onwin
38. ภราดาบัญชา แสงหิรัญ นัก (บวช) บริหารการศึกษาแห่งเซนต์คาเบรียล

ภราดาบัญชา แสงหิรัญ  นัก (บวช) บริหารการศึกษาแห่งเซนต์คาเบรียล

ภราดาบัญชา แสงหิรัญ 

จะมีเด็กอายุแปดเก้าขวบสักกี่คน ที่จะสนใจศาสนาอย่างจริงจังและเริ่มเลื่อมใสมากขึ้นเป็นลำดับถึงขั้นอยากเป็นนักบวชนั้นคงจะเป็นจุดเริ่มต้นของเด็กชายบัญชา แสงหิรัญ ลูกคนที่ 7 ในจำนวนพี่น้อง 9 คนชาวแปดริ้ว ที่ต่อมาได้อุทิศกายและใจให้กับคริสตศาสนาด้วยการเป็น “นักบวช” ตลอดชีวิตและเป็น “ภราดา” มาครบ 25 ปีแล้วเมื่อปี 2533 ที่ผ่านมา

ณ วันนี้ บราเดอร์บัญชา แสงหิรัญ นอกจากจะเป็นนักบวชแล้วยังเป็นนักบริหารการศึกษาอีกด้วย ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์คาเบรียล--โรงเรียนชื่อดังที่มีลูกศิษย์ลูกหาคนดัง ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงานอยู่ในหลายวงการ ทั้งแวดวงการเมืองและธุรกิจ 

นัก (บวช) บริหารการศึกษาแห่งเซนต์คาเบรียล

“จริงๆ แล้วเมื่อตอนเด็กๆ ก็ยังไม่ได้คิดจะเป็นนักบวชมากนัก เพียงแต่ว่าทางด้านบราเดอร์ที่สอนอยู่อัสสัมฯ ศรีราชา ที่ดูแลเณรที่จะไปเป็นบราเดอร์นี่ มาพูดอธิบายให้ฟังในทำนองชักชวนว่าใครอยากเป็น บราเดอร์บ้าง แล้วเล่าชีวิตของพวกบราเดอร์ให้ฟัง ซึ่งตอนนั้นก็ยังเป็นเด็กอยู่... เรียนอยู่ในระดับประถมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ เพียงแต่ว่า โอ.เค.ในช่วงเป็นนักเรียนก็ชอบเรียนหนังสืออยู่แล้ว พอเขาชักชวนให้ไปเรียนอยู่ที่ศรีราชา ซึ่งเป็นสถานที่อบรมคนที่จะไปเป็นบราเดอร์ด้วย ก็เลยไปเข้าเรียนในชั้นม.1

เรื่อง : น้ำมนต์ อยู่สกุล ภาพ : สืบพงษ์ สิงหสุต 

ช่วงนั้นก็ปฏิบัติตนเหมือนคนที่จะเตรียมเป็นบราเดอร์ทั่วๆ ไปด้วย แต่การตัดสินใจที่จะบวชเป็นบราเดอร์ยังไม่มี เพียงแต่ได้เห็นพวกบราเดอร์เขาสอนหนังสือ ก็อยาก...คล้ายๆ กับว่าอุปนิสัยนี่ชอบสอน ก็มานั่งคิดดู เอ๊...เราเรียนจบไป ก็ต้องไปสอนใช่มั้ย ก็เลยลองดู เพราะเราถือว่าการเป็นครูเป็นปูชนียบุคคล ก็เลยคิดว่า เราคงจะต้องไปทางด้านการเรียนการสอนแน่นอน”

นั่นเป็นประกายไฟที่ส่องทางชีวิตของบราเดอร์บัญชา แสงหิรัญ กระทั่งมาเข้าเรียนต่อที่เซนต์คาเบรียลชั้นม.7-ม.8 ในสถานะของเณร เรียนหนังสือและกินนอนอยู่ที่โรงเรียน พอถึงวันหยุดบราเดอร์วินเซนต์ซึ่งเป็นผู้ดูแลได้พาไปที่สลัมดินแดง เพื่อสอนหนังสือเด็กที่ยากจน พร้อมกับนำอาหารที่มีอยู่ไปเลี้ยง

“เราก็เลยรู้สึกชอบการกระทำอันนี้ ตั้งแต่นั้นมาก็เลยคิด... ช่วงนั้นพี่ชายก็ส่งเสริมว่า อยากไปเรียนนายร้อยจปร. มั้ย อยากให้ไปเป็นนายร้อย แต่ใจชอบทางนี้มากกว่า ก็เลยเรียนต่อจนจบม.8 จากนั้นทางคณะเซนต์คาเบรียลก็ส่งไปศึกษาความเป็นอยู่และพระวินัยของคณะฯ ที่นวกสถานประเทศอินเดียอยู่ 2 ปี เพื่อดูว่าตัวเองจะมีความสามารถถือกฎระเบียบของคณะได้มั้ย หลังจากนั้นเราเห็นว่าสามารถจะทำได้ จึงปฏิญาณตนเป็นบราเดอร์”

แต่การปฏิญาณตนครั้งนั้นถือเป็นเพียงขั้นแรกแห่งการเป็นบราเดอร์เท่านั้นยังไม่ถาวร เป็นเพียงขั้นทดลองฝึกหัดตนกระทั่งอีก 6 ปีต่อมาจึงได้ปฏิญาณตนตลอดชีวิต นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตก็ว่าได้

“การตัดสินใจนี่ต้องใช้เวลา ต้องใช้พลัง ต้องใช้อะไรต่างๆ มาก เพราะว่าชีวิตของเราไม่ได้อยู่กับการเรียนการสอนอยู่กับงานอย่างเดียว มันมีส่วนอื่นที่คล้ายๆ กับเป็นเครื่องให้เราคิดว่า เอ๊... เรามาเป็นบราเดอร์นี่ เรามาเพื่ออะไร คือเหมือนกับเป็นการคิดที่หนักมาก แล้วก็เป็นการตัดสินในด้วยความเป็นผู้ใหญ่แล้วมองโลกแบบผู้ใหญ่

จึงมาตัดสินใจได้ว่า ชีวิตของเราจะต้องเป็นในลักษณะนี้ คือเราจะต้องอยู่กับนักเรียน อุทิศตนให้กับนักเรียน เข้าไปพาตัวของเราเอง และพาเยาวชนไปหาองค์สัจธรรมในชีวิตของตนเองให้ได้”

บราเดอร์บัญชาจบปริญญาตรีเอกคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์จากฟิลิปปินส์ ปริญญาโททางด้านบริหารการศึกษา จากวิทยาลัยเซนต์แมรี่ แคลิฟอร์เนีย ก่อนจะมาเป็นอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และรองอธิการมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ (ABAC) กระทั้งปี 2528 ก็มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์คาเบรียล จนถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ 6 แล้ว “ตอนมาอยู่เซนต์ฯ ใหม่ๆ สิ่งแรกที่คิดก็คือว่า เราต้องศึกษาสถานการณ์ก่อนในเรื่องของการทำงานซึ่งเวลานานพอสมควร เพื่อศึกษาโครงสร้างและระบบของโรงเรียน แล้วดูส่วนที่เป็นหลักขององค์กรก็คือบุคคลซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่สุด”

สิ่งที่บราเดอร์บัญชาเริ่มต้นก็คือการวางโครงสร้างของโรงเรียน เพื่อสามารถบังคับบัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมๆ กับการจัดบุคลากรให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่

 
 

 “ระบบของโรงเรียนทั้งหมดที่เราจะต้องดูแลก็คือ หนึ่ง...การบริหารบุคลากร สอง... การบริหารหลักสูตร สาม...การบริหารกิจกรรมเสริมหลักสูตร สี่... การบริหารธุรการ การเงิน และการบริหารอาคารสถานที่ซึ่งเป็นหลักๆ ที่เราจะทำอยู่...
ที่สำคัญคือบุคลากร หลักสูตร กิจกรรม แล้วถ้าถามว่าการเงินสำคัญมั้ย... สำคัญ แต่จะสำคัญย่อย เนื่องจากว่าการเงินของทางโรงเรียนนั้น ค่าเทอมต่างๆ ค่าเล่าเรียนต่างๆ ถูกควบคุมโดยกระทรวงศึกษาฯ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายจะไม่ต่างกันเท่าไหร่ จะฟิกซ์ตายตัวทุกปี เพียงแต่ว่าเราจะใช้ซอร์สต่างๆ ที่เราได้คือหมายความว่า ทั้งตัวเงินทั้งบุคลากรทั้งอาคาร สถานที่ๆ เรามีอยู่ทั้งหมด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร”

บราเดอร์บัญชาย้ำว่า ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีบทบาทในด้านการเรียนการสอนก้าวหน้าไปได้ ถ้าผู้บริหารไม่เป็นผู้นำทางด้านการเรียนการสอนแล้ว จะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

>“ถ้าถามว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ผู้ปกครองอยากจะนำบุตรหลานมาเข้าโรงเรียนเซนต์ฯ กันมาก...ประการแรกภาพของโรงเรียนที่ปรากฏในสายตาประชาชนทั่วๆ ไปเป็นภาพที่ดี เนื่องจากผลิตผลที่สำเร็จออกไป ตามสายตาประชาชนจะเห็นว่า โรงเรียนเซนต์ฯ นั้นประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะเป็นภาพที่เรียกว่ากว้างๆ เพราะว่านักเรียนเซนต์ฯที่จบออกไปนั้น ในเรื่องของนักการเมืองก็เห็นชัดอย่างในคณะรัฐมนตรีปัจจุบันก็มีรัฐมนตรีถึง 6 ท่าน...”

รัฐมนตรี 6 ท่านที่เป็นศิษย์เก่าก็มี พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ โกศล ไกรฤกษ์ รองนายกรัฐมนตรี, กร ทัพพะรังสี รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และอีก 3 ท่านที่คุมกระทรวงคมนาคมอยู่ตอนนี้ก็มี สมัคร สุนทรเวช ในฐานะเจ้ากระทรวง และรมช.อีก 2 ท่าน ก็คือประทวน รมยานนท์ และสุวัจน์ ลิปตพัลลภ...แถมโฆษกรัฐบาลอีกคนก็ยังไหว--ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล 

“นอกจากนักการเมืองแล้ว นักเรียนโรงเรียนเซนต์ฯที่ประสบความสำเร็จนี่ในแง่ของนักธุรกิจ เป็นอาจารย์ หรือ ในแง่ของการทำงานส่วนตัวล้วนแต่ประสบความสำเร็จเป็นส่วนมาก แต่ถ้ามองภาพให้แคบลงมา เขาต้องมองนักเรียนของเราขณะที่เดินออกไปนอกโรงเรียนมีความประพฤติอย่างไร พูดจากันอย่างไร...

ทีนี้มองแคบเข้ามาในโรงเรียนถ้าเราจะดูวิชาการกันแล้ว ทางด้านหลักสูตรนี่ เราก็บอกแล้วว่า หลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะอยู่ที่โรงเรียนเซนต์ฯหรืออยู่ที่โรงเรียนใดก็ตามแต่ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหลวงหรือชนบทก็ใช้หลักสูตรเดียวกัน ไม่ได้มีการแตกต่างกันเท่าไหร่

ทีนี้...ความต่างมันอยู่ตรงไหน เนื่องจากโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนของคณะนักบวชเพราะฉะนั้นจุดอันดับแรกก็คือผู้ปกครองก็เห็นว่า ทางคณะนักบวชนี่ไม่ว่าจะเป็นคณะซิสเตอร์หรือคณะบราเดอร์นี่ ทำงานอย่างอุทิศกายและใจ เงินต่างๆ ที่เราด้ากผู้ปกครอง เราก็นำมาใช้ให้กับนักเรียนของเราเพราะฉะนั้น ในส่วนนี้เองที่ทำให้ผู้ปกครองมองเห็นในจุดนี้ เพราะผู้ปกครองจะมีความเชื่อมั่นแน่ว่า เมื่อส่งลูกเข้ามาแล้วทางคณะผู้บริหารหรือคณะครูของโรงเรียนเรานี่ จะต้องดูแลลูกของเขาอย่างเต็มที่ แล้วก็อบรมลูกของเขาให้ได้ดีขึ้นมาให้ได้ เพราะเราทุ่มเทเวลาทั้งหมดของเราที่มีอยู่

และอีกเหตุผลหนึ่งที่อาจถือเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียลก็ว่าได้ก็คือ

 

“โรงเรียนของเรามุ่งทางด้านการศึกษามาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะในอนาคต...การรู้จักภาษาไทยอย่างเดียวมันไม่พอ ถ้าเราพูดภาษาอังกฤษได้ ภาษาต่างประเทศได้ อ่านหนังสือได้กว้างขึ้น เราจะสามารถติดต่อกับคนได้มากขึ้น โอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตก็จะมีมากขึ้น เมื่อผู้ปกครองมองในจุดนี้แล้ว ก็อยากให้ลูกของตนเองเข้ามาอยู่ในโรงเรียนของ “เรา”

สิ่งสำคัญในวันข้างหน้าอีกประการที่บราเดอร์บัญชาเน้นก็คือ การเข้าเรียนตั้งแต่ชั้นป.1 จนถึง ม.3 เป็นอย่างน้อย จะสร้างความแน่นแฟ้นได้มาก เพราะเด็กเรียนร่วมกันมานาน เมื่อออกสู่สังคมก็จะสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน“ชีวิตที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้เป็นชีวิตที่เรียบง่าย

แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็คือ การรู้จักตน
และรู้ว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตคืออะไร”


 

“กับคำถามว่าเป้าหมายของโรงเรียนคืออะไรนั้น...คือหลักปรัชญาของโรงเรียนเราจะบ่งไว้เลยว่า ส่วนแรกเราเชื่อมั่นว่าคนเราเกิดมาทุกคนต้องมีหลักศาสนาที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว คนไหนที่ไม่มีศาสนายึดเหนี่ยว แสดงว่าเขาไม่มีเป้าหมายในชีวิตของตัวเองเลย เพราะบราเดอร์เชื่อว่าคนเราที่เกิดมาจะต้องแสวงหาองค์สัจธรรมเราต้องรู้ว่า เราเกิดมานี่เกิดมาทำไม แล้วเกิดมาแล้วเรามาทำอะไรกัน แล้วตายแล้วเราจะไปไหนกัน ฉะนั้นเป้าหมายในชีวิต ถ้ามันจบอยู่แค่การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้วก็มันคงจะไม่มีที่ไปต่อไป เพราะฉะนั้นเราต้องมาศึกษากันดูว่า เป้าหมายของชีวิตคืออะไร เราต้องสอนให้เด็กทุกคนที่เกิดมาแล้ว ค้นพบเป้าหมายของชีวิตให้ได้

บราเดอร์บัญชาเน้นว่า หลักของศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นหลักของศาสนาใดแต่ขณะเดียวกัน 
“จะยึดศาสนาเป็นหลักอย่างเดียวก็ไม่ได้ คนเราจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องอยู่ที่สติปัญญาด้วย จะต้องพยายามเสริมสติปัญญาเขาให้เป็นคนฉลาด เพื่อที่จะได้ใช้เป็นทางทำมาหากิน และจุดนี้เองที่ได้มีการสอนวิชาความรู้ให้กับเขา แต่ทั้งสองส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน จะทิ้งอันใดอันหนึ่งนั้นไม่ได้ เพราะทั้งสองเป็นสิ่งสำคัญ...การอบรมในลักษณะอย่างนี้ทำได้ยากมาก ในขณะที่มันเป็นสิ่งสำคัญมากด้วย”

6 ปีที่เซนต์คาเบรียลโดยการบริหารของบราเดอร์บัญชา ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น บราเดอร์บัญชาบอกว่า 

“ที่ทำมากที่สุดก็คือการจัดองค์กรให้เข้าสู่ระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน เรื่องของการประสานงาน หรือเรื่องของการบังคับบัญชา เรื่องการวางโครงการวางแผนของโรงเรียนทั้งหมด และทำงานตามแผน ซึ่งมีการเขียนโครงการล่วงหน้า ส่วนนี้ได้พยายามทำอย่างมากที่สุดเลย แล้วคิดว่ามันอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอสมควร พร้อมกับที่เราพยายามสร้างเกณฑ์มาตรฐานของโรงเรียนเองว่า ขั้นต่ำจะต้องอยู่ขีดไหนเมื่อเรารู้ว่า ขั้นต่ำจะต้องทำขนาดไหนแล้ว เราก็ทำงานพัฒนาให้มันสูงขึ้นไป

เกณฑ์ของเรามีอยู่สองอย่างคือ เกณฑ์ทางด้านบริหาร กับเกณฑ์ทางด้านวิชาการ แล้วคิดว่ากำลังเดินอยู่ในเส้นทางที่วางไว้นั้น อีกอย่างที่บราเดอร์ทำมากที่สุดก็คือว่า พยายามทำให้บุคลากรเข้ามามีส่วนในการบริหาร โดยที่เราไม่ได้ทำงานคนเดียว และในส่วนนี้คิดว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากว่าการทำงานนั้นได้ให้บุคลากรเข้ามามีส่วนในการบริหาร เพราะฉะนั้นการตัดสินใจหลาย ๆ อย่างใช้คณะกรรมการตลอด ให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ”

แต่อะไรที่จะเป็นสิ่งบ่งชี้ความสำเร็จทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นก็ได้รับคำตอบว่า

“สำหรับโรงเรียนเซนต์ฯ ถ้าจะมองความสำเร็จ เราก็ดูที่หลาย ๆ อย่าง หนึ่ง..เราก็ดูจากความสำเร็จทางด้านวิชาการเราเอาอะไรเป็นเครื่องวัด การวัดนั้นจะดูที่เด็กเก่งอย่างเดียวไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็วัดได้พอสมควรมั้ย เราดูเด็กของเราเมื่อออกไปแล้ว ถ้าจะดูทางด้านผลของการสอบเข้าเราก็มีผลพอที่จะคุยกับชาวบ้านเขาได้ แล้วก็ไปเช็คดูได้ เด็กที่สำเร็จจากโรงเรียนของเรานั้น สอบเข้าแพทย์ สอบเข้าวิศวะ อะไรต่าง ๆ เด็กของเราก็ประสบความสำเร็จพอสมควร

จะดูทางด้านเด็กของเราที่จบและเข้าสังคมไปแล้ว เราก็ดูผลผลิตของตัวเราเองคนที่ประสบความสำเร็จ เห็นชัดๆ ที่เป็นนักการเมืองก็มี ที่เป็นนักธุรกิจก็มี ที่เป็นนักวิชาการก็มี แต่จะถามว่าอัตราส่วนสักเท่าไหร่นั้น ก็ต้องดูจากที่ใจของเรา สิ่งที่เรามองเห็นที่มันวัดไม่ได้ก็คือ ทางด้านการอบรมสั่งสอนเด็ก ทางด้านการดัดแปลงนิสัยความประพฤติของตัวนักเรียน ตัวสิ่งนี้นี่แหละที่ทำให้เห็นว่า ถ้านักเรียนคนใดคนหนึ่งเข้ามาเรียนในโรงเรียนแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะมีความรู้ไม่ค่อยดีเท่าไหร แต่เขาสามาถรเอาความรู้เท่าที่ได้ไปดำรงตนอย่างมีความสุขในสังคมได้แล้ว เราก็ถือว่านั่นคือความสำเร็จของเขา”
ปัญหาของโรงเรียนเอกชนที่มีเสียงเรียกร้องกันอยู่มากในขณะนี้เห็นจะเป็นเรื่องค่าเทอม ที่กระทรวงศึกษาฯ ควบคุมอยู่ไม่ให้มีการเก็บเพิ่ม ก็ไม่เว้นแม้แต่เซนต์คาเบรียล

“คือไม่ใช่เฉพาะตัวของบราเดอร์เองที่เป็นคนพูดว่า ค่าเทอมไม่พอ แม้กระทั่งทางคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติยังได้ทำการวิจัยออกมาแล้ว และได้มองเห็นว่าส่วนใหญ่นั้นไม่พอ... เมื่อมองค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนรัฐบาลก็จะเห็นแล้วว่า ค่าใช้จ่ายต่อหัวนั้นมันสูงกว่าค่าเทอมที่เราได้มา เมื่อของโรงเรียนรัฐบาลได้สูงกว่าแต่โรงเรียนเอกชนได้น้อยกว่า ในการบริหารงานทางด้านของประสิทธิภาพย่อมได้น้อยกว่า การที่จะมาส่งเสริมให้เด็กเรียนได้ดีย่อมไม่มี การบริหารงานย่อมเป็นไปได้ยาก ถ้าเทียบกับโรงเรียนของรัฐบาลนั้น ค่าใช้จ่ายในเรื่องของที่ดินในเรื่องของการลงทุนนั้น...ไม่มี เนื่องจากที่ดินมีอยู่แล้ว และงบประมาณก็แยกต่างหากอยู่แล้ว”

ส่วนความเห็นที่ว่ารัฐบาลควรมีนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียนเอกชนอย่างไรนั้นบราเดอร์บัญชาบอกว่า

“นโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจนเพื่อที่ว่าคนที่ลงทุนนั้นควรจะลงต่อไปมั้ย หรือว่า...ควรจะต้องหยุดการลงทุนดีมั้ย ตรงจุดนี้สำคัญมาก... เพราะการลงทุนการด้านการศึกษานั้น เป็นการลงทุนที่การตอบแทนไม่ค่อยมีมากเท่าไหร่ไม่เหมือนกับวงการธุรกิจ ดังนั้นจึงควรจะต้องมีการส่งเสริมกันพอสมควร”

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เด็กที่จะสอบเข้าเซนต์คาเบรียลนั้นต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างมาก เพราะจำนวนผู้สมัครนับพันนับหมื่นคน ขณะที่โรงเรียนรับได้เพียง 400 คนในแต่ละปี จึงเกิดคำว่า ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ หรือเงินกินเปล่า 

“เราจะไม่เรียกว่าเป็นเงินแป๊ะเจี๊ยะเพราะคำว่าเงินแป๊ะเจี๊ยะก็หมายความว่า เราเอาเงินนั้นเป็นการบีบบังคับผู้ปกครองให้ชำระกับทางโรงเรียน แต่ของโรงเรียนเรา เราจะไม่มีการบังคับผู้ปกครอง แต่เราขอให้ผู้ปกครองนั้นช่วยเพราะถือว่าผู้ปกครองที่นำลูกเข้ามาในโรงเรียนนี้ มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบในการศึกษาของบุตรของตัวเอง ถ้าผู้ปกครองอยากให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว สมควรที่จะต้องช่วยโรงเรียน เพื่อที่โรงเรียนจะได้นำเงินนั้นไปพัฒนาการศึกษาของลูก เพราะเงินที่เราได้มานั้นผู้ปกครองก็ให้ด้วยความเต็มใจ...และลูกจะต้องอยู่ในโรงเรียนก่อนแล้ว ถึงจะให้เงินกับทางโรงเรียนด้วยความเต็มใจและยินดี”

สำหรับ “โรงเรียนที่ดีที่สุด” ในสายตาของบราเดอร์บัญชานั้น...

“จะต้องดูเป้าหมายของโรงเรียนของเขาว่า ทำไปเพื่ออะไร แล้วเขาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ถ้าเขาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่เขาวางไว้ แสดงว่าใช้ได้...

ภราดาบัญชา แสงหิรัญ
(ต่อจากหน้า 116) 

นอกจากนี้ผู้บริหารและครูต้องมีคอมมิทเมนท์ไปสู่ความเป็นเลิศในด้านวิชาการ โรงเรียนต้องจัดทำโครงการต่างๆ สนองต่อความต้องการของนักเรียน เพราะเราถือว่าเป้าหมายหลักคือ...ตัวนักเรียนและจบออกไปแล้วเขาได้อะไร...ทางโรงเรียนจะต้องมีความสามารถสอนเด็กของตนเองให้เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็นให้เป็นคนที่อยากค้นพบอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวของเขาเอง ถ้าเขาไม่มีเลยในส่วนนี้...จะไม่ดี
ที่สำคัญโรงเรียนจะทิ้งในส่วนของระเบียบวินัย ความมีจริยธรรม ศีลธรรมในตัวของเด็กไม่ได้เลย เด็กบางคนเก่ง... แต่ไม่มีความเป็นระเบียบวินัย ไม่มีคุณธรรมสังคมจะเกิดปัญหา เพราะเขาจะใช้ความเก่งของเขา ความฉลาดของเขาไปโกงชาวบ้าน เพราะฉะนั้น... เราต้องสร้างความมีระเบียบวินัย ถ้าโรงเรียนสามารถทำในส่วนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้ นับว่าเป็นโรงเรียนที่เลิศ”
คราวนี้มามองดูโลกส่วนตัวของนักบริหารที่เป็นนักบวช ซึ่งต้องสละตัวเองให้แก่พระเป็นเจ้า ไม่มีครอบครัวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ...และไม่มีทรัพย์สมบัติเป็นของส่วนตัว ไม่ยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เป็นของตัวเองจะมีก็แต่เพียงเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่เท่านั้น.

“ถ้าถามว่านึกเสียดายมั๊ยที่ไม่มีชีวิตครอบครัวเหมือนคนทั่ว ๆ ไป ไม่นึกเสียดาย แต่อาจจะเป็น...บางช่วงของชีวิตที่มองเห็นเพื่อนฝูงหรือคนที่อยู่รอบข้างเรา เขามีความสุขดี เราอยู่อย่างนี้ทำแต่งาน เพื่อนฝูงเราก็ไม่ค่อยจะมี ก็มาคิดๆ เหมือนกัน...มีอยู่บ้าง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ว่า ใครๆ ก็ต้องมีลักษณะอย่างนั้น เพราะคนในโลกปกติก็อาจจะมองว่า...เอ๊ะ เขาแต่งงานกันแล้วนะ เราทำไมยังไม่ได้แต่ง

แต่เมื่อเราคิดว่า เรามาบวชแล้วมีเป้าหมายอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องสละสิ่งนี้ไป คนเรานั้นจะเอาทุกอย่างในโลกนี้เป็นไปไม่ได้ ได้อะไรมาอย่างก็ต้องเสียอะไรบางอย่าง มันขึ้นอยู่กับตัวเราว่า เราจะเลือกอย่างไร” ในแต่ละวันบราเดอร์บัญชาจะตื่นนอนราวตี 5 เพื่อสวดภาวนาซึ่งเป็นการทำกิจวัตรทางด้านของการเป็นนักบวชจนถึง 6.30 น. จึงทานอาหารเช้าแล้วจะเข้าที่ทำงานราว 7 โมง ซึ่งนอกจากจะต้องทำหน้าที่บริหารงานแล้ว ยังสอนนักเรียนชั้นมัธยมปลายอีกด้วย วิชาที่สอนก็คือภาษาอังกฤษ
“ช่วงเย็นก็ออกกำลังกายวิ่งนิดๆ หน่อยๆ บ้าง หรือไม่ก็เล่นเทนนิส พอว่างก็อ่านหนังสือทางด้านโซซิโอโลจี้ หรือบุคคลสำคัญอย่างมหาตมคานธี หรือไอน์สไตน์”
ส่วนปรัชญาการดำเนินชีวิตของบราเดอร์บัญชาก็คือ
“จะทำอะไรก็แล้วแต่ ทำให้ดีที่สุดแล้วพยายามดูเป้าหมายอยู่เสมอ... ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายของการเป็นนักบวช เป้าหมายของการบริหารงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งถ้าเผื่อเราดูอยู่เสมออย่างนี้ เราจะไม่ผิดพลาด ต้องมองดูตัวเองอยู่เสมอ”
“ชีวิตที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้เป็นชีวิตที่เรียบง่าย แต่ส่วนสำคัญที่สุดในชีวิตก็คือ การรู้จักตน และรู้ว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตมีอะไร ความสุขที่ได้รับก็ต่อเมื่อสามารถทำให้ผู้อื่นมีความสุข และจะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อทำให้ผู้อื่นเกิดทุกข์ ความภูมิใจของตนเองมิใช่อยู่ที่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่อยู่ที่สามารถเอาชนะตนเองได้”
และนี่คือบางแง่มุมของนักบริหารการศึกษาผู้ดำรงตนเป็นนักบวช –ภารดาบัญชา แสงหิรัญ แห่งเซนต์คาเบรียล.