานภาษาให้กับนักศึกษา อีกทั้งยังต้องปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของสังคม และตลาดแรงงานไปพร้อมกัน

ความสำเร็จในวันนี้จึงต้องยกประโยชน์ให้กับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ตลอดจนถึงนักศึกษานับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันที่ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคจนนำพามหาวิทยาลัยมาถึงวันนี้ได้ ซึ่งนับจากวันนี้ไปถือเป็นภาระหน้าที่ของชาวเอแบครุ่นใหม่ทุกคนทั้งคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนถึงนักศึกษาจะร่วมกันนำพาเอแบคก้าวไปถึงการเป็น Thailand’s Global University ในปี 2562

มุ่งภารกิจผลิตทรัพยากรบุคคลสร้างสรรค์สังคมโลก

เพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอีกทั้งโลกที่ถูกย่อให้ทุกสังคมเชื่อมโยงถึงกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งจึงสามารถส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกได้ หลักสูตรการเรียนการสอนจึงไม่ควรมุ่งเน้นผลิตบุคลากรให้มีความสามารถในการแข่งขันกันเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องคำนึงถึงการรังสรรค์ประโยชน์ต่อส่วนรวม ประชาคมโลกจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

วัฒนธรรมการเรียนการสอนของเอแบค เน้นเปิดเสรีทางความคิดให้กับนักศึกษา เพื่อฝึกฝนให้เป็นคนคิดเองเป็น ทำเองได้ โดยเชื่อว่าทักษะเช่นนี้จะทำให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาต่อยอดความคิดใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก ภราดา ดร. บัญชา กล่าวว่าก้าวต่อไปของเอแบคไม่ใช่เป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นเนื้อหาวิชาการเป็นหลักอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาให้มหาวิทยาลัยผลิตงานวิจัยรองรับสังคมให้มากขึ้น สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็น Teaching and Research University นำงานวิจัยเข้าไปเสริมความรู้หลัก และยกระดับงานวิจัยให้เทียบชั้นกับงานวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งเอแบคได้เปรียบตรงความเป็นนานาชาติมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยนำนักศึกษาต่างชาติเข้าสู่ประเทศจนเกิด เครือข่ายทางวิชาการ ส่งผลให้เกิดพลังขับเคลื่อนจากภายในมหาวิทยาลัยส่งผ่านไปยังภายนอกสะท้อนเอกลักษณ์มหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน 

ขณะเดียวกันก็ต้องปลูกฝังจริยธรรมวิชาชีพให้กับนักศึกษาด้วย โดยทุกหลักสูตรของเอแบคนักศึกษาจะต้องเรียนและผ่านวิชาจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งไม่เพียงเรียนแค่ทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังนำบุคคลสำคัญในวงการวิชาชีพต่างๆ มาถ่ายทอดประสบการณ์ตรง อีกทั้งจัดพานักศึกษาไปสัมผัสเรียนรู้ชีวิตผิดพลาดของคนในแต่ละกลุ่มเพื่อให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะขึ้น เช่น สัมผัสกับชีวิตนักโทษในเรือนจำ บ้านพักคนชรา เป็นต้น 

ความมุ่งมั่นในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีจิตสาธารณะ เช่นนี้ถือเป็นพันธกิจที่ท่านอธิการบดีคนปัจจุบันเชื่อมั่นว่าจะนำพามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพิ่มมากขึ้นจนสามารถผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้เอแบคไม่เพียงเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศเท่านั้น ในประเทศไทยเองเอแบคขึ้นชื่อเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในฝันที่หลายคนอยากเข้าศึกษา กระทั่งได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และนักศึกษาทั่วเอเชียลงคะแนนให้ได้รับรางวัล Trusted Brand 2011 จากนิตยสารรีดเดอร์สไดเจสท์ ในปีแรกที่มีการสำรวจความนิยมในกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน ในเรื่องนี้ ภราดา ดร. บัญชากล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจที่ได้รู้ว่ามีคนเห็นความมุ่งมั่นในการอุทิศตนให้กับการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งความภาคภูมิใจนี้จะเป็นพลังใจให้ชาวเอแบคทุกคนร่วมใจกันนำพามหาวิทยาลัยแห่งนี้ก้าวสู่การเป็น Thailand’s Global University ได้ตามเป้าหมายแน่นอน 

“ความเป็นสถาบันการศึกษา ต่างจากแบรนด์สินค้าทั่วไป เราไม่สามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์จุดดีจุดเด่นของเราได้ พื้นที่สามหน้านี้จึงมีจุดหมายเพื่อแสดงความขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบความเชื่อมั่นให้กับเรา และขอให้คำมั่นว่าเราจะทำให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ เป็นแหล่งรวมการศึกษาของคนทุกชาติ เป็นสถาบันการศึกษาที่ทุกคนที่จบออกไปจะต้องเกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพของตัวเอง”                  ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกล่าวในตอนท้าย 

แหล่งที่มา : วารสาร Resders Digest มิถุนายน 2554 หน้า 113-115