Mission & Vision 2007 and Beyond
ABACA Profile เริ่มบทสัมภาษณ์ท่านอธิการบดีด้วยการขอให้ท่านเล่าถึงความแตกต่างในการบริหารงานมหาวิทยาลัย ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่ง Vice President for Academic Affairs ในช่วงปี ค.ศ. 1991 กับช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่ง Vice President for Academic Affairs ในช่วงปี ค.ศ. 1994 จนกระทั่งปัจจุบัน
ประเด็นที่ถามมีมิติด้านช่วงเวลา บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในแต่ละมิติจะมีความแตกต่างกันอยู่ในตัวของมันเอง สำหรับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันและตั้งแต่ ค.ศ. 2002 ถึงปัจจุบัน ต้องรับผิดชอบในฐานะอธิการบดีด้วย จึงขอเล่าในลักษณะมองย้อนอดีตและฉายภาพอนาคตในแบบภาพรวม ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับองค์การแห่งนี้ในระยะแรกๆ มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็เหมาะสมและสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในขณะนั้น แต่ในระยะหลังๆ จนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่เราเรียกว่า ‘การเปลี่ยนแปลงอย่างพลวัต’ (dynamic change) เพราะสภาพแวดล้อมภายนอกมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมาก เช่น มีการแข่งขันสูงมากทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ มีความต้องการใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา อิทธิพลของโลกาภิวัตน์ การไหลบ่าของข้อมูล ข่าวสาร (information explosion) และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นต้น แรงกดดันต่างๆ เหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วด้วย
“การพัฒนาของมหาวิทยาลัยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของอุดมศึกษาทั้ง 4 ประการ คือ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริหารทางวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการในหลายๆ กิจกรรมไปพร้อมๆ กัน คือ
ด้านวิชาการ ได้แก่ การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลาย ทันสมัย สามารถสนองความต้องการส่วนบุคคลของนักศึกษา และความต้องการของประเทศได้อย่างมีคุณภาพ การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาอาจารย์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นต้น การจัดการเรียนการสอนจากเดิมที่มีคณะบริหารธุรกิจเพียงคณะเดียว ปัจจุบันมีถึง 10 คณะ วิชาในระดับปริญญาตรี และมีบัณฑิตศึกษาที่จัดการศึกษาในระดับปริญญาโทมากกว่า 35 หลักสูตร และปริญญาเอกมีถึง 10 หลักสูตร
ด้านอาคารสถานที่ ได้มีการพัฒนาพื้นที่อาณาบริเวณให้มีความสะอาดสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการบริหารจัดการพื้นที่ (space management) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากเดิมมีพื้นที่เฉพาะที่หัวหมากเพียง 16 ไร่ 3 งานเศษ มีอาคาร 3-4 อาคาร แต่ปัจจุบันมีถึง 12 อาคาร และยังมีวิทยาเขตบางนาที่มีพื้นที่มากกว่า 374 ไร่ มีอาคารสวยงามใหญ่โตมากมาย และกำลังก่อสร้างอีก 3 อาคาร เพื่อรองรับการขยายตัวและการย้ายจากวิทยาเขตหัวหมากไปในอนาคตอันใกล้ กล่าวโดยเฉพาะที่วิทยาเขตบางนามีอาคารสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนการสอนมาก บรรยากาศทางวิชาการ (academic atmosphere) ดีมาก เป็นการพัฒนาขึ้นมาตามแนวคิด ‘มหาวิทยาลัยในวนอุทยาน’ (university in a park) อันจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมและกล่อมเกลาให้นักศึกษาสามารถพัฒนาบุคลิกภาพ ความรู้สึกนึกคิดเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างดี
ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งเพื่อจัดการเรียนการสอน และการบริหารงานทั่วไปมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกในการจัดการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแห่งแรกทำให้ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกรวมกันมากกว่า 30 หลักสูตร ทำให้มหาวิทยาลัยต้องลงทุนและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดมา มหาวิทยาลัยได้ลงทุนก่อสร้างอาคาร IT ขึ้นเป็นการเฉพาะโครงการนี้ต้องลงทุนเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท อันประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า 2,000 เครื่อง ห้อง studio และห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่ทันสมัยล่าสุดเรากำลังพัฒนาระบบ College of Internet and Distance Education เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต นักศึกษาสามารถติดต่อกับอาจารย์ทางอี-เมล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
การพัฒนาห้องสมุด หอสมุดเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษามาก ดังนั้น หอสมุดจึงต้องมีความทันสมัยมีความพอเพียงในการเป็นแหล่งค้นคว้าสรรพวิชาความรู้ที่หลากหลาย มหาวิทยาลัยจึงได้พัฒนาหอสมุดให้มีความสวยงาม โอ่โถง มีหนังสือและสื่อต่างๆ ที่ทันสมัยมากมาย เพียงพอกับการค้นคว้าของนักศึกษาและอาจารย์ทุกระดับ ทั้งที่หัวหมาก และบางนา มีการจัดให้มี Digital and Electronic Library ขึ้น ประกอบด้วยฐานข้อมูล Online จำนวนมาก นักศึกษา อาจารย์ สามารถค้นคว้าหาความรู้ได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด
การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการพัฒนานักศึกษา ตลอดเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีเป้าหมายชัดเจนในการดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึงซึ่ง ‘ความเป็นเลิศทางวิชาการ’ (academic excellence) ในขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะพัฒนาศึกษาให้บรรลุถึง ‘การเป็นคนทั้งครบ’ (total and complete man) คือ มีความรู้ ความสามารถ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และในขณะเดียวกันก็เป็นบุคคลที่มีจิตใจที่ดีงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จะต้องมีกิจกรรมที่ต้องสร้างต้องทำอีกมากมายที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมาแล้ว คือ การสร้างศูนย์กีฬา และสนามกีฬาที่ทันสมัย ทั้งในร่มและกลางแจ้ง โดยเฉพาะการสร้างสระว่ายน้ำ มาตรฐานโอลิมปิกที่ทันสมัย สนามเทนนิสที่ได้มาตรฐาน สนามกีฬาต่างๆ เหล่านี้จะช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง อันจะทำให้เป็นคนที่มีสติปัญญาฉับไว (sound mind in a healthy body) นอกจากนี้ยังทำให้เป็นคนที่มีระเบียบวินัยในตนเอง มีอารมณ์ที่มั่นคง จิตใจบานอีกด้วย การส่งเสริมกิจกรรมเสริมหลักสูตร เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนานักศึกษา นอกเหนือจากการเรียนการสอน และการกีฬา มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นักศึกษารวมกลุ่ม จัดตั้งเป็นทีม เป็นชมรมที่หลากหลายตามความสนใจของนักศึกษา ซึ่งจะช่วยทำให้นักศึกษามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การรู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักการนำความรู้ที่เล่าเรียนมาประยุกต์อันจะทำให้นักศึกษามีการพัฒนาเชิงวุฒิภาวะได้อย่างดี โดยเฉพาะกิจกรรมเชิงวิชาการหรือที่มีลักษณะประเทืองปัญญา มหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งงบประมาณและการอำนวยความสะดวกต่างๆ
การพัฒนาความเป็นนานาชาติ (internationalization) มหาวิทยาลัยได้ชื่อว่าเป็น The First International University in Thailand เพราะเราได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระบบนานาชาติมากว่า 35 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ทำให้มีอาจารย์และนักศึกษาจากนานาประเทศมาศึกษา และเรียนรู้ร่วมกันที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นจำนวนมาก คือ มีอาจารย์ต่างชาติจำนวน 381 คน จาก 38 ประเทศ และมีนักศึกษาต่างชาติจำนวน 2,360 คน จาก 77 ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มหาวิทยาลัยเป็น International Community of Scholars” จุดเด่นของการพัฒนาความเป็นนานาชาตินี้มีผลทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมกันเป็นอย่างดีทุกคนสามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ร่วมกันอย่างสันติ และสามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท
หลังจากท่านอธิการบดีได้กล่าวถึงภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในอดีตมาจนถึงปัจจุบันแล้ว ท่านยังได้กรุณาฉายภาพอันเป็นการมุ่งหวังในอนาคตที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น ดังนี้
แผนงานหรือโครงการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้นี้ที่คิดไว้มีหลายประเด็นซึ่งจะขออนุญาตไม่ลงไปในรายละเอียดมากนัก เพราะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา และยุทธศาสตร์การแข่งขัน เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในความเป็นนานาชาติ ซึ่งได้กล่าวไปบ้างแล้ว ยังมีประเด็นที่จะต้องทำต้องพัฒนาอีกต่อไป โดยเฉพาะในปีนี้มหาวิทยาลัยจะมีกิจกรรมระดับโลก 2 กิจกรรม คือ
-
มหาวิทยาลัยร่วมจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ในเดือนสิงหาคม 2550
-
มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันโต้วาทีโลกในเดือนธันวาคม 2550
สำหรับเรื่องที่จะทำต่อไปคือ
-
การเพิ่มจำนวนนักศึกษาให้มากขึ้นทุกปี
-
การจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ
-
การสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสถาบันและองค์กรต่างประเทศ
-
การมุ่งสู่ความเป็นสากลในทุกมิติของการเป็นมหาวิทยาลัยยอดนิยม
การส่งเสริมงานวิจัย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราเน้นการเป็น Teaching University ตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 เป็นต้นไป จะให้น้ำหนักงานวิจัยมากขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และนำมาใช้ในการเรียนการสอน การเพิ่มพูนความรู้ของอาจารย์ รวมถึงการวิจัยเพื่อเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยจึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสนับสนุนการวิจัยอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะด้านงบประมาณและทรัพยากรการวิจัยอื่นๆ อันจะทำให้การส่งเสริมการวิจัยนี้เป็นรูปธรรม โดยกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเน้น คือ การศึกษาวิจัยของอาจารย์และของนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา
การส่งเสริมให้อาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นอีกแผนงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยมุ่งส่งเสริมให้มากยิ่งขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า อันจะเป็นผลพลอยได้ต่อเนื่องมาจากการส่งเสริมการวิจัย โดยมุ่งให้อาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์เป็นอันดับแรก รองลงมาคือในระดับรองศาสตราจารย์ และศาตราจารย์เป็นลำดับสุดท้าย
การพัฒนาบุคลากร บุคลากรถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์การให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงจะต้องทำทุกวิถีทางในการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ และทักษะให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของมหาวิทยาลัยทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้ได้ และเพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นเป็น ‘สินทรัพย์’ (human assets) ที่ทรงคุณค่าของมหาวิทยาลัย
การพัฒนาระบบ เมื่อมีการพัฒนาบุคลากรแล้วจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบด้วย ซึ่งถือเป็นโครงสร้างทางการบริหารที่สำคัญ ถ้าระบบต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไม่ชัดเจน ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีคุณภาพ ผลลัพธ์ที่คาดหวังจะให้เกิดก็อาจจะไม่เกิด ระบบต่างๆ ที่จะต้องพัฒนาประกอบด้วย
-
ระบบการวางแผน การจัดทำและการประเมินผลงบประมาณ
-
ระบบการตรวจสอบภายในทางด้านการบริหารจัดการ และด้านคุณภาพ (QA)
-
ระบบการบริหารงานบุคคล
-
ระบบการสนับสนุนการเรียนการสอน ได้แก่ ระบบ ICT อุปกรณ์และสื่อทัศนูปกรณ์ทางการศึกษา
-
การสร้างวัฒนธรรมองค์การ ที่มีอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย การมีธรรมาภิบาล การดำเนินชีวิตและการบริหารตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่พร้อมถึงด้วยคุณธรรมและจริยธรรม การมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย
การพัฒนาด้านวิชาการ เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และจะต้องดำเนินการต่อไปในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยมีนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและประเทศ การยุบรวม และยกเลิกหลักสูตรที่ซ้ำซ้อน และไม่ทันสมัย
การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยจะเน้นเทคนิควิธีการเรียนการสอน (pedagogical techniques and methodologies)
การพัฒนาวิทยาเขตหัวหมาก ขณะนี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีทั้งหมดไปที่วิทยาเขตบางนา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จภายใน 5 ปี หลังจากนั้น วิทยาเขตหัวหมากจะถูกพัฒนาให้เป็น ‘วิทยาเขตในเมือง’ (downtown campus) ที่มีความพร้อมและทันสมัยสำหรับการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา การฝึกอบรม และการศึกษาในหลักสูตรพิเศษต่างๆ เพื่อตอบสนองการศึกษาตลอดชีพ (life-long education) ต่อไป
นี่คือ Mission & Vision 2007 ของ ท่านอธิการบดี ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ ในการบริหารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งคงช่วยให้เกิดความกระจ่างแก่ศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไป เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
แหล่งที่มา : ABACA Profile (January – April, 2007) หน้า 20-22