onwin
11. สัมมนา 40 ปี เอแบค ว่าด้วยเรื่อง 'change'

สัมมนา 40 ปี เอแบค ว่าด้วยเรื่อง 'change'

ครั้งหนึ่ง ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เคยกล่าวไว้ว่า “ต้นไม้ที่ดี ต้องมีผลที่ดี ผลิตผลที่ดีแน่นอนก็จะกลับมาซึ่งชื่อเสียงของสถาบัน” บุคลากรทางการศึกษากว่า 60,000 คน ซึ่งเป็นผลผลิตจากต้นไม้ใหญ่แทรกซึมอยู่ทุกภาคส่วนธุรกิจ เป็นข้อพิสูจน์ที่ประจักษ์ให้เห็นถึงการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา 

ในวาระครบรอบ 40 ปีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จัดงานใหญ่ รวมพลศิษย์เก่า (get together) ปลุกพลังความคิด ระดมสมองร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัย Standfort สัมมนาหัวข้อ “Strategic Rapid Transformation in Public and Private Institutions” โดยมี Prof. Dr. Behnam N.Tabrizi กูรูแนวคิดด้าน “change” ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดีบารัค โอบามาในการทำ change campaign ร่วมแสดงทัศนะในงานครั้งนี้ด้วย 

จุดหมายของการสัมมนาหยิบยกประเด็นเรื่อง change ขึ้นมาพูดคุย เพื่อจุดประกายและสะท้อนภาพให้เห็นสถานการณ์ความเป็นไปของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเล็กสุดที่เกิดขึ้นในระดับบุคคล องค์กร หรือภาครัฐและเอกชน เท่านั้น แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ เห็นชัดได้จากสถานการณ์ความเคลื่อนไหวและวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของประเทศใดประเทศหนึ่ง ส่งผลกระทบกับประเทศที่อยู่อีกฟากของโลกให้ร่วมประสบชะตากรรมเดียวกัน ทุกอย่างถูกร้อยเรียงและเชื่อมเข้าหากันหมด ทั้งการค้า การขนส่ง พรมแดนความรู้ที่ไม่ปิดกั้นด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

สาระสำคัญของ “change” จึงต้องมองลึกไปที่เรื่อง การสร้างการรับรู้ระดับบุคคลให้เกิดขึ้นเป็นลำดับแรก เพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งเปลี่ยนแปลงที่ไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับ “คน” ขององค์กรให้ก้าวไปสู่ “คน” ของประเทศเพื่อแข่งขันได้ 

ไม่อาจปฏิเสธว่า อดีตใครเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ก่อนย่อมได้เปรียบ แต่ปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้พร้อมกันหมดด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่โลกนับจากนี้ไปจะไม่ได้แข่งขันกันด้วยการเข้าถึง “information” แต่จะถูกแทนที่ด้วยการให้ความสำคัญในเรื่อง “ความคิด”การใช้สมอง โดยเฉพาะเรื่องจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์เพิ่ม value-added ให้กับบุคลากร ในยุคที่ “information age” กำลังจะหมดไป “ageing society” เคลื่อนเข้ามา ทรัพยากรวัยแรงงานเป็นตัวจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศในยุค “knowledge society” การมีทุนมนุษย์ที่มีหัวสร้างสรรค์ย่อมสร้างความแตกต่าง และความแข็งแกร่งให้กับองค์กรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรทุกประเภท 

และเครื่องมือหนึ่งที่นำมาต่อกรสู้กับความเปลี่ยนแปลงได้คือ หลักการบริหารและพัฒนาองค์กร Organization development เพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัว เท่าทัน และก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง “ศาสตร์เรื่อง OD มันคือเรื่องการทำความเข้าใจ การเปลี่ยนแปลง เราพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เราสามารถมองเห็นโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ซึ่งจะสามารถทำให้เราแข่งขันได้และอยู่ได้ในตลาดโลก” ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ Organization Development Institute มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว 

การเรียนรู้เรื่อง organization development จึงเป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคลากรในองค์กรปฏิบัติงานด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้บริบทการแข่งขันทั่วโลก บุคลากรเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมืออาชีพตามแนวทางธุรกิจ และที่สำคัญคือความท้าทายก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเสียเอง 

“องค์กรเอกชน ภาครัฐ หากทำความเข้าใจเรื่อง organization development แล้วจะสามารถเตรียมบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นเหตุของที่มาทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับศาสตร์เรื่อง OD แล้วเราเชื่อว่า ศาสตร์นี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป” ดร. อุดม หงส์ชาติกุล กล่าว 

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกำลังก้าวสู่ปีที่ 41 สถาบันการศึกษาที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดโดยเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรทั้งการเปลี่ยนแปลงในแง่วิชาการ การปรับเปลี่ยนหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การเป็นผู้นำแถวหน้าด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนการมองเห็นและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาทำให้วันนี้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญสามารถยืนอยู่บนเวทีการศึกษาระดับชาติและนานาชาติได้อย่างองอาจ

 

แหล่งที่มา : วารสาร MBA (No. 140 November 2010) หน้า 103-104