onwin
10. เอแบค...change agent ด้วย 3D

เอแบค...change agent ด้วย 3D

แต่ไหนแต่ไรมา “Competency” ที่ใครต่อใครเรียกกันในสมัยนี้ว่า สมรรถนะในการแข่งขัน ก็มักจะตกอยู่ในมือมหาอำนาจ หรือเจ้ายักษ์ใหญ่อย่างอเมริกันที่กุมบังเหียนเศรษฐกิจ การศึกษา และเทคโนโลยี กินรวบครอบครองและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดไว้หมด ความได้เปรียบของอเมริกาเพราะพื้นฐาน การสร้างองค์ความรู้และผลิตศาสตร์แขนงต่างๆ ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้อเมริกาคงความยิ่งใหญ่มานับศตวรรษ 

น่าแปลกในความยิ่งใหญ่ กลับมีพิษร้ายแฝงอยู่ เพราะความเหิมเกริมและหยิ่งผยอง เศรษฐกิจที่เคยอู้ฟู่กลับซบเซา ส่งผลให้สมรรถนะทางการแข่งขันที่ครั้งหนึ่งอเมริกาเคยครอบครองต้องเพลี่ยงพล้ำ และตกมาอยู่ ในมือกำลังเกิดขึ้น และจะเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทนับจากศตวรรษนี้เป็นต้น 

โฉมหน้าทางเศรษฐกิจของ “เอเซีย” ในเวลานี้จึงไม่มีใครปฎิเสธได้ว่า ก้าวขึ้นแท่นผู้นำเศรษฐกิจในอนาคต ทุนมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพมากขึ้น การสั่งสมององค์ความรู้ และเตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมาได้อย่างถูกจังหวะ ไม่แปลกที่จะเห็น Business School ของเอเซียกำลังได้รับความนิยมจากนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น ทำหน้าที่ผลิตทรัพยากรบุคคลที่อยู่ในความดูแลให้สามารถออกไปแข่งขันไปบริหารธุรกิจตามครรลอง และเพิ่มสมรรถนะทางการแข่งขันให้กับประเทศ 

Developed 

ย่างก้าวสู่ปีที่ 41 ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (AU) สถาบันการศึกษาไทยที่ผลิตบัณฑิตออกรับใช้สังคมมาเป็นเวลายาวนานปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ว่า“Labor Omnia Vincit” ซึ่งเป็นภาษาละตินเมื่อแรกก่อตั้งยังคงสะท้อนแนวคิดการศึกษาและการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี “ความอุตสาหวิริยะเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จ” ความเพียรความวิริยะจัดว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศหรืออัจฉริยะ แต่การศึกษาคือการพัฒนาจิตใจตนเอง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตมากกว่าความสำเร็จที่วัดกันที่วัตถุหรือความเป็นตัวตน 

พัฒนาการที่เกิดกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญดำรงมาถึง 40 ปี หากไม่ ‘Change’ ให้เข้ากับยุคสมัยให้สอดคล้องและทันต่อโลก สถาบันวิชาการแห่งนี้คงไม่อาจที่จะยืนหยัดท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ เพราะสิ่งหนึ่งที่ตลาดการศึกษาในประเทศที่ผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศกว่า 265 แห่ง ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ประกอบกับ การปรับเปลี่ยนวิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฏและจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นอีกหลายแห่ง เพื่อรับใช้ประชากร 67 ล้านคน ทว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง ซึ่งมีประชากรเพียง 7 ล้านคน มีมหาวิทยาลัย 7 แห่งส่วนสิงคโปร์มีประชากร 4.5 ล้านคน มีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง เท่ากับว่าตลาดการศึกษาของไทยต้องแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อชิงพื้นที่นั่งของผู้เรียน

ปริมาณที่เรียกว่าเกิดสภาพ Over Supply ทำให้ Players หลายรายต้องปรับตัวให้ทัน มหาวิทยาลัยอัส-สัมชัญเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาล ทว่าอยู่ภายใต้การดูแลและสนับสนุนทางการศึกษาจากมูลนิธิเซนต์คาเบรียบล ทำให้การขับเคลื่อนองค์กรไม่ได้ยืนอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง อีกทั้งการอุทิศตนเองเพื่อการศึกษาของคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ทำให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงภายในมหาวิทยาลัยจึงถือว่าเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับสถาบัน และสิ่งที่ต้อง ‘Developed’ หลักสูตรการเรียนการสอน คณาจารย์ เทคนิคการเรียนต่างๆ

เงี่ยหูฟัง 'เสียง'

สิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเป็นเพราะการฟังเสียงจากภายนอก เสียงในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เสียงนก เสียงกา แต่เป็นเสียงที่สร้างคุณูปการให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนา “ศิษย์เก่า” หัวจักรสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังเป็นภาพสะท้อนบัณฑิตที่จบออกไปพร้อมๆ กับตีโจทย์ข้อบกพร่องเมื่อก้าวออกไปสู่โลกแห่งการทำงานนำกลับมาเพื่อพัฒนาให้เกิด “คุณภาพ”ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้เหมาะสมและทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“สิ่งที่ดีงามที่เกิดขึ้นกับเรามาจากนักศึกษา จากศิษย์เก่า เป็นคนให้ฟีดแบ็คกลับมา รู้สึกว่าหลักสูตรเป็นอย่างไรภายนอกเป็นอย่างไร แล้วกลับมาเปลี่ยนแปลง เป็นประเพณีนี้มานาน เราปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เปลี่ยนแปลงแทบทุก Semester แต่ยังอิง core subject” ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยอัสสัม-ชัญ กล่าว 

การไม่หยุดนิ่ง ปรับเปลี่ยน พัฒนาตลอดเวลา แม้สิ่งที่ดีอยู่แล้วก็ยังต้องพัฒนาให้ดีขึ้นคือปรัชญาการบริหารจัดการที่เป็นสากลก็เหมือนอย่างที่ Peter Drucker เคยพูดเอาไว้ซึ่งโยงกับการพัฒนาปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการว่า สินค้าที่เคยได้รับความนิยม (yesterday’s superstars) ก็ยังคงต้องพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดสินค้าของวันนี้ (today’s superstars) และพัฒนาสินค้าปัจจุบันต่อยอดไปยังสินค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Tomorrow’s superstars) ซึ่งจะเป็นดาวดวงใหม่เกิดขึ้นแทนที่ ไม่ต่างจากหลายสิ่งที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในรั้วมหาวิทยาลัยทั้งหลักสูตรการศึกษาที่ต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนคณาอาจารย์ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสมัย และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากขึ้นทุกวัน  

“ของแบบนี้มันมาจาก Intuition ญาณ ตัวเราเองจะรู้จะเห็น ที่นี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจนมันกลายเป็นระบบ แต่ตอนนี้ จุดที่บอกได้คือ บังเอิญ ไม่โมโห ฟังเขาด่า สร้างหลักสูตรจำลอง เป็นจุดที่เปลี่ยนแปลง เรียนรู้ว่าต่อไปนี้ต้องฟัง ดูว่าเขามีความหวังที่ดี ให้สถาบันเจริญ เราอย่าไปสงสัย ส่งเสริมเขา มันทำให้เกิดสภาพใหม่ขึ้นมา ฟังเขาแล้วก็พัฒนาขึ้นมาใหม่ได้” ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ กล่าว 

ความเป็น nature ของมหาวิทยาลัย คือ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มหาวิทยาลัยก็เหมือนกับ “คน” ย่อมต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องบนเศรษฐกิจฐานความรู้ และ การเรียนรู้ต้องเป็นแบบ Life Long Learning องค์ความรู้ที่เปลี่ยนโลกจากอดีตก็เพื่อเป็นวันนี้และพัฒนาต่อไปเพื่ออนาคต “ตัวมหาวิทยาลัยถูกเทรนให้เป็นผู้ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะถ้าตัวเองไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ไม่ฟังเสียงคนก็ดื้อหมดสภาพที่ Organization ต้องมี Constant Change เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องปรับตัวเองให้ได้ สภาพนี้เราก็เตรียมตัวไว้แล้ว อ่านเครื่องหมายกาลเวลาให้ออก ให้เป็น แล้วพร้อมจะเปลี่ยนแปลง ทำให้ตัวเรามี Sensitivity แบบหนึ่ง มันเป็นเครื่องหมายหยั่งรู้” 

“หลักสูตร” ปรับตามสมัย 

คุณภาพทางการศึกษาวัดได้จากหลักสูตรการเรียน-การสอน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนานักศึกษาไปตามแนวทางสายอาชีพ ทั้ง 11 คณะ ได้แก่ บริหารธุรกิจ ศิลปศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และดนตรี School ทั้งหมดต้องมีการทบทวนและปรับปรุงหลักสูตรอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 3 เดือน ให้เป็นไปตามสภาพบริบท เช่น บางสาขาเป็นที่เคยเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ปัจจุบันกลับไม่ได้รับความนิยมก็ต้องมีการพิจารณาทบทวนหลักสูตรใหม่เพิ่มเนื้อหาที่เป็นกระแสและอยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน อย่างล่าสุด เอแบคเปิดหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (MA.IR) รองรับการแข่งขันตลาดการค้าเสรีอาเซียน เตรียมความพร้อมของผู้เรียนให้เข้าใจสภาพธุรกิจของประเทศอาเซียน และวัฒนธรรมต่างๆ เรียกว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ก็ชนะร้อยครั้ง 

หลักสูตรด้านบริหารธุรกิจก็เช่นกันเป็นอีกหนึ่งสาขาซึ่งต้องปรับปรุงอยู่เสมอ เพราะธรรมชาติของบริหารธุรกิจไม่หยุดนิ่ง โลกการค้าเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ใครช้าก็ต้องพ่ายไปเป็นธรรมดา ความรู้เก่าที่ประยุกต์ใช้ไม่ได้ก็ต้องล้าสมัยไป แทนที่ด้วยความรู้ใหม่ที่ตอบโจทย์ธุรกิจสมัยใหม่ได้ดีกว่า หลักสูตรบริหารธุรกิจจึงต้องปรับ content เนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย เช่น เรื่อง Supply Chain ซึ่งกำลังเป็นกระแส แทนที่สาขาวิชา Retail Management หรือใส่เรื่อง CRM ซึ่งกำลังเป็นแทรนด์ในขณะนี้ ผนวกเข้ากับเนื้อหา ทั้งหลักสูตร Mini MBA, Automation and Industrial Management, Innovation Management, Tourism Management, Investment Analysis and Management รองรับการบริหารธุรกิจสมัยใหม่

ไม่แปลกที่ MBA ของเอแบค จะมีโปรแกรมให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนหลากหลายและสอดคล้องกับการทำธุรกิจ “MBA ของเรามีตั้ง 10 โปรแกรม เป็นตัวพิสูจน์ Sensitivity ของเราที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ที่อื่นตามไม่ทัน โดยไม่รู้ตัว มันเปลี่ยนยิ่งกว่าเปลี่ยนเสื้อผ้า จุดนี้สำคัญซึ่งบอกไม่ได้ มองไม่ออก แต่คนภายในที่สังเกตจะรู้ ภายในปีเดียวขึ้นมาหลายโปรแกรม”          ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ

หลักสูตรบริหารธุรกิจของเอแบคจึงเป็นการประสมประสานความรู้รอบด้านแล้วขมวดเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นโลกทัศน์ที่หลากหลายเพราะถึงแม้ว่าหลักสูตรจะมีความเป็นเฉพาะทางมากขึ้นทว่าก็ไม่ได้หลงลืมรายละเอียดปลีกย่อยที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะในการเรียนให้กับผู้เรียนให้สอดคล้องกับสภาพบริบทและสังคมในขณะนั้น 

ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยา-ลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า “ในยุคใหม่หลักสูตรมักจะประสมประสานหลาย Disciplines มารวมกัน ไม่ได้มีอันเดียว เราต้องมองให้ออก มีลูกผสม เราจะทันไหม จะสู้เขาได้ไหม การบริหารเป็นความต้องการของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา เพราะการบริหารเป็นจุดสำคัญมากแล้วไม่มีทางตายไปไหน MBA เป็นวิชา Core แต่ Differentiate ในแง่ของความพิเศษบางอย่าง”

หลักการปรับเปลี่ยนหลักสูตรของเอแบคจึงขึ้นอยู่ที่ 2 ประเด็นหลักคือ การหา Quality Framework โดยอิงข้อมูลและข้อเสนอแนะของบรรดาศิษย์เก่าที่เป็นเสียงสะท้อนจากภายนอกถึงความต้องการตลาดแรงงานขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาอาศัยองค์ความรู้ หรือการมีเครือข่ายพันธมิตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยการบูรณาการหลักสูตรวิชาพื้นฐานต่างๆ ให้หลากหลายและครอบคลุม MBA ที่เอแบคจึงมีถึงกว่า 10 สาขาวิชาด้วยกัน ซึ่งเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนหลักสูตรที่มีอย่างต่อเนื่องของเอแบค “เราทำ 2 หน้าที่คือ เราตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันเราก็ต้องมี Sense และเราก็ดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้ก่อน” 

ดร.กิตติ โพธิกิตติ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวเสริมว่า “MBA ของเอแบคก็เลยมี MBA Specialized เฉพาะด้านการเงิน การตลาด การจัดการระหว่างประเทศ ไอที ทำไมเราต้องมีเราต้องทำให้ทันเหตุการณ์และความต้องการของตลาด คนที่รับเด็กไปทำงาน เราต้องฝึกให้เขามีบรรยากาศจริง สามารถใช้ความรู้ในการเรียนการสอนที่ให้มาและเทคโนโลยีต่างๆ ไม่เสียเวลาไปทำเทรนนิ่งแล้ว” 

การเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ทันสมัยเปรียบเสมือนมีอาวุธคู่กาย เมื่อออกไปทำธุรกิจจริงย่อมมีภูมิรู้ที่จะแข่งขันและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและข่าวสาร เมื่อโลกเปลี่ยนไปทางใด บัณฑิตของเอแบคก็ย่อมสามารถปรับสภาพไปตามทิศทางได้อย่างเหมาะสม 

Inter สู่ global 

การค้าที่เชื่อมถึงกันหมดไม่ว่าคุณจะอยู่ทวีปไหนในโลก ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจที่กำลังเอียงกระเท่เร่มาหาฝั่งเอเชีย เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ศักยภาพการเข้าถึงแหล่งความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเป็นการกระตุ้นและเปิดโอกาสเตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยแห่งในเอเชีย เพื่อปรับกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์เดินหน้าพัฒนามหาวิทยาลัยให้แข่งขันได้กับต่างประเทศ 

การไหล่บ่าของผู้เรียนจากเอเชียไปยังยุโรปและอเมริกากำลังลดลงเรื่อยๆ อย่างผลการสำรวจของ The Indian School of Business in Hyderabad ในอินเดีย ระบุว่าแม้ว่านักเรียนนานาชาติจะมีเพียง 5% ที่เข้าคลาสเอ็มบีเอ แต่การสมัครหลักสูตรอื่นๆ จากนักศึกษานานาชาติเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในรอบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นภาวะ “ความสมดุล” ของการถ่ายโอนความรู้ มหาวิทยาลัยเอเชียหลายแห่งปรับกระบวนทัศน์ สร้างหลักสูตรที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างสอดคล้อง และเท่าทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนไป

“เราเป็นมหาวิทยาลัยที่แตกต่างมีความเป็นเอกลักษณ์เราเปลี่ยนตลอดเวลาเห็นกลุ่มคณะบราเดอร์เดินดูมหาวิทยาลัยระบบการเรียนของเราเป็น Attendance ตลอดเวลา มีความเป็นคลาสสิกมาก ตลาดประเทศนี้เรามาถูกจังหวะเราโตมาจากความเป็น International ตั้งแต่เริ่มต้นในแง่หลักสูตร ตัวสถาบันและสภาพแวดล้อม” ดร. กิตติ โพธิกิตติ กล่าว

ความแข็งแกร่งของเอแบคตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นแห่งเดียวที่มีหลักสูตรนานาชาติทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกมากกว่า 100 สาขาวิชา จุดเด่นนี้เองทำให้ตัวสถาบันมีความเป็นนานาชาติ

“นานาชาติ” ของเอแบค จึงไม่ได้หมายความเพียงแค่การมีหลักสูตรที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ หรือสอนให้กับนักศึกษาต่างชาติแล้วเรียกแทนมหาวิทยาลัยว่าเป็นนานาชาติทว่า “International” หมายความถึงแก่นของมหาวิทยาลัยทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบหลอมรวมเป็นหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทั้งหลักสูตรความรู้ที่เป็นสากล ซึ่งเป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ อาจารย์จากต่างประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ บรรยากาศในห้องเรียน และรอบมหาวิทยาลัยสร้างให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอยู่ในสภาพบริบทความเป็นนานาชาติอย่างสมบูรณ์แบบ 

ในความเป็นนานาชาติจึงมีความหลากหลายของสังคมนานาชาติ ซึ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติสัดส่วน 15% คิดเป็น 3,000 คน ทั้งจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา อิหร่าน ฟิจิ แอฟริกา จาก 80 ประเทศทั่วโลก รวมถึงคณาจารย์ชาวต่างชาติกว่า 400 คน จาก 40 ประเทศ ผนวกกับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรชั้นนำในต่างประเทศ ประกอบกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ นักศึกษาสามารถเทียบโอนวิชาและโอนหน่วยกิตไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้โดยเฉพาะ เช่น มหาวิทยาลัย Harvard, สถาบัน MIT, มหาวิทยาลัย Stanford, มหาวิทยาลัย Oxford, มหาวิทยาลัย Yale และมหาวิทยาลัย Cornell

“นักศึกษาที่จบไป ในปรัชญาของมหาวิทยาลัยเอง เป็นนักธุรกิจที่ค่อนข้างมีความกล้า กล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าถาม เราก็คงไว้อยู่ ความคิดอิสระ Freedom of Thinking เกิดความคิดต่างๆ มากมาย ถ้าเราบอกตรงนี้ก็ใช้ คนก็มี Perception ต่อเด็กเอแบคตรงนี้”ดร. กิตติ โพธิกิตติ กล่าว

ส่วนผู้เรียนเองก็ต้องคิดวิเคราะห์และมีมุมมองที่กว้างไกลมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะความรู้ในระดับประเทศแต่ต้องไปสู่ความรู้ที่เป็นสากล “การเสพความรู้ ข้อมูลข่าวสารเร็วมาก เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ด้วยความที่นักศึกษาเก่งขึ้น นักศึกษาถูกป้อนข้อมูลเร็วเกินไปทำให้ Lose ด้านกระบวนการคิด Analytical Skill และ Systematic Thinking ต้องวิเคราะห์ให้ได้ แม้ว่ารู้คำตอบล่วงหน้า จึงต้องฝึกให้นักศึกษามี Analytical Skill และ Systematic Thinking” ดร. สุนทร พิบูลย์เจริญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบัณฑิตศึกษา กล่าว

ตลาดการศึกษาสมัยใหม่ หากจะให้ทันต่อสภาวะเศรษฐกิจที่โลกทั้งโลกถูกเชื่อมโยงด้วยการค้า กระบวนทัศน์การบริหารงานของมหาวิทยาลัยก็ต้องมุ่งไปสู่ความเป็น Global ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกันที่จะก้าวไปสู่ Global ทว่าหากมหาวิทยาลัยปรับตัวได้และไปสู่ความเป็น Global ได้จริง นอกจากจะยกระดับคุณภาพทางการศึกษาในประเทศแล้วยังสามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้อีกด้วย เห็นชัดอย่างประเทศออสเตรเลีย รัฐบาลส่งออกการศึกษาไปยังทั่วโลก ดึงเม็ดเงินจากนักศึกษาทั่วโลกได้มาก ผู้เรียนจากหลากหลายประเทศมุ่งหน้าเรียนต่อที่ออสเตรเลีย จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เรียนต่อในออสเตรเลียปีๆ หนึ่งเป็นแสนคน สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล ประกอบกับออสเตรเลียเป็นประเทศเพียงไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายในพระราชบัญญัติ Education Services for Overseas ที่ให้ความคุ้มครองนักเรียนต่างชาติ

เอแบคก็พยายามวางตำแหน่งของตัวเองให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อเปลี่ยนไปสู่มหาวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้ในระดับGlobal Knowledge ผู้เรียนสามารถโอนหน่วยกิตไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศมี Double Degree และพร้อม ส่งออกความรู้ไปสู่ภายนอก เช่น กัมพูชา เวียดนาม จีน ลาว ส่งออกการศึกษาของมหาวิทยาลัยสู่ภายนอกมากขึ้นเช่นกัน

 “เราเป็น Global ไปแล้ว เอาหลักสูตรเราไปสอนที่เมืองนอก แล้วได้ดีกรี เรา Export Education ในประเทศเพื่อนบ้านเรา เอแบคไปหลายประเทศ เช่น กัมพูชา เวียดนาม จีน ลาว Double Degree เราไปถึงเมืองนอกแล้ว เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ” ดร.สุนทร พิบูลย์เจริญสิทธิ์ กล่าว

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัจจุบันตลาดการศึกษาแข่งขันกันรุนแรง แย่งชิงพื้นที่นั่งของผู้เรียน แต่นั้นก็เป็นผลดีเพราะทำให้เกิดการแข่งขันพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ตลาดในประเทศที่เกิดปริมาณ Over Supply ก็ต้องเปิดพื้นที่ใหม่ รุกเข้าไปยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งย่อมหมายถึงการบ่มเพาะผู้เรียนให้พร้อมก้าวไปสู่ความเป็น Global ในเวลาเดียวกัน 

Digital

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในยุค ICT มาตรา 65 ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงความสำคัญของการศึกษากับเทคโนโลยีว่า ต้องให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการผลิตรวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมีคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษากับเทคโนโลยีดิจิตอลนับจากนี้ไปไม่อาจแยกจากกันได้คนอย่าง บิลล์ เกตส์ ถึงได้ประกาศฟันธงในงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีประจำปี พ.ศ.2553 ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า รายวิชาที่ดีที่สุดอยู่ในอินเทอร์เน็ตแทนที่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยดังๆ อย่าง Stanford, Harvard และตำราเรียนที่เป็นเอกสารกระดาษจะหมดความสำคัญลงโดยมีตำราอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

และทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเชื่อมกันด้วยอินเทอร์เน็ต “Everything will converse on the Internet, the Internet will change the way you are, the Internet I will change the way you learn, the Internet will change the way you work, the Internet will change the way you play, the Internet will change everything, everything will converse on the Internet”

องค์ความรู้จากอีกฟากหนึ่งเดินทางมาได้ในเวลาไม่ถึงวินาทีใครไวกว่าและชาญฉลาดก็จะฉกฉวยนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้และในที่สุดแล้วมัลติมีเดียต่างๆ ก็จะเชื่อมโยงกันไว้หมดประเทศไหนใช้เทคโนโลยีได้ถูกทางก็ย่อมเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้นตามไปด้วย ระบบการศึกษาไทยในอนาคตก็ต้องเป็นเช่นเดียวกันพร้อมที่จะรองรับและเชื่อมโยงข้อมูลการศึกษาไว้ทั่วถึงกันหมดต้องสร้างให้ห้องเรียนเป็นทั้ง Classroom Technology ไปสู่ Virtual Classroom จำลองสถานการณ์ต่างๆ ได้เสมือนจริงจนไปถึงขั้น Blended Learning Technology โดยนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์และซอฟท์แวร์ ที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาการเรียนการสอน 

Cyber University 

ความว่องไวและปรู๊ดปร๊าดของเทคโนโลยีทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งต่างหยิบยกประโยชน์ของเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อกับการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย และสะดวกมากขึ้น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอยู่ในฐานะพร้อมจะปรับเปลี่ยนองค์กรได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว สัญลักษณ์ “ม้า” 5 ตัวที่วิ่งอยู่บนทะเลสาบ จึงเสมือนภาพที่สะท้อนให้บุคคลภายนอกเห็นถึงความพร้อมที่จะเป็นผู้นำกระโจนเข้าหาสิ่งแปลกใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามาในประเทศไทยปี1964พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อสถานภาพทางการศึกษาของหลายมหาวิทยาลัย เอแบคมีจุดแข็งด้านธุรกิจและความเป็นนานาชาติ ภาพลักษณ์ที่ออกสู่สังคมเป็นองค์กรที่กระฉับกระเฉง ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อไอทีเข้ามาก็ไม่รีรอที่จะนำเทคโนโลยีที่มีมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนจึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่นำเทคโนโลยีมาใช้และยังเป็น Founding Member of the Internet Society ในเวลานั้นก่อนใคร

คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและติดตั้งอยู่ทุกจุดของมหาวิทยาลัยเป็นภาพแปลกตาหากย้อนไปหลายสิบปีเมื่อเอแบคเริ่มนำคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้กิจกรรมแรกที่นักศึกษาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องคือ การลงทะเบียนล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต การบังคับให้ผู้เรียนต้องลงทะเบียนผ่านทางอินเทอร์เน็ตทุกคนกลับเป็นผลดีต่อทั้งผู้เรียน ผู้สอน และมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นภาพการเข้าอินเทอร์เน็ตของนักศึกษาจึงกลายเป็นภาพที่เจนตา

ความคิดก้าวหน้าของเอแบคต้องบอกว่าล้ำหน้าไปมาก หลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก ล้วนนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น อย่างหลักสูตร iMBA (Master of Business Administration) ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้ก็นำเทคโนโลยีเชื่อมต่อการเรียนรู้ Mobile Technology ผสานกับเทคโนโลยี Live Broadcast เปิดโลกทัศน์ให้แตกต่าง ฉีกกรอบในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวออกไปสู่โลกอินเทอร์เน็ต โดยพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยบน App Store ผู้เรียนสามารถเข้าสู่เนื้อหาบทเรียนได้ตลอดเวลา รับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยแบบ Real Time อีกทั้งหลักสูตรปริญญาเอกก็สอนเป็น e-Learning (Ph.D. in eLearning Methodology) ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในโลกที่มีการสอนด้วยระบบนี้ ซึ่งเอแบคล้ำหน้าไปถึงการสอนขั้นที่เรียกว่า Blended Learning Technology มาผนวกเข้ากับการเรียนการสอน โดยมี Digital Library และการเข้าถึง Database จากต่างประเทศ

“ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหลังจากคอมพิวเตอร์เข้ามาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเดิมก่อนหน้านี้เราเป็นวิทยาลัยเล็กๆรู้แต่เรื่องบริหารธุรกิจ เดี๋ยวนี้เราเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในโลกด้านธุรกิจและคอมพิวเตอร์ เราเป็นที่ยอมรับทั่วโลก” ศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าว

ดิจิตอลไม่เพียงช่วยให้ระบบการศึกษาถูกเชื่อมโยงไว้ด้วยเครือข่ายเดียวกันทั้งมหาวิทยาลัยทว่าประโยชน์ของเทคโนโลยียังช่วยดึงความสนใจของผู้เรียนซึ่งเป็นกลุ่มตลาด generation ใหม่ ดึงผู้เรียนกลับสู่ห้องเรียนได้ การเรียนจึงไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป เพราะไม่สร้างกรอบให้กับผู้เรียน แต่นำความรู้ติดปีกเสริ์ฟให้ผู้เรียนไปทุกที่ทุกเวลา ซึ่งภาพการศึกษาระบบใหม่แบบนี้ แตกต่างจากการเรียนสมัยก่อนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผู้สอนเพียงแต่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์แล้วอัพโหลดเนื้อหาวิชาและแก้ไขกำหนดการต่างๆ ได้ เช่น เวลาเปิดลงทะเบียน เวลาเรียน หัวข้อที่เป็นเรื่องถกเถียง ถาม-ตอบได้ผู้เรียนก็เรียนได้ทุกที่ทุกเวลาหลายมหาวิทยาลัยนำบทเรียนอัพโหลดขึ้นยูทิวบ์ให้กับผู้เรียนสร้างมหาวิทยาลัยเสมือนจริงบนโลกอินเทอร์เน็ต (U-Town) สร้างความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยเพราะเทคโนโลยีเพียงตัวเดียว

“อนาคต Digital กับการศึกษาแยกกันไม่พ้น เป็น Cyber Education เด็กทุกคนต้องรู้การใช้คอมพิวเตอร์ ต้องรู้อินเทอร์เน็ต ถ้าไม่รู้ก็อยู่ไม่ได้แล้ว ธุรกิจในอเมริกาใช้อินเทอร์เน็ต 100% อินเทอร์เน็ตช่วยให้บริษัทเล็กๆ แข่งกับบริษัทใหญ่ๆ ได้” ศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน กล่าว

ต้องบอกว่าจริงๆแล้วธุรกิจและการศึกษาต่างก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งใช้เป็นแต้มต่อให้กับหลายองค์กรที่เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยี อย่างกรณี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นำเทคโนโลยีการถ่ายทอดความรู้ด้วยสตริมมิง วิดีโอ นำซอฟท์แวร์ AcuLe@rn เข้ามาใช้ในการจัดเก็บความรู้และส่งไปยังพนักงาน เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อการบริหารงานภายในองค์กร เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียน การสอน อาศัยฐานความรู้ที่รอบด้าน ทำให้ผู้เรียน คิดเป็น มีจินตนาการจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาต่อยอดองค์ความรู้ประยุกต์เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ขยายโอกาสการศึกษา เกิดการเรียนรู้ภายใต้คอนเซ็ปต์ มหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมทางการศึกษาได้ตลอดเวลา ประกอบกับเกิดความร่วมมือทางการศึกษาหรือเครือข่ายการศึกษาที่กว้างไกลมากขึ้น

Devoted 

จุดกำเนิดเล็กๆ ของการสร้างความดีและอุทิศตนเองไปสู่สังคมความดีงามที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยก่อนที่จะส่งต่อไปยังนักศึกษากว่าหลายชีวิตในใต้ร่มเงาพระคริสต์ ก็ต้องมาจากการมีบุคลากรที่เสียสละ อุทิศตนเพื่อการศึกษา พัฒนามหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง การบริการความรู้ไปสู่สังคมของมหาวิทยาลัย มี 2 ระดับ ซึ่งมาจากบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย และในนามสถาบันการศึกษา

ความดีงามที่ส่งต่อไปยังลูกศิษย์ เกิดจาก คณะภราดาเซนต์คาเบรียลเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อการศึกษา เรียกได้ว่าเป็นนักปฏิวัติการเรียนรู้อย่างแม้จริง คณะภราดาเซนต์คาเบรียลเป็นผู้หนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมหาวิทยาลัย ทั้งเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน การสวดมนต์เป็นบทสวดภาษาอังกฤษ ซึ่งเริ่มจากคณะภราดาฯ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ส่วนหนึ่งของความเติบโตจากความเป็นนานาชาติก็เริ่มจากจุดเล็กๆ จุดนี้เอง ตลอดจนการนำวิทยาการตะวันตกมาเผยแพร่ให้มหาวิทยาลัย เช่น การสร้างมหาวิทยาลัยให้ไปสู่จุดยืนที่ความเป็นนานาชาติ ดร. กิตติ กล่าวกับ MBA ว่า “เมื่อเข้ามาเอแบคแล้วหลายคนมองภาพ คณะภราดาเป็นความคลาสสิก เรามั่นใจบราเดอร์ การดูแลเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน”

ไม่เพียงเท่านั้น คณาจารย์หลายท่านยังปูพื้นฐานการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยนอกจากใส่เนื้อหาวิชาการลงไปแล้ว การสอนคุณธรรมและจริยธรรม “คิดดี” ให้กับผู้เรียนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งคณาจารย์ต่างมุ่งมาดปรารถนาให้ผู้เรียนได้รับเพราะคุณธรรมและจริยธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อใช้ประกอบกิจการต่างๆ โดยไม่ทำลายสังคม ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวม ในส่วนบทบาทของคณาจารย์ต่อสังคมยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานให้กับภาครัฐ โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานราชการ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปให้บริการสังคม เช่น เป็นที่ปรึกษาด้านไอทีในหลายๆ แห่งอีกด้วย

งานวิชาการรับใช้สังคม 

สถาบันการศึกษาย่อมถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุดมศึกษาต้องมีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคมและชุมชน (Social and Community Engagement) ทำหน้าที่จัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมอย่างบูรณาการ โดยการเชื่อมโยงผลงานวิจัยทางวิชาการกับโลกแห่งความจริง 

เวทีการประชุมใหญ่ระดับโลกมักต้องพูดถึงและหยิบยกเรื่องการศึกษามาพูดเสมอๆ อย่าง IMHE (Institute for Management of Higher Education) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) จัดเวทีสัมมนาเรื่อง Higher Education in a World Changed Utterly: Do More for Less ที่ประเทศฝรั่งเศส ระบุชัดให้สถาบันการศึกษาต้องเป็นแหล่งเชื่อมโยงความคิด (Brain) กับการปฏิบัติ (Hand) เชื่อมโยงนวัตกรรมกับการใช้ประโยชน์และความรับผิดชอบต่อสังคมเชื่อมโยงการเรียนการสอนกับการวิจัย โดยมีปลายทางการเชื่อมโยงคุณภาพการศึกษากับการรับใช้สังคมไปสู่การเชื่อมโยงวิชาการกับชุมชนและสังคม 

“เราต้องก้าวไปให้มากกว่านั้น เป้นที่รู้จักในฐานะสถาบันทางวิชาการ เราอาจจะร่วมด้วยมีบทบาททางการวิจัย กิจกรรมทางวิชาการต่างๆ มีส่วนร่วมกับสังคมโลกในเรื่อง Community ทางวิชาการ” กมล กิจสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว

การให้บริการของเอแบคไปสู่สังคมอีกอย่างหนึ่ง คือ การเปิด “ศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ซึ่งเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจัดว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคมและการจัดการที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์กับระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์และหลักสถิติในการทำวิจัยแบบ Real Time ซึ่งมีรูปแบบในการทำงาน 2 ลักษณะ โพลล์สาธารณะให้บริการแก่สังคม และสื่อมวลชน เช่น เมื่อแรกจัดตั้งศูนย์วิจัยนี้สำรวจความนิยมของประชาชนกับผู้สมัครทางการเมืองและผลก็เป็นไปตามโพลล์ระบุ ปัจจุบันศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ทำการสำรวจวิจัยครอบคลุมหลากหลายทั้งด้านพฤติกรรม ด้านการเมือง ด้านปัญหาสังคม ธุรกิจ การตลาด และการประเมินคุณภาพสื่อมวลชน เพื่อเป็นกระจกส่องให้เห็นปัญหาของสังคม

นอกจากนั้นแล้วเอแบคยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดตั้งศูนย์ ICE Center (Innovation, Creativity and Enterprise) ขึ้นมาดูแลเรื่องเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ โดยให้ความรู้สร้าง “พี่เลี้ยง” เป็นที่ปรึกษาให้กับเอสเอ็มอี ขยายต่อความรู้ เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเพื่อนำสินค้าไปต่อยอดได้มากขึ้น เพราะนอกจากเรื่องความแข็งแกร่งด้านวิชาการแล้ว ความรู้ที่ได้ผลิตออกมาก็ต้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อให้กับสังคมอีกทอดหนึ่ง ตอกย้ำให้เห็น “คุณภาพ” ของการเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคลังสมองของสังคม การมีศูนย์วิจัยและการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของสถาบันการศึกษาคือตัวชี้วัดหนึ่งในเรื่องการสร้างคุณภาพ และโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคมให้มากขึ้น มิใช่เพียงแต่ผลิตองค์ความรู้ด้านวิชาการและผลิตบุคลากรทางการศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียว

“การศึกษาถ้าจะพูดไปว่ามันไม่เหมือนสินค้า สินค้าจับต้องได้ เอามาดูรูปลักษณ์เห็นพอใจซื้อ อันนี้ไม่ได้ ต้องใช้ evidence ต่างๆ ก็ต้องสรุปอยู่แค่รักษาคุณภาพทั้งระบบ เช่น คุณภาพของอาจารย์ที่สอนดีที่สุด หลักสูตรต้องทันสมัย อุปกรณ์การสอน และห้องสมุดต้องเพียงพอสามารถเข้าถึงได้ง่าย สถานที่ควรจัดให้ดีพอสมควร เพื่อช่วยกล่อมเกลาจิตใจของคนที่มาหาความรู้” กมล กิจสวัสดิ์ กล่าว

มหาวิทยาลัยกับสังคมจึงต้องทำงานร่วมมือกันการบริการความรู้หรือการตอบแทนคืนกลับให้กับสังคมของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ถือเป็นภารกิจหลักที่จักต้องดำเนินการและเป็นหน้าที่หนึ่งของบุคลากรในสถาบันการศึกษาซึ่งออกมาในรูปของการผ่อนถ่ายงานวิชาการของมหาวิทยาลัยไปสู่สังคม โดยการให้บริการความรู้ต่างๆ เช่น ศูนย์วิจัย ABAC POLL และศูนย์ ABAC SIMBA (ABAC Social Innovation in Management and Business Analysis) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ให้ความรู้และข้อมูลงานวิจัยทางด้านการเมืองสังคมและธุรกิจ ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ หรือ ICE CENTER (Innovation, Creativity and Enterprise) เป็นศูนย์ให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ศูนย์พัมนาองค์กร หรือ ODI (Organization Development Institute) ให้ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรขององค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน และ ABAC Consumer Index โครงการสำรวจข้อมูลดัชนีผู้บริโภค เก็บรวบรวมข้อมูลผู้บริโภคจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างคลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนในปี 2011 โดยอิงอยู่กับการให้บริการสังคมของมหาวิทยาลัย 2 ระดับ คือ ระดับอาจารย์ โดยนำความรู้ไปเผยแพร่สู่สาธารณชน และส่วนของสถาบันคือการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมให้บริการสังคม

การจัดการศึกษาผ่านบุคลากรทางการศึกษามีส่วนสำคัญมากในระดับการศึกษาเพื่อให้ชาติพัฒนาไปได้อย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา และใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาบุคลากรของชาติ ซึ่งก็คือเยาวชนไทยในอนาคตที่จะเป็นคำตอบหรือเป็นตัวชี้วัดผลทางการศึกษา ส่วนผู้เรียนก็ย่อมต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ต้องกระหายใคร่รู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาตนเอง และแน่นอนว่า ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการศึกษาแบบใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของตนเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และสร้างแรงกระตุ้นในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ นำเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่เป็นเทคโนโลยีผ่านการถ่ายทอดความรู้มาสู่ตนเองเปลี่ยนองค์ความรู้ (Knowledge) เป็น ปัญญา (Wisdom) ช่วยกันพัฒนาประเทศชาติถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง 

กว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เดิมที “อัสสัมชัญ” ชื่อฝรั่งเศส “Le College de L’Assomption” ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “โรงเรียนอาซมซานกอเลิศ” (Assumption College) วันที่ 28 กันยายน 2453 เปลี่ยนชื่อเป็น “อัสสัมชัญ” อัสสัม เป็นคำบาลีมคธว่า อัสสโม แปลว่า อาศรม “ชัญ” แยกตามรากศัพท์เดิมเป็น “ช” แปลว่า เกิด และ “ญ” แปลว่า ญาณ ความรู้รวมเป็น ตำหนักที่สำหรับหาวิชาความรู้ 

     2512โรงเรียนอัสสัมชัญพานิชยการ 

     2515ได้รับวิทยฐานะเป็น โรงเรียนอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 

     2518ย้ายสังกัดขึ้นตรงต่อทบวงมหาวิทยาลัย เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ 

     2533ได้รับวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ” 

     สัญลักษณ์ตัวย่อ (AU) สัมพันธ์กับสัญลักษณ์ทางเคมี คือ ทองคำ

 

แหล่งที่มา : วารสาร MBA (No. 140 November 2010) หน้า 92-102