onwin
Bancha Collections
สภาวะโลกร้อน (Global Warming) : บทบาทของสถาบันการศึกษา โดย ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ 

อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค)

 สถาบันการศึกษา มีวิธีสร้างสามัญสํานึกในหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อโลกปัจจุบัน 

เกี่ยวกับปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างไร... 

       ปัจจุบันสภาวะโลกร้อนไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่ไกลตัว แต่ถือได้ว่าเป็นวาระโลกที่ไทยเราต่างต้องตระหนักถึงปัญหานี้ให้มากยิ่งขึ้น โดยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งหาหนทางหยุดยั้งมหันตภัยทั้งหลายทั้งปวงอันเกิดจากภาวะโลกร้อนนี้ให้ได้

      ดังจะเห็นได้จาก ในวันที่ 29 มีนาคม 2551 เวลา 20.00 น. ตรงตามเวลาท้องถิ่นของแต่ละประเทศได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เมืองใหญ่ๆทั่วโลกกว่า 20 เมืองช่วยกันปิดไฟตามสถานที่ต่างๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน

   ปรากฏการณ์ของภาวะความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกปัจจุบัน ก่อให้เกิดเป็นวัฏจักรที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด สภาวะโลกร้อน (Global Warming) และส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล สัญญาณเตือนภัยเหล่านี้ปรากฏเด่นชัดขึ้น บ่อยครั้งและในเวลาใกล้เคียงกัน ความแปรปรวนของภูมิอากาศ รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น แผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคของโลก... ดังเช่น

       การเกิดฤดูกาลที่ผิดปกติในหลายประเทศ 

      การเกิดหิมะตกแบบบางเบาในกรุงแบกแดด ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน การเกิดคลื่นความร้อนในทวีปยุโรป         การเกิดพายุเฮอร์ริเคน แคทรินา ที่ถล่มเมืองนิวออร์ลีนของสหรัฐอเมริกาจนเสียหายอย่างมหาศาล        แม้แต่ประเทศไทยเองก็เกิดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวเช่นกัน คือ ได้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นเผชิญกับคลื่นยักษ์ สึนามิ ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายๆ ปี...ที่ผ่านมา       บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงภาวะโลกร้อนว่า ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้นและโลกของเรากำลังเดินสู่กับดักของสถานการณ์ที่ล่อแหลมอย่างน่าวิตก เรา คือ ส่วนหนึ่งของมนุษย์โลกที่ต้องพึงตระหนักถึงหน้าที่สำคัญ คือ ต้องศึกษาและเข้าใจปัญหาที่เผชิญอยู่นี้ อันจะนำไปสู่แนวทางยับยั้งและการแก้ไขปัญหาที่จริงจังร่วมกัน

      สภาวะโลกร้อน (Global Warming) คือ สภาวะที่โลกในระดับเหนือพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิที่สูง เพิ่มขึ้น โดยนับจากค่าเฉลี่ยจากช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ประมาณ 0.7 องศาเซลเซียส และมี แนวโน้มว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก เนื่องจาก โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ ห่อหุ้มด้วยชั้นของบรรยากาศที่ประกอบไปด้วยก๊าซต่างๆ มีสัดส่วนตามปริมาตรตามธรรมชาติ แต่มีก๊าซประเภทที่มีปฏิกิริยากับพลังงานแสงอาทิตย์ และความร้อนที่เกิดจากโลกเพียงไม่กี่ประเภท เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซโอโซน ต่างมีคุณสมบัติกักเก็บและส่งผ่านรังสีความร้อนที่เกิดจากพลังงานแสงอาทิตย์สู่ชั้นของบรรยากาศจึงเรียกว่า ก๊าซเรือนกระจก หรือ Greenhouse Gas (GHG) ก๊าซนี้อาจเกิดได้ตามกระบวนการทางธรรมชาติ และจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกยุคใหม่ และการบริโภคสิ่งอำนวยความสะดวกของประชากรโลก ที่ทำให้ภาวะเรือนกระจกรุนแรงขึ้นทุกวัน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหินและเชื้อเพลิงต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกสูงขึ้นอย่างน่าวิตก ปัญหาภาวะเรือนกระจกรุนแรงขึ้นทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในลำดับต้นๆ ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปรวมกัน     
 
     กระแสการตื่นกลัวในครั้งนี้ นำไปสู่การกำหนดข้อผูกพันทางกฎหมาย ที่ให้ดำเนินการตามพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการร่วมมือกันรับมือกับ สภาวะโลกร้อน อันเป็นที่มาของพิธีสารเกียวโต (Kyoto- Protocol) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ ลงนามกันในปี พ.ศ. 2540 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 โดยให้นับหลังการให้สัตยาบันของรัสเซีย ซึ่งปล่อยก๊าซถึง 17% ของโลก
 
        ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตแล้ว เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 ซึ่งดำรงสถานะเป็นประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ที่อยู่ในกลุ่มกลไกการพัฒนาที่สะอาด สามารถเลือกเข้าร่วมโครงการได้ตามความสมัครใจ โดยไม่มีข้อบังคับใดๆ เป้าหมายของพิธีสารเกียวโต คือ ต้องการให้ประเทศเหล่านี้ร่วมลงนามยินยอมลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศลง ก่อนพิธีสารเกียวโตจะหมดอายุในปี 2555 แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สหรัฐฯ และ จีน ยังไม่ตระหนักถึงภาวะวิกฤติของโลกร้อนอย่างจริงจัง

       จากการคาดการณ์ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (2537) พบว่าในทุกๆ ปีระหว่างเดือนพฤศจิกายน– มกราคม ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 2.5 – 6 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสานจะแล้งหนัก ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพียงแค่ 2.6 ตัน / คน / ปี ถึงแม้จะยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ แต่เราก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อการปลุกจิตสำนึกให้คนไทยหันมาห่วงใย ตระหนักถึงธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นเพียงการคาดการณ์ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยก็ตาม ผลของความเสียหายจะขยายไปบริเวณกว้างเพียงใด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตลอดจนภาคธุรกิจ ต่างต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันหาแนวทาง เพื่อวางมาตรการให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

        ไม่ว่าเราจะอยู่ในภูมิภาคใดของประเทศ ทุกคนต่างก็มิอาจจะหลีกหนีปัญหาจากสภาวะโลกร้อน ไปได้... 

       สภาวะที่โลกร้อนขึ้นในช่วง 50 กว่าปีมานี้ ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน แผ่ขยายสู่ทุกภาคพื้นโลกประมาณ 1.4 - 5.8 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้การผลิตเพื่อการบริโภคในด้านต่างๆ ลดลง เกิดการกระทบกันเป็นลูกโซ่ อันเป็นเหตุให้ประชากรโลกอาจจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนเป็นจำนวนมหาศาล

        สังคมไทยมีลักษณะเป็น สังคมการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำแหล่งป่าไม้แหล่งอาหาร แหล่งพลังงาน หรือแม้แต่สารประกอบต่างๆ ในดิน

      ปัญหาเหล่านี้... แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงห่วงใย โดยทรงโปรดฯพระราชทานแนวพระราชดำริทุกขั้นตอน เพื่อจะให้สิ่งแวดล้อมกลับคืนมา... อันถือได้ว่า เป็นสิ่งที่สร้างสมดุล และเกื้อประโยชน์ ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หากเราต่างพร้อมใจกัน ดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาโลกร้อนที่ใกล้ตัวเรามาทุกขณะ ได้อีก

      ผลจากภาวะโลกร้อน ยังทำลายระบบนิเวศน์บริเวณชายฝั่งทะเลของเราอีกด้วย เนื่องจากไทยเรามีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 2,490 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทั้งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติกับแหล่งเศรษฐกิจสำคัญๆ ของ ไทยมากมาย ถ้าหากอุณหภูมิในทศวรรษหน้ายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะมีผลกระทบกันเป็นวงจร ทั้งทางด้านธุรกิจ ด้านสังคมสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพอนามัย ฯลฯ แม้แต่กรุงเทพมหานคร ก็ต้องเผชิญกับปัญหาอันสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

        อนาคตของโลกนี้จะเดินไปสู่จุดไหน มนุษย์ชาติจะมีวิถีชีวิตกันอย่างไร ถ้าสภาวการณ์ของสภาพดินฟ้าอากาศเลวร้ายลงไปอีก...

      คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจน หากเพียงแต่ทุกคนต้องพยายามศึกษาและเข้าใจในประเด็นปัญหาข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่แนวทางแก้ไขและสร้างโอกาสให้มากที่สุด สำหรับสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติที่เหลืออยู่ให้เกิด การปกป้อง คุ้มกัน มีความปรองดองกันระหว่างเชื้อชาติ ทั้งนี้เพื่อร่วมมือกันในทุกๆ ด้าน

     โลกยุคปัจจุบัน ความรอบรู้ของมนุษย์ก่อให้เกิดวิทยาการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาด้านความเป็นอยู่ และสนองความต้องการด้านบริโภค เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ตนเอง นับตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้าจวบจนเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน ดังเช่น เช้าอาบน้ำอุ่นด้วยเครื่องทำน้ำร้อน ทำอาหารจากเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนถนอมอาหาร ในตู้เย็น ใช้ยวดยานพาหนะส่วนตัวไปประกอบอาชีพ กลับบ้านพบสิ่งบันเทิงต่างๆ ทีวี เครื่องเสียง คอมพิวเตอร์ และท่ามกลางบรรยากาศที่เย็นด้วยเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ

       อนึ่ง ที่กล่าวมานี้ล้วนมาจากพลังงานทั้งสิ้น ในกระบวนการผลิตที่มาจากทรัพยากรทางธรรมชาติ มนุษย์โลกไม่ได้ตระหนักถึงผลร้ายในอนาคตที่ยาวไกลว่า วิทยาการใหม่ๆ ภายใต้กรอบแห่งความคิดนั้นทำให้มนุษย์บริโภคจนเกินความจำเป็น พลังงานหากมีการใช้ย่อมสูญสลายกลายเป็นขยะและมลภาวะตามมาไม่มีวันจบสิ้น เมื่อต้นทุนทางธรรมชาติที่สะสมมาช้านานค่อยๆ หมดไป โลกจึงจำเป็นต้องส่งสัญญาณเตือนภัยมาสู่โลกเช่นกัน

       แม้ว่า สภาวะโลกร้อน (Global Warming) จะไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นความหวาดวิตกของมนุษยชาติที่ถูกจับตามอง คำถามก็คือ มนุษย์ในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งบนโลกใบนี้เป็นหน่วยหนึ่งของสังคมจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง...

    คงได้รับคำตอบในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน อาจต้องพึ่งพาพลังงานมนุษย์ และใช้สติสัมปชัญญะด้วยการสร้างกฎระเบียบในการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน ภายใต้ข้อปฏิบัติ เช่น : -

 

  • ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งาน เช่น คอมพิวเตอร์ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ 

  • ปรับและติดตั้งตัววัดอุณหภูมิในเครื่องปรับอากาศ ให้เหมาะสม กับอุณหภูมิขณะนั้น 

  • เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแบบประหยัดแทนหลอดไฟอื่นๆ เพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ 

  • ปลุกจิตสำนึกของสมาชิกในองค์กร ขยายสู่ชุมชน สังคม เมือง และประเทศ 

  • ปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี 

  • ร่วมรณรงค์ ให้พยายามใช้พลังงานมนุษย์แทนพลังงานอื่นๆ บ้างตามความจำเป็น 

        แม้ในวันนี้ จะมีผู้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากมาย ถึงมูลเหตุที่มาของปัญหาสภาวะโลกร้อน แต่หากทุกคนตระหนักถึงภาระและความรับผิดชอบร่วมกันปกป้อง คุ้มกัน เพื่อให้โลกนี้ได้พลิกฟื้นคืนสู่ความสมดุลตามธรรมชาติกลับมาได้อีกครั้ง โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ย่อมมีความหวัง 

        สำหรับสถาบันการศึกษา ซึ่งถือเป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ ให้แก่สังคม ประเทศชาติควรแสดงเจตนารมณ์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหา สภาวะโลกร้อน โดยแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วง จึงควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในอันดับต้นๆ โดยอาศัยบทบาทและวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำ ที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อ สภาวะโลกร้อน ที่จะเกิดผลร้ายแรงในอนาคต เพื่อให้ประชาคมร่วมรับรู้ เช่น

  1. จัดให้มีการสัมมนาในกลุ่มผู้บริหารสถาบันการศึกษาทุกระดับ ให้ร่วมกันจัดทำโครงการรณรงค์คืนสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อจะทำให้โลกพลิกฟื้นสู่สมดุลทางธรรมชาติ

  2. ส่งเสริมการบูรณาการศาสตร์ในสาขาวิชาต่างๆ สู่การแก้ปัญหาแบบยั่งยืน นำความรู้จากการค้นคว้าวิจัยทุกสาขา มาร่วมกันหาทางออกที่เป็นรูปธรรม นำขยายสู่สังคมโดยรวม

  3. จุดประกายให้แก่ประชาคมในสถาบันร่วมรณรงค์ สร้างสรรค์กิจกรรมและให้มีการสานต่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ เรียนรู้ความเป็นไปของโลก และร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต

  4. ให้มีการบรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวกับนิเวศวิทยาทางธรรมชาติ โดยส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เกิดการเรียนรู้และสร้างวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลไปสู่อนาคต ให้เป็นผู้พิทักษ์มิใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อสิ่งที่มีชีวิตทุกๆ ชีวิตบนโลกใบนี้

  5. หัวใจสำคัญก็คือการสร้างสามัญสำนึก เพื่อเหตุเดียวกัน (Common Sense for Common Cause) ในที่นี้ คือ ความเชื่อมั่นในแนวทางที่จะร่วมมือกันรับผิดชอบรักษาดูแลโลก เพราะเรา คือ ผู้ที่พึ่งพา 

อาศัยโลก เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมชนิดอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องพึ่งพาซึ่งกันและกันสถาบันการศึกษา คือ สถาบันที่ให้บริการสังคม ในด้านการศึกษา ย่อมมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บรรดานักศึกษา นักวิจัย คณาจารย์ของทุกภาควิชาตลอดจนคณะผู้บริหาร ฯลฯ ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะรับรู้ เพื่อมีส่วนร่วมค้นหาหนทางสู่การแก้ปัญหา สภาวะโลกร้อนแสดงวิสัยทัศน์ผู้นำเป็นแบบอย่างของการวางรากฐานสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ในอนาคตในสภาวการณ์เช่นนี้ ถ้าทุกๆ คน พร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติการในด้านต่างๆ จนเกิดเป็นรูปธรรมย่อมสามารถลดกระแสแห่งความวิตกกังวลและภาวะวิกฤตไม่ให้รุนแรงไปมากกว่านี้

       

แหล่งที่มา

Dicaprio, L., Petersen, L. C., Castleberg, C. & Gerber, B. (Producer). (2008). The 11th hour: Turn mankind’s darkest hour into its finest

[Motion Picture]. Burbank, CA: Warner Independent Pictures. 

ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์. (2549, พฤศจิกายน). สภาวะโลกร้อน : สัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติก่อนที่โลกจะถึงกาลอวสาน. Update, (230), 37-43. 

ดาณุภา ไชยพรธรรม. (2550). โลกร้อน สัญญาณแห่งหายนะ. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย. 

ไทยระอุ “โลกร้อน” วิกฤตแล้งถล่มอีสาน 22 ล.ไร่. (2550, เมษายน 16-18). ประชาชาติธุรกิจ, หน้า 1, 17. 

ประชุมภาวะโลกร้อนที่บาหลี “ไปไม่ถึงดวงดาว” อีกตามเคย. (2550, ธันวาคม 14-20). สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, 55(12), 27. 

สุวัฒน์ เทพอารักษ์. (2550, พฤศจิกายน 30-ธันวาคม 6). การแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ. สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, 55(10), 12-13. 

อภิชา สืบสามัคคี. (2551). โลกร้อน : ปรากฏการณ์ธรรมชาติเข้าขั้นวิกฤติ? กรุงเทพฯ : มายิก.