onwin
33. Bro.บัญชา แสงหิรัญ หัวเรือใหญ่ของเอแบค
Bro.บัญชา แสงหิรัญ หัวเรือใหญ่ของเอแบค

บราเธอร์ บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีผู้ดำรงตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือที่รู้จักกันดีในนามของ เอแบค สถาบันที่ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนานาชาติที่มีคุณภาพมายาวนาน วันนี้ บราเธอร์บัญชา ได้ให้โอกาส Media Thai Post มาสัมภาษณ์ถึงแนวทางของมหาวิทยาลัยในอนาคต และมุมมองในด้านการศึกษาของไทยภาพรวมของสถาบันในปัจจุบันปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค ได้มีโครงการโอนนักศึกษาจาก "วิทยาเขตหัวหมาก มายัง วิทยาเขตบางนา ได้ 13,000 กว่าคนแล้ว จากทั้งหมด 20,000 คน แบ่งเป็นปริญญาตรี 17,000 คน บัณฑิตวิทยาลัย ประมาณ 2,500 คน ในอนาคตคิดว่านักศึกษาจะย้ายจากที่หัวหมากมาที่ บางนา ซึ่งถือเป็น แคมปัสหลัก ที่นี่ใกล้สนามบิน และเรามีพร้อมทุกอย่างให้ บรรยากาศดีกว่า รวมทั้งเทคโนโลยี การศึกษามหาวิทยาลัยของเราเปรียบเสมือน “เหมืองทอง”ซึ่งได้แก่แหล่งความรู้ ผู้ที่ผ่านเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกจะสังเกตเห็นว่าอักษรย่อที่เราใช้จงใจให้เป็น Au ไม่ใช้ตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด ซึ่งอ้างอิงกับศัพท์ทางเคมีว่า Aurium แปลว่า แร่ทอง ดังนั้นคอนเซปการตกแต่งของมหาวิทยาลัยจึงออกมาโดยใช้สีทองเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งคือมหาวิทยาลัยจะมีป่าล้อมรอบ เหมือนกับสถาบันการศึกษาในวนอุทยาน ให้ธรรมชาติรักษาไม่ให้นักศึกษาหลงระเริง จึงต่างกับวิทยาเขตที่หัวหมากซึ่งมีแต่อบายมุขอยู่รอบมหาวิทยาลัยปรัชญาของบราเธอร์เปลี่ยนแปลงไปจากอธิการบดีรุ่นอื่นๆ หรือไม่ ปรัชญาคือความเชื่อถือ แต่สิ่งที่เราทำคือวิสัยทัศน์ที่มีความคงเส้นคงวา ตั้งแต่ปี 2000 เราได้วางปรัชญาของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเอาไว้ใหม่ ในอดีต ถึงแม้เราวางไว้ตั้งแต่ต้นแต่ความเป็นนานาชาติยังไม่เกิด ปัจจุบันเราจึงวางวิสัยทัศน์ไว้ว่า เราต้องการทำให้ชุมชนนี้เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลคอมมูนิตี้ ชุมชนของคนนานาชาติที่เป็น “ชุมชนนักวิชาการ” เป็นที่อยู่ขององค์ความรู้ทั้งของเก่าและของใหม่ เพื่อสืบทอดแก้ปัญหาของสังคม และต้องหาความรู้ใหม่อยู่ต่อเนื่อง โดยการทำวิจัยทั้งอาจารย์และนักศึกษา และเมื่อทำแล้วก็ต้องกระจายความรู้สู่สังคมให้เค้าได้นำไปใช้ เช่น เอแบคโพลล์ ที่มีมากว่า 10 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายคือการเผยแพร่ความรู้ให้แก่สังคม ตอนนั้นเราจ่ายสตางค์มากทุ่มเงินไปหลายล้าน ทุ่มที่จะสร้างกันเอง ขณะนี้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และก็ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

มองว่ารูปแบบการศึกษากับเศรษฐกิจบ้านเราไปด้วยกันอย่างไร

การศึกษากับเศรษฐกิจมันเป็นของคู่กัน การศึกษาดี เศรษฐกิจจะดี เพราะว่าถ้าคนมีการศึกษาดีก็จะมาช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจต้องดีเพื่อจะทำการศึกษาให้ดีขึ้น เพราะถ้าไม่มีเงินการพัฒนาด้านการศึกษาก็จะยากมาก ถามว่าถ้าเอแบคไม่มีเงิน จะสร้างตึกได้มั๊ย? จะจ้างอาจารย์ดีๆ ก็ไม่ได้ ถามว่าอาจารย์ในประเทศไทยนี่ดีมั๊ย? อาจารย์เราดี แต่มีหลายคนถามว่าทำไมไม่จ้างอาจารย์จาก ฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด มาเลยแบบนี้ ใครเค้าจะมาประเทศไทย สมมุติอาจารย์ที่นั่นได้เงินเดือน 3 แสน เราให้ได้มั๊ย? ที่นี่มันไม่ใช่ธุรกิจ มันเป็นการศึกษา ที่นี่ประเทศไทยใครจะให้ได้ขนาดนั้น การศึกษาไทยกับเศรษฐกิจจะไปด้วยกันถ้าการศึกษาโตขึ้น คุณภาพของบุคลากรของชาติจะถูกยกสูงขึ้นมาเศรษฐกิจของชาติจะดีขึ้น เพราะว่าในการสร้างบรรยากาศสิ่งใหม่ๆ การที่มีแนวความคิด อย่างเช่น คนในระดับรากหญ้าควรจะมีความคิดในการจัดการธุรกิจของตัวเอง สมมุติว่า ถ้าชาวสวนไม่มีความรู้ก็จะทำอยู่อย่างเดิมๆ แต่หากมีองค์ความรู้ รู้จักนำไปประยุกต์ใช้ก็สามารถพัฒนาเป็นสตางค์ต่อไปได้ มันมีหลายส่วนในการสร้างสรรค์ ต้องให้ความรู้ของเราสูงขึ้น ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศชาติก็จะต้องดีขึ้นเพื่อมาขยายการศึกษาด้วย หลังๆ มานี่การศึกษาเราไม่พัฒนาเพราะอะไร? ส่วนมากเงินเดือนจะเอาไปให้เงินเดือนของครูอาจารย์สูงมาก แต่การพัฒนา การเอาไปวิจัยมันน้อยมาก แต่อีกส่วนหนึ่งที่คนเราไม่ค่อยมองก็คือ ลักษณะนิสัยของคนไทยเอง เรายึดอยู่แต่รูปแบบเดิมๆ การเปลี่ยนแปลงมันทำแบบรวดเร็วไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป เราอยู่ดีกินดีมามาก เราไม่เดือดร้อน เลยดูเหมือนว่าการอยู่เฉยๆ มันสบายอยู่แล้ว มันไม่มีการแข่งขัน แต่ทีนี้การแข่งขันมากเกินไปมันก็ไม่ดี มันต้องพอดีๆ ถ้ามันมากเกินไปก็ไม่มีความสุข อย่างประเทศสิงคโปร์ที่บ้านเค้าเจริญ แต่ผลวิจัยออกมาแล้วว่าคนบ้านเค้าไม่ค่อยมีความสุข มันจึงต้องดูหลายๆ ด้าน ถ้าถามว่าประเทศไทยตอนนี้จะพัฒนาแบบไม่รีบเร่งได้หรือไม่ ส่วนตัวบราเธอร์ก็ยังคิดว่าทฤษฏีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นยังใช้ได้เสมอ 

พูดถึงเด็กนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเอแบค เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง บราเธอร์มองเด็กเราอย่างไรบ้าง คำว่า “พอเพียง” หมายความว่า มีเท่าไรก็ใช้เท่านั้นไม่ใช่หมายความว่าใช้น้อยๆ ถ้าเค้ามีก็ให้เค้าใช้ แต่ก็ยังต้องพอมีเก็บไม่เกินตัว แต่ทีนี้บางคนไม่ใช่อย่างนั้น เห็นเพื่อนมีมือถือ มีกระเป๋าหลุยส์ ก็นำไปสู่การลักขโมย ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่ต้องสอนให้เค้ารู้ หลักสูตรของเอแบคแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนที่หนึ่งคือองค์ความรู้ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธ แต่ความรู้อย่างเดียวไม่สามารถทำให้คนเป็นคนดีได้ เราจึงต้องเพิ่มส่วนที่สองเข้ามานั่นคือการพัฒนาคนให้เป็นคนที่สังคมพึงประสงค์ เราถือเป็นส่วนหนึ่งของวิชาซึ่งวิชานี้ห้ามนักศึกษาขาดเรียนเลย ไม่อย่างนั้นเราไม่ให้จบ

นอกจากนี้ เรายังมีวิชาที่สอนข้างนอกห้องอีก มีการจัด Service Learning คือเราจัดให้เด็กของเราออกไปสอนคนที่อยู่ในคุก ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ แฟชั่น มาร์เก็ตติ้ง เพราะว่าพวกเขาจะออกจากคุกแล้วเค้าจะมาทำอะไรกิน เราก็จะส่งเด็กไปสอนเค้า เวลานี้เราก็กำลังสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้ชาวมอแกนที่ประสบภัยสึนามิในภาคใต้ด้วย โครงการพัฒนาสังคมของนักศึกษาเอแบคเราได้มีการส่งโครงงานเข้าประกวดแล้วก็ได้รางวัลกลับมามากมาย ตรงนี้ล่ะที่เขาเรียกว่า Service Learning นักศึกษาปีสุดท้ายเราจะต้องผ่านวิชานี้ทุกคน เพื่อการสร้างความเป็นคนที่สมบูรณ์แบบไม่ใช่เห็นแก่ตัวอย่างเดียว

พูดถึงเด็กที่จบไปแล้วมีภาพสะท้อนกลับมาอย่างไรบ้าง

มีอยู่หลายเสียงเหมือนกันจากผู้ปกครองหรือจากผู้ประกอบการ เค้าจะบอกว่าเด็กเอแบคเนี่ยเก่ง ดูสมาร์ท แต่... “ออกจากงานเร็ว” เราจึงพยายามสอนเด็กเราเสมอว่า การถีบตัวเองให้ขึ้นไปสูงนั้นทำได้ แต่ต้องให้เป็นที่รักของที่ทำงานจากไปให้เค้าคิดถึง การถีบตัวเองหรือย้ายงานเป็นสิทธิ์ของเขา แต่อย่าทำแบบไม่มีจริยธรรม เช่นกำลังทำงานตัวนี้ อยู่ๆ ก็ทิ้งไปเฉยๆ โดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้ากับบริษัท หรือทำให้บริษัทเสียหาย ดังนั้นจะทำอะไรควรต้องคิดก่อน เมื่อสถาบันได้ทราบดังนี้ เอามาคิดแล้วก็ปรับปรุงแก้ไขอบรมสอนเค้า

อย่างเด็กสมัยนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เอแบคเท่านั้น เราต้องยอมรับว่า คนยุคนี้เกิดมาจากพ่อแม่ที่ร่ำรวย มีฐานะมีอะไรก็ช่วยลูกเพราะตัวเองเคยลำบากมาแล้ว อีกทั้งความรู้ของเด็กไม่ค่อยแน่น เวลาไปทำงานแล้วแทนที่จะคิดแล้วทำไม่ค่อยมี เราเลยต้องแก้โดยการสอนให้เค้ารู้จักคิดด้วยตัวเอง อยากเรียนรู้ พอเค้าออกไปข้างนอกจะได้พัฒนาต่อได้ ในทุกๆ วิชาไปเรียกเค้ามาสั่งไม่ได้ ให้เค้ารู้จักใช้กับชีวิตจริง ถ้าถามกันตรงๆ ว่าการเรียนต้องเรียนในห้องเรียนหรือไม่? ไม่จำเป็นเลย อ่านหนังสือที่บ้านก็ได้ แต่ทำไมต้องเข้าระบบล่ะ? เพราะการจัดการนิสัยบางอย่างนี่ละที่เป็นหลัก บางครั้งเรามองข้ามกันไปหมด ตัวอย่างเช่นการเรียงคิวเข้าแถวขึ้นลิฟท์ การขับรถให้มีมารยาท เราต้องสอนคนให้มีระเบียบวินัย สังเกตเรื่องการเมืองไทยในขณะนี้อ่อนไหวมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะ ประชาชนอ่อนไหวตามกระแส ไม่ทำไปตามระบบ แล้วแต่ว่าใครจะเสนอสื่อได้ดีกว่า คนไทยก็เอนไปทางนั้นเพราะสังคมยังไม่มีความรู้พอที่ตนเองจะตัดสินใจได้

เรื่องอุปสรรคตั้งแต่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของเอแบค

อุปสรรคที่เคยผ่านๆ มาบราเธอร์ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค ถือเป็นเรื่องปรกติ แต่อาจจะไปไม่ได้ดั่งใจที่คิด เพราะฉะนั้นก็ตามที่เค้าบอกว่านิ้วมือ 5 นิ้วยังไม่เท่ากัน ผลไม้ต้นเดียวกันยังมีลูกขนาดไม่เท่ากัน เราต้องทำความเข้าใจกับมันแล้วก็จะผ่านไปได้เอง ตามกาลเวลาของมันเอง อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมันเยอะเหลือเกิน อย่างคอมพิวเตอร์นี่สามปีต้องเปลี่ยนแล้วเปลืองเงินมาก แต่เราก็เอาไปบริจาคโรงเรียนตามหัวเมืองต่างๆ ให้เค้าใช้กัน

พูดถึงเรื่องไอทีในปัจจุบัน ในฐานะที่บราเธอร์เป็นคนยุคแรกๆ ต้องปรับตัวมากหรือไม่กับสื่ออินเตอร์เน็ตหรือวงการไอทีขณะนี้ บราเธอร์เรียนคอมพิวเตอร์มา (ยิ้ม) ที่จริงบราเธอร์เป็นโปรแกรมเมอร์นะ แต่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว เพราะเมื่อก่อนตอนบราเธอร์เรียนที่ฟิลิปปินส์เนี่ยจะเรียนด้านนี้ ชอบคอมพิวเตอร์มาก สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องพีซีเลย มีแต่เมนเฟรมใหญ่ๆ (หัวเราะ) จะทำอะไรทีหนึ่งมันยุ่งยากไปหมด

ด้วยการที่มีความรู้ทางด้านนี้โดยเฉพาะทำให้เราเป็นนักพัฒนาที่ได้เปรียบในโลกยุคปัจจุบัน?

ใช่เราได้เปรียบในแง่ของการมอง เพราะบราเธอร์เป็น System Analyst ได้ สามารถที่จะมองระบบมองอะไรต่างๆ ได้ บราเธอร์ก็เริ่มกับดร.ศรีศักดิ์ (จามรมาน) ในด้านไอทียุคแรกๆ แต่สมัยนี้อะไรๆ ก็สบายขึ้นเยอะ อุปสรรคของเราจริงๆ คือเรื่องอาจารย์ เราต้องหาคนที่เหมาะสมมาสอนโดยเฉพาะคณะบริหารธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด ของเรา ซึ่งเป็นคณะแรกๆ เลย คนที่จบด้านธุรกิจมาแล้วถ้าคิดว่าจะหาเงินก็อย่ามาเป็นอาจารย์เลย เวลาสัมภาษณ์ผมจะถามเสมอว่ามาหาเงินหรือเปล่า ถ้ามาหาเงินก็อย่าเป็นอาจารย์เลยไปทำธุรกิจดีกว่า แต่มาเป็นอาจารย์เนี่ย มันเป็นเกียรติ ถามว่าจนมั๊ย? ไม่จน ถ้านำคำสอนของในหลวงมาใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” ใช้อย่างพอเพียง ตัวเค้าเองก็ต้องรู้

สำหรับอาจารย์ภาษาต่างประเทศเราก็ต้องพยายามหาอาจารย์ที่อยู่ในประเทศเรา เลือกคนที่อยู่ในสายอาจารย์ที่อยู่ในไทยมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เป็นพวกท่องเที่ยวมาแล้วมาทำงาน แต่ก็ยังดีกว่ายุคก่อนเพราะคนต่างชาติในไทยน้อย คนไทยก็จบภาษาต่างชาติน้อย สมัยนี้เยอะขึ้นเพราะเรามีหลักสูตรอินเตอร์รองรับ

อาจารย์ต่างชาติที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นคนชาติไหน?

ส่วนใหญ่จะเป็นคนเอเชียเพราะว่าเราสามารถหาบุคคลากรได้ง่าย แต่ว่าความรู้หรือการพูดต้องเป็นระดับสากล ไม่จำเป็นต้องเป็นฝรั่ง เราจะมาดูถูกคนเชื้อชาติเอเชียไม่ได้ แม้ว่าสำเนียงแต่ละชาติจะแตกต่างกัน ถ้าเราฟังบ่อยๆ เข้ามันก็จะชินไปเอง เราต้องฝึกเองหัดดูหนังดูภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ ไม่ต้องไปยึดติดกับภาพลักษณ์ที่คนสอนจะต้องเป็นฝรั่งหรือมาจากอังกฤษแท้ๆ เสมอไป เราต้องสร้างและทำให้ได้ อย่านึกว่าอย่างคนไทยเองจะเก่งกว่าคนอเมริกาไม่ได้

คนภายนอกนั้นมองเอแบคว่าอย่างไร

เราเคยทำวิจัยมาก็จะสะท้อนภาพว่า เอแบคแพง ภาพลักษณ์นี้เรามีตั้งแต่ต้นๆ เพราะเราสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่สมัยนี้ถึงสอนภาษาไทยแต่เก็บค่าเทอมแพงกว่าเราก็มีนะ ภาพลักษณ์ตรงนี้มันเลยติดเรามาตั้งแต่แรก จนกระทั่งเราเก็บถูกเค้ายังมองว่าแพง

อย่างที่สองจุดอ่อนของเด็กเรา คือออกจากงานง่าย เราต้องมองที่โปรดักส์เราด้วย อย่างที่สามตัวอาจารย์ยังมีคนพม่าที่สอนอยู่เยอะ แต่ถ้ามองในความเป็นนานาชาติแล้วเรามีความหลากหลายที่สุด อาจารย์ทั้งหมดประมาณ 1,400 คน แบ่งเป็นชาวต่างชาติกว่า 40% ทั้งจากอเมริกา ยุโรป รัสเซีย แม้แต่ ภูฏานก็ยังมี ถ้าเทียบกับอัตราส่วนของนักศึกษาของเราประมาณ 20,000 คน ก็เทียบได้ในอัตราส่วน 1:20 ถือว่ายังดีอยู่ เรียนสบายๆ

วัฒนธรรมของเอแบคที่โดดเด่นคืออะไร?

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาเราเป็นสถาบันที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในองค์กร และทุกวิชาทุกหลักสูตรจะเป็น Entr epreneurship ในตัวของมันเอง นักศึกษาเมื่อจบออกไปแล้วจะต้องสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตัวเค้าเอง มีหลายๆ คนจบไปแล้วสามารถสร้างกิจการของตัวเอง หรือสามารถทำงานในระดับกลางขึ้นไปในบริษัทของเขาได้ ไม่ใช่ไปเริ่มต้นที่ระดับรากหญ้าใหม่ และอีกอย่างที่เราเน้นมากคือเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งจะขาดไม่ได้

คณะที่ยังคงโดดเด่น เน้นมากที่สุดยังคงเป็นคณะบริหารธุรกิจอยู่หรือไม่?

ไม่ใช่แค่บริหารธุรกิจอย่างเดียวแล้ว ขณะนี้เราได้เน้นอยู่ 3 จุดใหญ่ๆ คือ Business Management Education, IT ซึ่งรองรับโลกยุคปัจจุบัน และ Arts ภาษาศาสตร์ ซึ่งวิชาเหล่านี้จะเป็นรากฐานหลัก นอกจากนี้เรายังได้สร้าง College of Internet and Distance Education คือไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนก็ยังสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต โปรแกรมนี้รองรับบุคคลที่ไม่สะดวกจะมาเข้าเรียนในห้องเรียน นักศึกษาสามารถถามปัญหากับอาจารย์ทางอีเมล์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ทางเรากำลังพัฒนาการสอนแบบข้ามประเทศ Tele-conference กรณีมีอาจารย์จากต่างประเทศซึ่งจะสอนแบบผ่านดาวเทียมได้ และยังมีระบบต่างๆ อีกมากที่เรากำลังสร้างเป็นตึกไอที คงอีกประมาณ 3 ปีกว่าจะสมบูรณ์ เราลงทุนตึกนี้ และซอฟท์แวร์ต่างๆไปแพงมาก ไม่ต่ำกว่า 8 ร้อยล้านบาท แพงมากเราไม่กลัว เรากลัวเรื่องคนเราไม่พร้อมมากกว่า หลังจากทีมบรรณาธิการข่าวMedia Thai Postได้มาสัมภาษณ์ท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บราเธอร์บัญชา แสงหิรัญ จึงได้รับทราบว่าท่านเป็นหนึ่งในนักบริหารการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลเพื่อการรองรับสังคมแห่งอนาคตมากขึ้น และมุ่งหวังจะขยายองค์ความรู้ของคนไทยให้เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการปลูกฝังการเป็นคนดีในสังคมให้กับนักศึกษา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างแท้จริง...