หน้าที่ & ความรับผิดชอบต่อสภาวะโลกร้อน (Global Warming)
- สภาวะโลกร้อน ไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่ไกลตัว
แต่เป็นวาระโลกที่ไทยต้องตระหนักถึงปัญหานี้ให้มากยิ่งขึ้น และต้องปรับตัวเร่งหาหนทางหยุดยั้ง มหันตภัย ทั้งหลายทั้งปวงอันเกิดจากภาวะโลกร้อนนี้ให้ได้
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตแล้ว เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 ซึ่งดำรงสถานะเป็นประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ที่อยู่ในกลุ่มกลไกการพัฒนาที่สะอาด สามารถเลือกเข้าร่วมโครงการได้ตามความสมัครใจ โดยไม่มีข้อบังคับใดๆ เป้าหมายของพิธีสารเกียวโต คือ ต้องการให้ประเทศเหล่านี้ร่วมลงนามยินยอมลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศลง ก่อนพิธีสารเกียวโตจะหมดอายุในปี 2555 แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สหรัฐฯ และจีน ยังไม่ตระหนักถึงภาวะวิกฤติของโลกร้อนอย่างจริงจัง
จากการคาดการณ์ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (2537) พบว่าในทุกๆ ปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย2.5-6 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสานจะแล้งหนัก ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพียงแค่ 2.6 ตัน/คน/ปี ถึงแม้ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่ได้กำหนดไว้แต่เราก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อการปลุกจิตสำนึกให้คนไทยหันมาห่วงใย ตระหนักถึงธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นเพียงการคาดการณ์ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยก็ตาม ผลของความเสียหายจะขยายไปบริเวณกว้างเพียงใด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตลอดจนภาคธุรกิจ ต่างต้องอาศัยความร่วมใจกันหาแนวทาง เพื่อวางมาตรการให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
- ไม่ว่าเราจะอยู่ในภูมิภาคใดของประเทศ ทุกคนต่างก็มิอาจจะหลักหนีปัญหาจากสภาวะโลกร้อน ไปได้...
สังคมไทยมีลักษณะเป็น สังคมการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ แหล่งป่าไม้ แหล่งอาหาร แหล่งพลังงาน หรือแม้แต่สารประกอบต่างๆ ในดิน
ปัญหาเหล่านี้... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงย่วงใย โดยทรงโปรดฯ พระราชทานแนวพระราชดำริทุกขั้นตอน เพื่อจะให้สิ่งแวดล้อมกลับคืนมา... อันถือได้ว่า เป็นสิ่งที่สร้างสมดุล และเกื้อประโยชน์ ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หากเราต่างพร้อมใจกัน ดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาโลกร้อนที่ใกล้ตัวเรามาทุกขณะ ได้อีก
-
อนาคตของโลกนี้จะเดินไปสู่จุดไหนมนุษยชาติจะมีวิถีชีวิตกัน อย่างไร ถ้าสภาวการณ์ของสภาพดินฟ้าอากาศเลวร้ายลงไปอีก...?
สำหรับสถาบันการศึกษา ซึ่งถือเป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ ให้แก่สังคม ประเทศชาติ ควรแสดงเจตนารมณ์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหา สภาวะโลกร้อน โดยแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วง จึงควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในอันดับต้นๆ โดยอาศัยบทบาทและวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำ ที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อ สภาวะโลกร้อน ที่จะเกิดผลร้ายแรงในอนาคต เพื่อให้ประชาชนร่วมรับรู้ เช่น
-
จัดให้มีการสัมมนาในกลุ่มผู้บริหารสถาบันการศึกษาทุกระดับ ให้ร่วมกันจัดทำโครงการรณรงค์คืนสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อจะทำให้โลกพลิกฟื้นสู่สมดุลทางธรรมชาติ
-
ส่งเสริมการบูรณาการศาสตร์ในสาขาวิชาต่างๆ สู่การแก้ปัญหาแบบยั่งยืน นำความรู้จากการค้นคว้าวิจัยทุกสาขา มาร่วมกันหาทางออกที่เป็นรูปธรรม นำขยายสู่สังคมโดยรวม
-
จุดประกายให้แก่ประชาคมในสถาบันร่วมรณรงค์ สร้างสรรค์กิจกรรมและให้มีการสานต่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ เรียนรู้ความเป็นไปของโลก และร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต
-
ให้มีการบรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวกับนิเวศวิทยาทางธรรมชาติ โดยส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เกิดการเรียนรู้และสร้างวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลไปสู่อนาคต ให้เป็นผู้พิทักษ์มิใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อสิ่งที่มีชีวิตทุกๆ ชีวิตบนโลกใบนี้
-
หัวใจสำคัญก็คือการสร้างสามัญสำนึก เพื่อเหตุเดียวกัน (Common Sense for Common Cause) ในที่นี้ คือ ความเชื่อมั่นในแนวทางที่จะร่วมมือกันรับผิดชอบรักษาดูแลโลก เพราะเรา คือ ผู้ที่พึ่งพาอาศัยโลก เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมชนิดอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องพึ่งพาซีงกันและกัน
สถาบันการศึกษา คือ สถาบันที่ให้บริการสังคม ในด้านการศึกษา ย่อมมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บรรดานักศึกษา นักวิจัยคณาจารย์ของทุกภาควิชาตลอดจนคณะผู้บริหาร ฯลฯ ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะรับรู้ เพื่อมีส่วนร่วมค้นหาหนทางสู่การแก้ปัญหา สภาวะโลกร้อน แสดงวิสัยทัศน์ผู้นำเป็นแบบอย่างของการวางรากฐานสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ในอนาคต
ในสภาวการณ์เช่นนี้ ถ้าทุกๆ คน พร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติการในด้านต่างๆ จนเกิดเป็นรูปธรรมย่อมสามารถลดกระแสแห่งความวิตกกังวลและภาวะวิกฤตไม่ให้รุนแรงไปมากกว่านี้
มนุษย์ในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งบนโลกใบนี้ เป็นหน่วยหนึ่งของสังคมจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง...? คงได้รับคำตอบในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน อาจต้องพึ่งพาพลังงานมนุษย์ และใช้สติสัมปชัญญะด้วยการสร้างกฎระเบียบในการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน ภายใต้ข้อปฏิบัติ เช่น :
-
เริ่มที่ตนเองก่อน
-
ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งาน เช่น คอมพิวเตอร์ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ
-
ปรับและติดตั้งตัววัดอุณหภูมิในเครื่องปรับอากาศ ให้เหมาะสม กับอุณหภูมิขณะนั้น
-
เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแบบประหยัดแทนหลอดไฟอื่นๆ เพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซต์
-
ปลุกจิตสำนึกของสมาชิกในองค์กร ขยายสู่ชุมชน สังคม เมือง และประเทศ
-
ปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์ได้ดี
-
ร่วมรณรงค์ ให้พยายามใช้พลังงานมนุษย์แทนพลังงานอื่นๆ บ้างตามความจำเป็น
ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น
ปรากฎการณ์ของภาวะความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกเราในปัจจุบัน ก่อให้เกิดเป็นวัฏจักรที่เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ “สภาวะโลกร้อน” (Global Warming) และส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล สัญญาณเตือนภัยเหล่านี้ ปรากฎเด่นชัดขึ้น บ่อยครั้ง และในเวลาใกล้เคียงกันความแปรปรวนของภูมิอากาศ รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น แผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคของโลก... ดังเช่น
-
การเกิดฤดูกาลที่ผิดปกติในหลายประเทศ
-
การเกิดหิมะตกแบบบางเบาในกรุงแบกแดด ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน
-
การเกิดคลื่นความร้อนในทวีปยุโรป
-
การเกิดพายุเฮอร์ริเคน แคทรินา ที่ถล่มเมืองนิวออร์ลืนของสหรัฐอเมริกาจนเสียหายอย่างมหาศาล
แม้แต่ประเทศไทยของเราเองก็เกิดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวเช่นกัน คือ ได้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นเผชิญกับคลื่นยักษ์ สึนามิ ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายๆ ปี... ที่ผ่านมา
สภาวะโลกร้อน (Global Warming) คือสภาวะที่โลกในระดับเหนือพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิที่สูงเพิ่มขึ้น โดยนับจากค่าเฉลี่ยจากช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ประมาณ 0.7 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก เนื่องจาก โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ ห่อหุ้มด้วยชั้นของบรรยากาศ ที่ประกอบไปด้วยก๊าซต่างๆ มีสัดส่วนตามปริมาตรตามธรรมชาติ แต่มีก๊าซประเภทที่มีปฏิกิริยากับพลังงานแสงอาทิตย์ และความร้อนที่เกิดจากโลกเพียงไม่กี่ประเภท เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซโอโซนต่างมีคุณสมบัติกักเก็บและส่งผ่านรังสีความร้อนที่เกิดจากพลังงานแสงอาทิตย์สู่ชั้นของบรรยากาศจึงเรียกว่า ก๊าซเรือนกระจก หรือ Greenhouse Gas (GHG) ก๊าซนี้อาจเกิดได้ตามกระบวนการทางธรรมชาติ และจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกยุคใหม่ และการบริโภคสิ่งอำนวยความสะดวกของประชากรโลก ที่ทำให้ภาวะเรือนกระจกรุนแรงขึ้นทุกวัน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหินและเชื้อเพลิงต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ปรากฎการณ์ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกสูงขึ้นอย่างน่าวิตก ปัญหาภาวะเรือนกระจกรุนแรงขึ้นทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในลำดับต้นๆ ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปรวมกัน
กระแสการตื่นกลัวในครั้งนี้ นำไปสู่การกำหนดข้อผูกพันทางกฎหมาย ที่ให้ดำเนินการตามพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการร่วมมือกันรับมือกับ สภาวะโลกร้อน อันเป็นที่มาของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)
ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลงนามกันในปี พ.ศ. 2540 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 โดยให้นับหลังการให้สัตยาบันของรัสเซีย ซึ่งปล่อยก๊าซถึง 17% ของโลก
แหล่งที่มา : คมชัดลึก (19 มิถุนายน 2551) หน้า 12