onwin
Interviews

ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ : "อัสสัมชัญ" สร้างนักธุรกิจป้อนสู่ตลาดสากล

  

ด้วยวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์เริ่มแรกของ มหาวิทยาลัย ที่ต้องการที่จะมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพพร้อมออกสู่ตลาดแรงงานที่ไม่ใช่เพียงภาพในประเทศนั้น ทำให้ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติที่ประสบความสำเร็จและเป็นผู้นำด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่ต่างชาติให้การยอมรับเป็นอย่างดี

ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยา-ลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย นักบุญหลุยส์ มารี เดอร์มงฟอร์ต ในปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีการปรับตัวและมุ่งเน้นผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพออกไปสู่ตลาดได้อย่างไร รวมทั้งได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการแข่งขันในภาคธุรกิจที่นับวันยิ่งจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นนั้น เป็นคำตอบและวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจทีเดียว

หลักสูตรสำคัญการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นสำคัญที่สุด ต้องเป็นหลักสูตรของระบบนานาชาติ เด็กของเราที่จบจากที่นี่ต้องไปต่อที่ต่างประเทศได้ ซึ่งเด็กของเราก็เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยระดับท็อปเท็นของโลก เช่น มหาวิทยาลัยฮาว์เวิร์ด แสตนด์ฟอร์ด เคมบริดจ์ หรืออีกหลายๆ ที่ ทุกปีต้องมีนักศึกษาเข้าไปเรียนที่นั่นได้ทุกปี ตรงนี้ก็เป็นตัวพิสูจน์ให้เห็น หรือในเรื่องของการทำงานด้วย ส่วนมากนักศึกษาที่จบออกไปของเราก็ทำงานอยู่ในบริษัทข้ามชาติอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ เด็กของเราก็ไปอยู่ที่นั่นเยอะทีเดียวหรือแม้แต่อเมริกา ก็เป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่างเป็นต้น

แล้ววิธีการสอนของเราสอนล่ะอย่างไร? หนึ่ง คือเราพยายามเอ็กโพสเค้า ให้เขาได้รับมากที่สุด เราสอนเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ ให้เขาเข้าใจว่าวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร และมันต่างกันอย่างไร ให้เขารู้เขารู้เรา รู้เราแต่ไม่รู้เขาเราก็ไปไหนไม่ได้ สองต้องรู้จักเปิดหูเปิดตา เปิดอย่างไร? จะเห็นได้ว่าทุกอย่างในมหาวิทยาลัยของเราเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลทั้งหมด เวลานี้เรามีอาจารย์ 40 กว่าชาติ นักศึกษามีทั้งหมด 85 ชาติ 2 หมื่นคน หรือไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่เราต้องสามารถเทียบกับต่างชาติได้ เราต้องไม่อายใคร ตัวอย่างเช่น เรามีอินเตอร์เนชั่นแนล อินเฟอร์เร้น อยู่บ่อยๆ เอาเขาเข้ามาทำในนี้ ของเราเราก็ส่งเด็กออกไปเพียงแต่ตรงนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เราจะพยายามส่งเด็กออกไปในทุกครั้งที่มีโอกาส 

เราใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสารทั้งในการเรียนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนและอีกอย่างหลักสูตรของเราไม่เหมือนกับใครถึงแม้จะเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษเหมือนกันก็ตามทีแต่ของเราไม่เหมือนที่อื่นทุกโปรแกรมจะต้องเป็น Management Base หมายความว่า มีการบริหารจัดการ เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของทุกหลักสูตรในเอแบค ตัวอย่างเช่น เรียนพยาบาล คุณต้องเรียนบริหารจัดการไปด้วยไม่ใช่แค่เรียนพยาบาล ถามว่าทำไมเราถึงทำแบบนี้? ก็เพื่อว่า เมื่อนักศึกษาจบออกไป เขาจะไปเป็นลูกจ้างก็ได้ หรือจะไปประกอบธุรกิจเป็นของตัวเองก็ได้ ตามแต่สาขาวิชานั้นๆ ที่ได้เรียนมา ไม่ชอบก็ต้องเรียนเพราะเราบังคับ ทุกอย่างที่เราทำ เราไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นเพราะว่ามันเป็นเทรนด์ แต่มันเกิดขึ้นโดยการดีไซน์ ของเรามาตั้งแต่ต้น

ที่นี้ในแง่ของการแข่งขันการเรียนวิชาการจัดการอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องรู้จักความเป็น “ผู้นำ” การรู้จัก อินโนเวชั่น นี่สำคัญ ซึ่งสำหรับเรา อินโนเวชั่นอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการ รีอินโนเวชั่น ด้วย เพราะอะไร? นวัตกรรมอะไรก็ตามที่ออกมาใหม่ๆ เวลาผ่านไปสักพักก็เก่าแล้ว ฉะนั้น ก็ต้องรีโนเวตใหม่ ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่สามารถต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาได้ อย่าลืมว่าในโลกเรามีอะไรใหม่ๆ เกิดขั้นมาอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีนักศึกษาจากประเทศจีนมากที่สุด ถามว่าเพราะอะไร เหตุผลแรกเลย ต่างชาติที่เข้ามาในไทยที่ต้องการเข้าเรียนในสถาบัน ที่สอนภาษาอังกฤษ เขาจะไปที่ไหน? เขาก็ต้องมองหาสถาบันที่สอนด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่งไทยประเทศไทยก็มีอยู่ไม่กี่แห่ง อันที่สอง ทูตจากประเทศจีน เขาจะเป็นคนไปบอก อย่าลืมว่าเวลาเราเดินทางไปประเทศหนึ่งๆ สถานที่แรกที่เราจะขอความช่วยเหลือหรือขอข้อมูลก็คือสถานทูต

อันที่สองจีนเป็นประเทศใหญ่ และเราก็ไม่ต้องการให้เด็กมาจากที่เดียว เราต้องการ ให้มาจากทุกๆ มณฑล เราจึงต้องส่งคนของเราออกไปเพื่อทำความรู้จักและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยของเรา ก่อนหน้านี้เราก็เคยให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ กับรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของประเทศจีน เพราะฉะนั้นเขาจะรู้จักและสามารถบอกคนอื่นได้ว่าของเราเป็นอย่างไร เพราะเขาเคยมาดูของเราแล้ว และพ่อแม่เด็กของบางคนไม่มั่นใจ อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้โลกมันเปิด ประเทศจีนกับไทยอยู่ใกล้กัน เขาก็มาเที่ยวและเขาก็มาดู และบริษัทท่องเที่ยวเขาไม่รู้จะพาลูกทัวร์ไปไหนก่อนขึ้นเครื่อง เขาก็พาลูกทัวร์มาดูเอแบค เพราะสถานที่เราสวยงาม เขาเห็นเขาก็ทึ่งเขาบอกไม่นึกเลยว่าจะมีมหาวิทยาลัยอย่างนี้ในประเทศไทย

และเหตุผลอีกอย่างคือ เรื่องของค่าใช้จ่ายและความเป็นอยู่ ที่ถ้าหากนักศึกษาต่างชาติต้องการที่จะเรียนภาษาอังกฤษ ค่าใช้จ่ายเมื่อมาเรียนกับไทยนั้น มีราคาถูกกว่าที่จะไปเรียนประเทศอื่น รวมถึงประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ สงบ สะดวกสบาย นักศึกษาจีนและนักศึกษาต่างชาติจากประเทศต่างๆ จึงเลือกมาเรียนที่นี่ และที่สำคัญสิ่งที่จะได้กลับไปคือ เน็ตเวิร์คหรือคอนเน็คชั่นต่างๆ ที่ดีและเยอะเพราะอย่าลืมว่านักศึกษาของเอแบคนั้นมีพ่อค้าเยอะมาก เยอะกว่าที่อื่น 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งแรกที่ตั้งใจออกแบบสร้างขึ้นมาตั้งแต่ต้น เรามีหลักสูตรที่ไม่ใช่หลักสูตรธรรมดาเราไม่เหมือนของคนอื่นแต่เป็นหลักสูตรที่ฝังอยู่ในตัวของตัวเองซึ่งเด็กที่จบออกไปนั้นสามารถเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการได้เลยเพราะเราได้สอนวิชาการบริการจัดการให้เขาไปแล้วในตัวโดยธรรมชาติของหลักสูตรของเรา     ขณะนี้โลกของเรามันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เขาเรียกว่า โกลเบอลไร้ท์ เซชั่น ซึ่งแปลได้หลายอย่าง อาจจะแปลว่าครอบครัวเดียวกันก็ได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว อาจจะหมายถึงการเชื่องโยงไปในทุกๆ พื้นที่ในโลกนี้ โดยโลกของเราทุกวันนี้การเคลื่อนตัวก็ไว การติดต่อก็เร็ว หรือการเดินทางก็สะดวกมาก หรือถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่อีกซีกโลกหนึ่ง มันจะส่งผลกระทบไปที่อีกซีกโลกหนึ่งเสมอ     เพราะฉะนั้นกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงของโลกมันไวมากกับคำถามที่ว่าเราจะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปยังไงเราก็ตอบได้ว่าเราจะทำให้บัณฑิตของเราออกไปเป็น “พลเมืองโลก” อยู่ที่ไหนเราต้องไปได้หมดไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของโลกก็ตาม

 

แหล่งที่มา : ASEAN COMMERCE (Issue 01 September 2010) หน้า 17-19

สัมมนา 40 ปี เอแบค ว่าด้วยเรื่อง 'change'

ครั้งหนึ่ง ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เคยกล่าวไว้ว่า “ต้นไม้ที่ดี ต้องมีผลที่ดี ผลิตผลที่ดีแน่นอนก็จะกลับมาซึ่งชื่อเสียงของสถาบัน” บุคลากรทางการศึกษากว่า 60,000 คน ซึ่งเป็นผลผลิตจากต้นไม้ใหญ่แทรกซึมอยู่ทุกภาคส่วนธุรกิจ เป็นข้อพิสูจน์ที่ประจักษ์ให้เห็นถึงการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา 

ในวาระครบรอบ 40 ปีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จัดงานใหญ่ รวมพลศิษย์เก่า (get together) ปลุกพลังความคิด ระดมสมองร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัย Standfort สัมมนาหัวข้อ “Strategic Rapid Transformation in Public and Private Institutions” โดยมี Prof. Dr. Behnam N.Tabrizi กูรูแนวคิดด้าน “change” ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดีบารัค โอบามาในการทำ change campaign ร่วมแสดงทัศนะในงานครั้งนี้ด้วย 

จุดหมายของการสัมมนาหยิบยกประเด็นเรื่อง change ขึ้นมาพูดคุย เพื่อจุดประกายและสะท้อนภาพให้เห็นสถานการณ์ความเป็นไปของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเล็กสุดที่เกิดขึ้นในระดับบุคคล องค์กร หรือภาครัฐและเอกชน เท่านั้น แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ เห็นชัดได้จากสถานการณ์ความเคลื่อนไหวและวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของประเทศใดประเทศหนึ่ง ส่งผลกระทบกับประเทศที่อยู่อีกฟากของโลกให้ร่วมประสบชะตากรรมเดียวกัน ทุกอย่างถูกร้อยเรียงและเชื่อมเข้าหากันหมด ทั้งการค้า การขนส่ง พรมแดนความรู้ที่ไม่ปิดกั้นด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

สาระสำคัญของ “change” จึงต้องมองลึกไปที่เรื่อง การสร้างการรับรู้ระดับบุคคลให้เกิดขึ้นเป็นลำดับแรก เพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งเปลี่ยนแปลงที่ไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับ “คน” ขององค์กรให้ก้าวไปสู่ “คน” ของประเทศเพื่อแข่งขันได้ 

ไม่อาจปฏิเสธว่า อดีตใครเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ก่อนย่อมได้เปรียบ แต่ปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้พร้อมกันหมดด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่โลกนับจากนี้ไปจะไม่ได้แข่งขันกันด้วยการเข้าถึง “information” แต่จะถูกแทนที่ด้วยการให้ความสำคัญในเรื่อง “ความคิด”การใช้สมอง โดยเฉพาะเรื่องจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์เพิ่ม value-added ให้กับบุคลากร ในยุคที่ “information age” กำลังจะหมดไป “ageing society” เคลื่อนเข้ามา ทรัพยากรวัยแรงงานเป็นตัวจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศในยุค “knowledge society” การมีทุนมนุษย์ที่มีหัวสร้างสรรค์ย่อมสร้างความแตกต่าง และความแข็งแกร่งให้กับองค์กรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรทุกประเภท 

และเครื่องมือหนึ่งที่นำมาต่อกรสู้กับความเปลี่ยนแปลงได้คือ หลักการบริหารและพัฒนาองค์กร Organization development เพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัว เท่าทัน และก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง “ศาสตร์เรื่อง OD มันคือเรื่องการทำความเข้าใจ การเปลี่ยนแปลง เราพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เราสามารถมองเห็นโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ซึ่งจะสามารถทำให้เราแข่งขันได้และอยู่ได้ในตลาดโลก” ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ Organization Development Institute มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว 

การเรียนรู้เรื่อง organization development จึงเป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคลากรในองค์กรปฏิบัติงานด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้บริบทการแข่งขันทั่วโลก บุคลากรเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมืออาชีพตามแนวทางธุรกิจ และที่สำคัญคือความท้าทายก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเสียเอง 

“องค์กรเอกชน ภาครัฐ หากทำความเข้าใจเรื่อง organization development แล้วจะสามารถเตรียมบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นเหตุของที่มาทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับศาสตร์เรื่อง OD แล้วเราเชื่อว่า ศาสตร์นี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป” ดร. อุดม หงส์ชาติกุล กล่าว 

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกำลังก้าวสู่ปีที่ 41 สถาบันการศึกษาที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดโดยเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรทั้งการเปลี่ยนแปลงในแง่วิชาการ การปรับเปลี่ยนหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การเป็นผู้นำแถวหน้าด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนการมองเห็นและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาทำให้วันนี้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญสามารถยืนอยู่บนเวทีการศึกษาระดับชาติและนานาชาติได้อย่างองอาจ

 

แหล่งที่มา : วารสาร MBA (No. 140 November 2010) หน้า 103-104

 

เอแบค...change agent ด้วย 3D

แต่ไหนแต่ไรมา “Competency” ที่ใครต่อใครเรียกกันในสมัยนี้ว่า สมรรถนะในการแข่งขัน ก็มักจะตกอยู่ในมือมหาอำนาจ หรือเจ้ายักษ์ใหญ่อย่างอเมริกันที่กุมบังเหียนเศรษฐกิจ การศึกษา และเทคโนโลยี กินรวบครอบครองและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดไว้หมด ความได้เปรียบของอเมริกาเพราะพื้นฐาน การสร้างองค์ความรู้และผลิตศาสตร์แขนงต่างๆ ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้อเมริกาคงความยิ่งใหญ่มานับศตวรรษ 

น่าแปลกในความยิ่งใหญ่ กลับมีพิษร้ายแฝงอยู่ เพราะความเหิมเกริมและหยิ่งผยอง เศรษฐกิจที่เคยอู้ฟู่กลับซบเซา ส่งผลให้สมรรถนะทางการแข่งขันที่ครั้งหนึ่งอเมริกาเคยครอบครองต้องเพลี่ยงพล้ำ และตกมาอยู่ ในมือกำลังเกิดขึ้น และจะเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทนับจากศตวรรษนี้เป็นต้น 

โฉมหน้าทางเศรษฐกิจของ “เอเซีย” ในเวลานี้จึงไม่มีใครปฎิเสธได้ว่า ก้าวขึ้นแท่นผู้นำเศรษฐกิจในอนาคต ทุนมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพมากขึ้น การสั่งสมององค์ความรู้ และเตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมาได้อย่างถูกจังหวะ ไม่แปลกที่จะเห็น Business School ของเอเซียกำลังได้รับความนิยมจากนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น ทำหน้าที่ผลิตทรัพยากรบุคคลที่อยู่ในความดูแลให้สามารถออกไปแข่งขันไปบริหารธุรกิจตามครรลอง และเพิ่มสมรรถนะทางการแข่งขันให้กับประเทศ 

Developed 

ย่างก้าวสู่ปีที่ 41 ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (AU) สถาบันการศึกษาไทยที่ผลิตบัณฑิตออกรับใช้สังคมมาเป็นเวลายาวนานปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ว่า“Labor Omnia Vincit” ซึ่งเป็นภาษาละตินเมื่อแรกก่อตั้งยังคงสะท้อนแนวคิดการศึกษาและการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี “ความอุตสาหวิริยะเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จ” ความเพียรความวิริยะจัดว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศหรืออัจฉริยะ แต่การศึกษาคือการพัฒนาจิตใจตนเอง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตมากกว่าความสำเร็จที่วัดกันที่วัตถุหรือความเป็นตัวตน 

พัฒนาการที่เกิดกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญดำรงมาถึง 40 ปี หากไม่ ‘Change’ ให้เข้ากับยุคสมัยให้สอดคล้องและทันต่อโลก สถาบันวิชาการแห่งนี้คงไม่อาจที่จะยืนหยัดท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ เพราะสิ่งหนึ่งที่ตลาดการศึกษาในประเทศที่ผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศกว่า 265 แห่ง ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ประกอบกับ การปรับเปลี่ยนวิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฏและจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นอีกหลายแห่ง เพื่อรับใช้ประชากร 67 ล้านคน ทว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง ซึ่งมีประชากรเพียง 7 ล้านคน มีมหาวิทยาลัย 7 แห่งส่วนสิงคโปร์มีประชากร 4.5 ล้านคน มีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง เท่ากับว่าตลาดการศึกษาของไทยต้องแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อชิงพื้นที่นั่งของผู้เรียน

ปริมาณที่เรียกว่าเกิดสภาพ Over Supply ทำให้ Players หลายรายต้องปรับตัวให้ทัน มหาวิทยาลัยอัส-สัมชัญเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาล ทว่าอยู่ภายใต้การดูแลและสนับสนุนทางการศึกษาจากมูลนิธิเซนต์คาเบรียบล ทำให้การขับเคลื่อนองค์กรไม่ได้ยืนอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง อีกทั้งการอุทิศตนเองเพื่อการศึกษาของคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ทำให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงภายในมหาวิทยาลัยจึงถือว่าเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับสถาบัน และสิ่งที่ต้อง ‘Developed’ หลักสูตรการเรียนการสอน คณาจารย์ เทคนิคการเรียนต่างๆ

เงี่ยหูฟัง 'เสียง'

สิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเป็นเพราะการฟังเสียงจากภายนอก เสียงในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เสียงนก เสียงกา แต่เป็นเสียงที่สร้างคุณูปการให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนา “ศิษย์เก่า” หัวจักรสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังเป็นภาพสะท้อนบัณฑิตที่จบออกไปพร้อมๆ กับตีโจทย์ข้อบกพร่องเมื่อก้าวออกไปสู่โลกแห่งการทำงานนำกลับมาเพื่อพัฒนาให้เกิด “คุณภาพ”ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้เหมาะสมและทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“สิ่งที่ดีงามที่เกิดขึ้นกับเรามาจากนักศึกษา จากศิษย์เก่า เป็นคนให้ฟีดแบ็คกลับมา รู้สึกว่าหลักสูตรเป็นอย่างไรภายนอกเป็นอย่างไร แล้วกลับมาเปลี่ยนแปลง เป็นประเพณีนี้มานาน เราปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เปลี่ยนแปลงแทบทุก Semester แต่ยังอิง core subject” ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยอัสสัม-ชัญ กล่าว 

การไม่หยุดนิ่ง ปรับเปลี่ยน พัฒนาตลอดเวลา แม้สิ่งที่ดีอยู่แล้วก็ยังต้องพัฒนาให้ดีขึ้นคือปรัชญาการบริหารจัดการที่เป็นสากลก็เหมือนอย่างที่ Peter Drucker เคยพูดเอาไว้ซึ่งโยงกับการพัฒนาปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการว่า สินค้าที่เคยได้รับความนิยม (yesterday’s superstars) ก็ยังคงต้องพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดสินค้าของวันนี้ (today’s superstars) และพัฒนาสินค้าปัจจุบันต่อยอดไปยังสินค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Tomorrow’s superstars) ซึ่งจะเป็นดาวดวงใหม่เกิดขึ้นแทนที่ ไม่ต่างจากหลายสิ่งที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในรั้วมหาวิทยาลัยทั้งหลักสูตรการศึกษาที่ต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนคณาอาจารย์ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสมัย และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากขึ้นทุกวัน  

“ของแบบนี้มันมาจาก Intuition ญาณ ตัวเราเองจะรู้จะเห็น ที่นี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจนมันกลายเป็นระบบ แต่ตอนนี้ จุดที่บอกได้คือ บังเอิญ ไม่โมโห ฟังเขาด่า สร้างหลักสูตรจำลอง เป็นจุดที่เปลี่ยนแปลง เรียนรู้ว่าต่อไปนี้ต้องฟัง ดูว่าเขามีความหวังที่ดี ให้สถาบันเจริญ เราอย่าไปสงสัย ส่งเสริมเขา มันทำให้เกิดสภาพใหม่ขึ้นมา ฟังเขาแล้วก็พัฒนาขึ้นมาใหม่ได้” ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ กล่าว 

ความเป็น nature ของมหาวิทยาลัย คือ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มหาวิทยาลัยก็เหมือนกับ “คน” ย่อมต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องบนเศรษฐกิจฐานความรู้ และ การเรียนรู้ต้องเป็นแบบ Life Long Learning องค์ความรู้ที่เปลี่ยนโลกจากอดีตก็เพื่อเป็นวันนี้และพัฒนาต่อไปเพื่ออนาคต “ตัวมหาวิทยาลัยถูกเทรนให้เป็นผู้ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะถ้าตัวเองไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ไม่ฟังเสียงคนก็ดื้อหมดสภาพที่ Organization ต้องมี Constant Change เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องปรับตัวเองให้ได้ สภาพนี้เราก็เตรียมตัวไว้แล้ว อ่านเครื่องหมายกาลเวลาให้ออก ให้เป็น แล้วพร้อมจะเปลี่ยนแปลง ทำให้ตัวเรามี Sensitivity แบบหนึ่ง มันเป็นเครื่องหมายหยั่งรู้” 

“หลักสูตร” ปรับตามสมัย 

คุณภาพทางการศึกษาวัดได้จากหลักสูตรการเรียน-การสอน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนานักศึกษาไปตามแนวทางสายอาชีพ ทั้ง 11 คณะ ได้แก่ บริหารธุรกิจ ศิลปศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และดนตรี School ทั้งหมดต้องมีการทบทวนและปรับปรุงหลักสูตรอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 3 เดือน ให้เป็นไปตามสภาพบริบท เช่น บางสาขาเป็นที่เคยเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ปัจจุบันกลับไม่ได้รับความนิยมก็ต้องมีการพิจารณาทบทวนหลักสูตรใหม่เพิ่มเนื้อหาที่เป็นกระแสและอยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน อย่างล่าสุด เอแบคเปิดหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (MA.IR) รองรับการแข่งขันตลาดการค้าเสรีอาเซียน เตรียมความพร้อมของผู้เรียนให้เข้าใจสภาพธุรกิจของประเทศอาเซียน และวัฒนธรรมต่างๆ เรียกว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ก็ชนะร้อยครั้ง 

หลักสูตรด้านบริหารธุรกิจก็เช่นกันเป็นอีกหนึ่งสาขาซึ่งต้องปรับปรุงอยู่เสมอ เพราะธรรมชาติของบริหารธุรกิจไม่หยุดนิ่ง โลกการค้าเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ใครช้าก็ต้องพ่ายไปเป็นธรรมดา ความรู้เก่าที่ประยุกต์ใช้ไม่ได้ก็ต้องล้าสมัยไป แทนที่ด้วยความรู้ใหม่ที่ตอบโจทย์ธุรกิจสมัยใหม่ได้ดีกว่า หลักสูตรบริหารธุรกิจจึงต้องปรับ content เนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย เช่น เรื่อง Supply Chain ซึ่งกำลังเป็นกระแส แทนที่สาขาวิชา Retail Management หรือใส่เรื่อง CRM ซึ่งกำลังเป็นแทรนด์ในขณะนี้ ผนวกเข้ากับเนื้อหา ทั้งหลักสูตร Mini MBA, Automation and Industrial Management, Innovation Management, Tourism Management, Investment Analysis and Management รองรับการบริหารธุรกิจสมัยใหม่

ไม่แปลกที่ MBA ของเอแบค จะมีโปรแกรมให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนหลากหลายและสอดคล้องกับการทำธุรกิจ “MBA ของเรามีตั้ง 10 โปรแกรม เป็นตัวพิสูจน์ Sensitivity ของเราที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ที่อื่นตามไม่ทัน โดยไม่รู้ตัว มันเปลี่ยนยิ่งกว่าเปลี่ยนเสื้อผ้า จุดนี้สำคัญซึ่งบอกไม่ได้ มองไม่ออก แต่คนภายในที่สังเกตจะรู้ ภายในปีเดียวขึ้นมาหลายโปรแกรม”          ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ

หลักสูตรบริหารธุรกิจของเอแบคจึงเป็นการประสมประสานความรู้รอบด้านแล้วขมวดเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นโลกทัศน์ที่หลากหลายเพราะถึงแม้ว่าหลักสูตรจะมีความเป็นเฉพาะทางมากขึ้นทว่าก็ไม่ได้หลงลืมรายละเอียดปลีกย่อยที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะในการเรียนให้กับผู้เรียนให้สอดคล้องกับสภาพบริบทและสังคมในขณะนั้น 

ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยา-ลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า “ในยุคใหม่หลักสูตรมักจะประสมประสานหลาย Disciplines มารวมกัน ไม่ได้มีอันเดียว เราต้องมองให้ออก มีลูกผสม เราจะทันไหม จะสู้เขาได้ไหม การบริหารเป็นความต้องการของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา เพราะการบริหารเป็นจุดสำคัญมากแล้วไม่มีทางตายไปไหน MBA เป็นวิชา Core แต่ Differentiate ในแง่ของความพิเศษบางอย่าง”

หลักการปรับเปลี่ยนหลักสูตรของเอแบคจึงขึ้นอยู่ที่ 2 ประเด็นหลักคือ การหา Quality Framework โดยอิงข้อมูลและข้อเสนอแนะของบรรดาศิษย์เก่าที่เป็นเสียงสะท้อนจากภายนอกถึงความต้องการตลาดแรงงานขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาอาศัยองค์ความรู้ หรือการมีเครือข่ายพันธมิตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยการบูรณาการหลักสูตรวิชาพื้นฐานต่างๆ ให้หลากหลายและครอบคลุม MBA ที่เอแบคจึงมีถึงกว่า 10 สาขาวิชาด้วยกัน ซึ่งเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนหลักสูตรที่มีอย่างต่อเนื่องของเอแบค “เราทำ 2 หน้าที่คือ เราตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันเราก็ต้องมี Sense และเราก็ดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้ก่อน” 

ดร.กิตติ โพธิกิตติ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวเสริมว่า “MBA ของเอแบคก็เลยมี MBA Specialized เฉพาะด้านการเงิน การตลาด การจัดการระหว่างประเทศ ไอที ทำไมเราต้องมีเราต้องทำให้ทันเหตุการณ์และความต้องการของตลาด คนที่รับเด็กไปทำงาน เราต้องฝึกให้เขามีบรรยากาศจริง สามารถใช้ความรู้ในการเรียนการสอนที่ให้มาและเทคโนโลยีต่างๆ ไม่เสียเวลาไปทำเทรนนิ่งแล้ว” 

การเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ทันสมัยเปรียบเสมือนมีอาวุธคู่กาย เมื่อออกไปทำธุรกิจจริงย่อมมีภูมิรู้ที่จะแข่งขันและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและข่าวสาร เมื่อโลกเปลี่ยนไปทางใด บัณฑิตของเอแบคก็ย่อมสามารถปรับสภาพไปตามทิศทางได้อย่างเหมาะสม 

Inter สู่ global 

การค้าที่เชื่อมถึงกันหมดไม่ว่าคุณจะอยู่ทวีปไหนในโลก ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจที่กำลังเอียงกระเท่เร่มาหาฝั่งเอเชีย เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ศักยภาพการเข้าถึงแหล่งความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเป็นการกระตุ้นและเปิดโอกาสเตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยแห่งในเอเชีย เพื่อปรับกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์เดินหน้าพัฒนามหาวิทยาลัยให้แข่งขันได้กับต่างประเทศ 

การไหล่บ่าของผู้เรียนจากเอเชียไปยังยุโรปและอเมริกากำลังลดลงเรื่อยๆ อย่างผลการสำรวจของ The Indian School of Business in Hyderabad ในอินเดีย ระบุว่าแม้ว่านักเรียนนานาชาติจะมีเพียง 5% ที่เข้าคลาสเอ็มบีเอ แต่การสมัครหลักสูตรอื่นๆ จากนักศึกษานานาชาติเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในรอบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นภาวะ “ความสมดุล” ของการถ่ายโอนความรู้ มหาวิทยาลัยเอเชียหลายแห่งปรับกระบวนทัศน์ สร้างหลักสูตรที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างสอดคล้อง และเท่าทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนไป

“เราเป็นมหาวิทยาลัยที่แตกต่างมีความเป็นเอกลักษณ์เราเปลี่ยนตลอดเวลาเห็นกลุ่มคณะบราเดอร์เดินดูมหาวิทยาลัยระบบการเรียนของเราเป็น Attendance ตลอดเวลา มีความเป็นคลาสสิกมาก ตลาดประเทศนี้เรามาถูกจังหวะเราโตมาจากความเป็น International ตั้งแต่เริ่มต้นในแง่หลักสูตร ตัวสถาบันและสภาพแวดล้อม” ดร. กิตติ โพธิกิตติ กล่าว

ความแข็งแกร่งของเอแบคตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นแห่งเดียวที่มีหลักสูตรนานาชาติทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกมากกว่า 100 สาขาวิชา จุดเด่นนี้เองทำให้ตัวสถาบันมีความเป็นนานาชาติ

“นานาชาติ” ของเอแบค จึงไม่ได้หมายความเพียงแค่การมีหลักสูตรที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ หรือสอนให้กับนักศึกษาต่างชาติแล้วเรียกแทนมหาวิทยาลัยว่าเป็นนานาชาติทว่า “International” หมายความถึงแก่นของมหาวิทยาลัยทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบหลอมรวมเป็นหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทั้งหลักสูตรความรู้ที่เป็นสากล ซึ่งเป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ อาจารย์จากต่างประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ บรรยากาศในห้องเรียน และรอบมหาวิทยาลัยสร้างให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอยู่ในสภาพบริบทความเป็นนานาชาติอย่างสมบูรณ์แบบ 

ในความเป็นนานาชาติจึงมีความหลากหลายของสังคมนานาชาติ ซึ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติสัดส่วน 15% คิดเป็น 3,000 คน ทั้งจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา อิหร่าน ฟิจิ แอฟริกา จาก 80 ประเทศทั่วโลก รวมถึงคณาจารย์ชาวต่างชาติกว่า 400 คน จาก 40 ประเทศ ผนวกกับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรชั้นนำในต่างประเทศ ประกอบกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ นักศึกษาสามารถเทียบโอนวิชาและโอนหน่วยกิตไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้โดยเฉพาะ เช่น มหาวิทยาลัย Harvard, สถาบัน MIT, มหาวิทยาลัย Stanford, มหาวิทยาลัย Oxford, มหาวิทยาลัย Yale และมหาวิทยาลัย Cornell

“นักศึกษาที่จบไป ในปรัชญาของมหาวิทยาลัยเอง เป็นนักธุรกิจที่ค่อนข้างมีความกล้า กล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าถาม เราก็คงไว้อยู่ ความคิดอิสระ Freedom of Thinking เกิดความคิดต่างๆ มากมาย ถ้าเราบอกตรงนี้ก็ใช้ คนก็มี Perception ต่อเด็กเอแบคตรงนี้”ดร. กิตติ โพธิกิตติ กล่าว

ส่วนผู้เรียนเองก็ต้องคิดวิเคราะห์และมีมุมมองที่กว้างไกลมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะความรู้ในระดับประเทศแต่ต้องไปสู่ความรู้ที่เป็นสากล “การเสพความรู้ ข้อมูลข่าวสารเร็วมาก เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ด้วยความที่นักศึกษาเก่งขึ้น นักศึกษาถูกป้อนข้อมูลเร็วเกินไปทำให้ Lose ด้านกระบวนการคิด Analytical Skill และ Systematic Thinking ต้องวิเคราะห์ให้ได้ แม้ว่ารู้คำตอบล่วงหน้า จึงต้องฝึกให้นักศึกษามี Analytical Skill และ Systematic Thinking” ดร. สุนทร พิบูลย์เจริญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบัณฑิตศึกษา กล่าว

ตลาดการศึกษาสมัยใหม่ หากจะให้ทันต่อสภาวะเศรษฐกิจที่โลกทั้งโลกถูกเชื่อมโยงด้วยการค้า กระบวนทัศน์การบริหารงานของมหาวิทยาลัยก็ต้องมุ่งไปสู่ความเป็น Global ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกันที่จะก้าวไปสู่ Global ทว่าหากมหาวิทยาลัยปรับตัวได้และไปสู่ความเป็น Global ได้จริง นอกจากจะยกระดับคุณภาพทางการศึกษาในประเทศแล้วยังสามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้อีกด้วย เห็นชัดอย่างประเทศออสเตรเลีย รัฐบาลส่งออกการศึกษาไปยังทั่วโลก ดึงเม็ดเงินจากนักศึกษาทั่วโลกได้มาก ผู้เรียนจากหลากหลายประเทศมุ่งหน้าเรียนต่อที่ออสเตรเลีย จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เรียนต่อในออสเตรเลียปีๆ หนึ่งเป็นแสนคน สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล ประกอบกับออสเตรเลียเป็นประเทศเพียงไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายในพระราชบัญญัติ Education Services for Overseas ที่ให้ความคุ้มครองนักเรียนต่างชาติ

เอแบคก็พยายามวางตำแหน่งของตัวเองให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อเปลี่ยนไปสู่มหาวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้ในระดับGlobal Knowledge ผู้เรียนสามารถโอนหน่วยกิตไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศมี Double Degree และพร้อม ส่งออกความรู้ไปสู่ภายนอก เช่น กัมพูชา เวียดนาม จีน ลาว ส่งออกการศึกษาของมหาวิทยาลัยสู่ภายนอกมากขึ้นเช่นกัน

 “เราเป็น Global ไปแล้ว เอาหลักสูตรเราไปสอนที่เมืองนอก แล้วได้ดีกรี เรา Export Education ในประเทศเพื่อนบ้านเรา เอแบคไปหลายประเทศ เช่น กัมพูชา เวียดนาม จีน ลาว Double Degree เราไปถึงเมืองนอกแล้ว เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ” ดร.สุนทร พิบูลย์เจริญสิทธิ์ กล่าว

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัจจุบันตลาดการศึกษาแข่งขันกันรุนแรง แย่งชิงพื้นที่นั่งของผู้เรียน แต่นั้นก็เป็นผลดีเพราะทำให้เกิดการแข่งขันพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ตลาดในประเทศที่เกิดปริมาณ Over Supply ก็ต้องเปิดพื้นที่ใหม่ รุกเข้าไปยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งย่อมหมายถึงการบ่มเพาะผู้เรียนให้พร้อมก้าวไปสู่ความเป็น Global ในเวลาเดียวกัน 

Digital

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในยุค ICT มาตรา 65 ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงความสำคัญของการศึกษากับเทคโนโลยีว่า ต้องให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการผลิตรวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมีคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษากับเทคโนโลยีดิจิตอลนับจากนี้ไปไม่อาจแยกจากกันได้คนอย่าง บิลล์ เกตส์ ถึงได้ประกาศฟันธงในงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีประจำปี พ.ศ.2553 ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า รายวิชาที่ดีที่สุดอยู่ในอินเทอร์เน็ตแทนที่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยดังๆ อย่าง Stanford, Harvard และตำราเรียนที่เป็นเอกสารกระดาษจะหมดความสำคัญลงโดยมีตำราอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

และทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเชื่อมกันด้วยอินเทอร์เน็ต “Everything will converse on the Internet, the Internet will change the way you are, the Internet I will change the way you learn, the Internet will change the way you work, the Internet will change the way you play, the Internet will change everything, everything will converse on the Internet”

องค์ความรู้จากอีกฟากหนึ่งเดินทางมาได้ในเวลาไม่ถึงวินาทีใครไวกว่าและชาญฉลาดก็จะฉกฉวยนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้และในที่สุดแล้วมัลติมีเดียต่างๆ ก็จะเชื่อมโยงกันไว้หมดประเทศไหนใช้เทคโนโลยีได้ถูกทางก็ย่อมเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้นตามไปด้วย ระบบการศึกษาไทยในอนาคตก็ต้องเป็นเช่นเดียวกันพร้อมที่จะรองรับและเชื่อมโยงข้อมูลการศึกษาไว้ทั่วถึงกันหมดต้องสร้างให้ห้องเรียนเป็นทั้ง Classroom Technology ไปสู่ Virtual Classroom จำลองสถานการณ์ต่างๆ ได้เสมือนจริงจนไปถึงขั้น Blended Learning Technology โดยนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์และซอฟท์แวร์ ที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาการเรียนการสอน 

Cyber University 

ความว่องไวและปรู๊ดปร๊าดของเทคโนโลยีทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งต่างหยิบยกประโยชน์ของเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อกับการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย และสะดวกมากขึ้น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอยู่ในฐานะพร้อมจะปรับเปลี่ยนองค์กรได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว สัญลักษณ์ “ม้า” 5 ตัวที่วิ่งอยู่บนทะเลสาบ จึงเสมือนภาพที่สะท้อนให้บุคคลภายนอกเห็นถึงความพร้อมที่จะเป็นผู้นำกระโจนเข้าหาสิ่งแปลกใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามาในประเทศไทยปี1964พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อสถานภาพทางการศึกษาของหลายมหาวิทยาลัย เอแบคมีจุดแข็งด้านธุรกิจและความเป็นนานาชาติ ภาพลักษณ์ที่ออกสู่สังคมเป็นองค์กรที่กระฉับกระเฉง ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อไอทีเข้ามาก็ไม่รีรอที่จะนำเทคโนโลยีที่มีมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนจึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่นำเทคโนโลยีมาใช้และยังเป็น Founding Member of the Internet Society ในเวลานั้นก่อนใคร

คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและติดตั้งอยู่ทุกจุดของมหาวิทยาลัยเป็นภาพแปลกตาหากย้อนไปหลายสิบปีเมื่อเอแบคเริ่มนำคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้กิจกรรมแรกที่นักศึกษาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องคือ การลงทะเบียนล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต การบังคับให้ผู้เรียนต้องลงทะเบียนผ่านทางอินเทอร์เน็ตทุกคนกลับเป็นผลดีต่อทั้งผู้เรียน ผู้สอน และมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นภาพการเข้าอินเทอร์เน็ตของนักศึกษาจึงกลายเป็นภาพที่เจนตา

ความคิดก้าวหน้าของเอแบคต้องบอกว่าล้ำหน้าไปมาก หลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก ล้วนนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น อย่างหลักสูตร iMBA (Master of Business Administration) ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้ก็นำเทคโนโลยีเชื่อมต่อการเรียนรู้ Mobile Technology ผสานกับเทคโนโลยี Live Broadcast เปิดโลกทัศน์ให้แตกต่าง ฉีกกรอบในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวออกไปสู่โลกอินเทอร์เน็ต โดยพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยบน App Store ผู้เรียนสามารถเข้าสู่เนื้อหาบทเรียนได้ตลอดเวลา รับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยแบบ Real Time อีกทั้งหลักสูตรปริญญาเอกก็สอนเป็น e-Learning (Ph.D. in eLearning Methodology) ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในโลกที่มีการสอนด้วยระบบนี้ ซึ่งเอแบคล้ำหน้าไปถึงการสอนขั้นที่เรียกว่า Blended Learning Technology มาผนวกเข้ากับการเรียนการสอน โดยมี Digital Library และการเข้าถึง Database จากต่างประเทศ

“ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหลังจากคอมพิวเตอร์เข้ามาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเดิมก่อนหน้านี้เราเป็นวิทยาลัยเล็กๆรู้แต่เรื่องบริหารธุรกิจ เดี๋ยวนี้เราเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในโลกด้านธุรกิจและคอมพิวเตอร์ เราเป็นที่ยอมรับทั่วโลก” ศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าว

ดิจิตอลไม่เพียงช่วยให้ระบบการศึกษาถูกเชื่อมโยงไว้ด้วยเครือข่ายเดียวกันทั้งมหาวิทยาลัยทว่าประโยชน์ของเทคโนโลยียังช่วยดึงความสนใจของผู้เรียนซึ่งเป็นกลุ่มตลาด generation ใหม่ ดึงผู้เรียนกลับสู่ห้องเรียนได้ การเรียนจึงไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป เพราะไม่สร้างกรอบให้กับผู้เรียน แต่นำความรู้ติดปีกเสริ์ฟให้ผู้เรียนไปทุกที่ทุกเวลา ซึ่งภาพการศึกษาระบบใหม่แบบนี้ แตกต่างจากการเรียนสมัยก่อนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผู้สอนเพียงแต่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์แล้วอัพโหลดเนื้อหาวิชาและแก้ไขกำหนดการต่างๆ ได้ เช่น เวลาเปิดลงทะเบียน เวลาเรียน หัวข้อที่เป็นเรื่องถกเถียง ถาม-ตอบได้ผู้เรียนก็เรียนได้ทุกที่ทุกเวลาหลายมหาวิทยาลัยนำบทเรียนอัพโหลดขึ้นยูทิวบ์ให้กับผู้เรียนสร้างมหาวิทยาลัยเสมือนจริงบนโลกอินเทอร์เน็ต (U-Town) สร้างความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยเพราะเทคโนโลยีเพียงตัวเดียว

“อนาคต Digital กับการศึกษาแยกกันไม่พ้น เป็น Cyber Education เด็กทุกคนต้องรู้การใช้คอมพิวเตอร์ ต้องรู้อินเทอร์เน็ต ถ้าไม่รู้ก็อยู่ไม่ได้แล้ว ธุรกิจในอเมริกาใช้อินเทอร์เน็ต 100% อินเทอร์เน็ตช่วยให้บริษัทเล็กๆ แข่งกับบริษัทใหญ่ๆ ได้” ศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน กล่าว

ต้องบอกว่าจริงๆแล้วธุรกิจและการศึกษาต่างก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งใช้เป็นแต้มต่อให้กับหลายองค์กรที่เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยี อย่างกรณี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นำเทคโนโลยีการถ่ายทอดความรู้ด้วยสตริมมิง วิดีโอ นำซอฟท์แวร์ AcuLe@rn เข้ามาใช้ในการจัดเก็บความรู้และส่งไปยังพนักงาน เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อการบริหารงานภายในองค์กร เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียน การสอน อาศัยฐานความรู้ที่รอบด้าน ทำให้ผู้เรียน คิดเป็น มีจินตนาการจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาต่อยอดองค์ความรู้ประยุกต์เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ขยายโอกาสการศึกษา เกิดการเรียนรู้ภายใต้คอนเซ็ปต์ มหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมทางการศึกษาได้ตลอดเวลา ประกอบกับเกิดความร่วมมือทางการศึกษาหรือเครือข่ายการศึกษาที่กว้างไกลมากขึ้น

Devoted 

จุดกำเนิดเล็กๆ ของการสร้างความดีและอุทิศตนเองไปสู่สังคมความดีงามที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยก่อนที่จะส่งต่อไปยังนักศึกษากว่าหลายชีวิตในใต้ร่มเงาพระคริสต์ ก็ต้องมาจากการมีบุคลากรที่เสียสละ อุทิศตนเพื่อการศึกษา พัฒนามหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง การบริการความรู้ไปสู่สังคมของมหาวิทยาลัย มี 2 ระดับ ซึ่งมาจากบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย และในนามสถาบันการศึกษา

ความดีงามที่ส่งต่อไปยังลูกศิษย์ เกิดจาก คณะภราดาเซนต์คาเบรียลเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อการศึกษา เรียกได้ว่าเป็นนักปฏิวัติการเรียนรู้อย่างแม้จริง คณะภราดาเซนต์คาเบรียลเป็นผู้หนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมหาวิทยาลัย ทั้งเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน การสวดมนต์เป็นบทสวดภาษาอังกฤษ ซึ่งเริ่มจากคณะภราดาฯ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ส่วนหนึ่งของความเติบโตจากความเป็นนานาชาติก็เริ่มจากจุดเล็กๆ จุดนี้เอง ตลอดจนการนำวิทยาการตะวันตกมาเผยแพร่ให้มหาวิทยาลัย เช่น การสร้างมหาวิทยาลัยให้ไปสู่จุดยืนที่ความเป็นนานาชาติ ดร. กิตติ กล่าวกับ MBA ว่า “เมื่อเข้ามาเอแบคแล้วหลายคนมองภาพ คณะภราดาเป็นความคลาสสิก เรามั่นใจบราเดอร์ การดูแลเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน”

ไม่เพียงเท่านั้น คณาจารย์หลายท่านยังปูพื้นฐานการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยนอกจากใส่เนื้อหาวิชาการลงไปแล้ว การสอนคุณธรรมและจริยธรรม “คิดดี” ให้กับผู้เรียนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งคณาจารย์ต่างมุ่งมาดปรารถนาให้ผู้เรียนได้รับเพราะคุณธรรมและจริยธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อใช้ประกอบกิจการต่างๆ โดยไม่ทำลายสังคม ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวม ในส่วนบทบาทของคณาจารย์ต่อสังคมยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานให้กับภาครัฐ โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานราชการ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปให้บริการสังคม เช่น เป็นที่ปรึกษาด้านไอทีในหลายๆ แห่งอีกด้วย

งานวิชาการรับใช้สังคม 

สถาบันการศึกษาย่อมถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุดมศึกษาต้องมีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคมและชุมชน (Social and Community Engagement) ทำหน้าที่จัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมอย่างบูรณาการ โดยการเชื่อมโยงผลงานวิจัยทางวิชาการกับโลกแห่งความจริง 

เวทีการประชุมใหญ่ระดับโลกมักต้องพูดถึงและหยิบยกเรื่องการศึกษามาพูดเสมอๆ อย่าง IMHE (Institute for Management of Higher Education) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) จัดเวทีสัมมนาเรื่อง Higher Education in a World Changed Utterly: Do More for Less ที่ประเทศฝรั่งเศส ระบุชัดให้สถาบันการศึกษาต้องเป็นแหล่งเชื่อมโยงความคิด (Brain) กับการปฏิบัติ (Hand) เชื่อมโยงนวัตกรรมกับการใช้ประโยชน์และความรับผิดชอบต่อสังคมเชื่อมโยงการเรียนการสอนกับการวิจัย โดยมีปลายทางการเชื่อมโยงคุณภาพการศึกษากับการรับใช้สังคมไปสู่การเชื่อมโยงวิชาการกับชุมชนและสังคม 

“เราต้องก้าวไปให้มากกว่านั้น เป้นที่รู้จักในฐานะสถาบันทางวิชาการ เราอาจจะร่วมด้วยมีบทบาททางการวิจัย กิจกรรมทางวิชาการต่างๆ มีส่วนร่วมกับสังคมโลกในเรื่อง Community ทางวิชาการ” กมล กิจสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว

การให้บริการของเอแบคไปสู่สังคมอีกอย่างหนึ่ง คือ การเปิด “ศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ซึ่งเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจัดว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคมและการจัดการที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์กับระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์และหลักสถิติในการทำวิจัยแบบ Real Time ซึ่งมีรูปแบบในการทำงาน 2 ลักษณะ โพลล์สาธารณะให้บริการแก่สังคม และสื่อมวลชน เช่น เมื่อแรกจัดตั้งศูนย์วิจัยนี้สำรวจความนิยมของประชาชนกับผู้สมัครทางการเมืองและผลก็เป็นไปตามโพลล์ระบุ ปัจจุบันศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ทำการสำรวจวิจัยครอบคลุมหลากหลายทั้งด้านพฤติกรรม ด้านการเมือง ด้านปัญหาสังคม ธุรกิจ การตลาด และการประเมินคุณภาพสื่อมวลชน เพื่อเป็นกระจกส่องให้เห็นปัญหาของสังคม

นอกจากนั้นแล้วเอแบคยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดตั้งศูนย์ ICE Center (Innovation, Creativity and Enterprise) ขึ้นมาดูแลเรื่องเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ โดยให้ความรู้สร้าง “พี่เลี้ยง” เป็นที่ปรึกษาให้กับเอสเอ็มอี ขยายต่อความรู้ เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเพื่อนำสินค้าไปต่อยอดได้มากขึ้น เพราะนอกจากเรื่องความแข็งแกร่งด้านวิชาการแล้ว ความรู้ที่ได้ผลิตออกมาก็ต้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อให้กับสังคมอีกทอดหนึ่ง ตอกย้ำให้เห็น “คุณภาพ” ของการเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคลังสมองของสังคม การมีศูนย์วิจัยและการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของสถาบันการศึกษาคือตัวชี้วัดหนึ่งในเรื่องการสร้างคุณภาพ และโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคมให้มากขึ้น มิใช่เพียงแต่ผลิตองค์ความรู้ด้านวิชาการและผลิตบุคลากรทางการศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียว

“การศึกษาถ้าจะพูดไปว่ามันไม่เหมือนสินค้า สินค้าจับต้องได้ เอามาดูรูปลักษณ์เห็นพอใจซื้อ อันนี้ไม่ได้ ต้องใช้ evidence ต่างๆ ก็ต้องสรุปอยู่แค่รักษาคุณภาพทั้งระบบ เช่น คุณภาพของอาจารย์ที่สอนดีที่สุด หลักสูตรต้องทันสมัย อุปกรณ์การสอน และห้องสมุดต้องเพียงพอสามารถเข้าถึงได้ง่าย สถานที่ควรจัดให้ดีพอสมควร เพื่อช่วยกล่อมเกลาจิตใจของคนที่มาหาความรู้” กมล กิจสวัสดิ์ กล่าว

มหาวิทยาลัยกับสังคมจึงต้องทำงานร่วมมือกันการบริการความรู้หรือการตอบแทนคืนกลับให้กับสังคมของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ถือเป็นภารกิจหลักที่จักต้องดำเนินการและเป็นหน้าที่หนึ่งของบุคลากรในสถาบันการศึกษาซึ่งออกมาในรูปของการผ่อนถ่ายงานวิชาการของมหาวิทยาลัยไปสู่สังคม โดยการให้บริการความรู้ต่างๆ เช่น ศูนย์วิจัย ABAC POLL และศูนย์ ABAC SIMBA (ABAC Social Innovation in Management and Business Analysis) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ให้ความรู้และข้อมูลงานวิจัยทางด้านการเมืองสังคมและธุรกิจ ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ หรือ ICE CENTER (Innovation, Creativity and Enterprise) เป็นศูนย์ให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ศูนย์พัมนาองค์กร หรือ ODI (Organization Development Institute) ให้ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรขององค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน และ ABAC Consumer Index โครงการสำรวจข้อมูลดัชนีผู้บริโภค เก็บรวบรวมข้อมูลผู้บริโภคจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างคลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนในปี 2011 โดยอิงอยู่กับการให้บริการสังคมของมหาวิทยาลัย 2 ระดับ คือ ระดับอาจารย์ โดยนำความรู้ไปเผยแพร่สู่สาธารณชน และส่วนของสถาบันคือการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมให้บริการสังคม

การจัดการศึกษาผ่านบุคลากรทางการศึกษามีส่วนสำคัญมากในระดับการศึกษาเพื่อให้ชาติพัฒนาไปได้อย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา และใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาบุคลากรของชาติ ซึ่งก็คือเยาวชนไทยในอนาคตที่จะเป็นคำตอบหรือเป็นตัวชี้วัดผลทางการศึกษา ส่วนผู้เรียนก็ย่อมต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ต้องกระหายใคร่รู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาตนเอง และแน่นอนว่า ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการศึกษาแบบใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของตนเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และสร้างแรงกระตุ้นในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ นำเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่เป็นเทคโนโลยีผ่านการถ่ายทอดความรู้มาสู่ตนเองเปลี่ยนองค์ความรู้ (Knowledge) เป็น ปัญญา (Wisdom) ช่วยกันพัฒนาประเทศชาติถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง 

กว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เดิมที “อัสสัมชัญ” ชื่อฝรั่งเศส “Le College de L’Assomption” ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “โรงเรียนอาซมซานกอเลิศ” (Assumption College) วันที่ 28 กันยายน 2453 เปลี่ยนชื่อเป็น “อัสสัมชัญ” อัสสัม เป็นคำบาลีมคธว่า อัสสโม แปลว่า อาศรม “ชัญ” แยกตามรากศัพท์เดิมเป็น “ช” แปลว่า เกิด และ “ญ” แปลว่า ญาณ ความรู้รวมเป็น ตำหนักที่สำหรับหาวิชาความรู้ 

     2512โรงเรียนอัสสัมชัญพานิชยการ 

     2515ได้รับวิทยฐานะเป็น โรงเรียนอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 

     2518ย้ายสังกัดขึ้นตรงต่อทบวงมหาวิทยาลัย เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ 

     2533ได้รับวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ” 

     สัญลักษณ์ตัวย่อ (AU) สัมพันธ์กับสัญลักษณ์ทางเคมี คือ ทองคำ

 

แหล่งที่มา : วารสาร MBA (No. 140 November 2010) หน้า 92-102

 

ABAC STEP FORWARD TO GLOBAL UNIVERSITY : 40 ปีเอแบค ทุกย่างก้าวแห่งการพัฒนา เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพ
“เอแบค แหล่งบ่มเพาะกล้าพันธุ์ทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณภาพ สู่สังคม สถาบันการศึกษาที่ยืนยัด มุ่งมั่น ในเรื่องความเข้มข้น ด้านวิชาการ ควบคู่จริยธรรม คุณธรรม ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 40 อย่าง แข็งแกร่ง”

จากคำพูดที่ว่า การศึกษาเป็นรากฐานแห่งชีวิตนั้น เป็นคำที่พูดกันมานาน และยังมีความ ทันสมัยอยู่ทุกยุคสมัย เพราะผู้ที่มีการศึกษาที่ดีนอกจากจะมีโอกาสมากมายในชีวิตแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาของประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งโดยระบบการศึกษาของไทยนั้น ถือได้ว่า เปิดกว้างทางการศึกษาอย่างอิสระ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การศึกษาสถาบันต่างๆ เกิดการแข่งขันกันขึ้นดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพแล้วนั้น ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ธุรกิจด้านการศึกษาของไทย มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน รวมไปถึงหลักสูตรใหม่ๆ ที่ทันสมัย และก้าวทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอดังเช่นทุกวันนี้

นอกเหนือไปจากองค์กรความรู้ด้านวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยยังเป็นเหมือนสถานที่บ่มเพาะด้านคุณธรรมและจริยธรรมของทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ ให้เป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ กอปรกับการเป็นคนดีของสังคม ดังนั้นในภาพรวมของการบริหารของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้มีสมบูรณ์พร้อมรอบด้านนั้น จึงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่

 เปิดศักราชสถานับการศึกษานานาชาติ

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค เปิดดำเนินการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1969 หรือ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว โดยคณะนักบวชเซนต์คาเบรียลซึ่งได้รับการสถาปนาจากนักบุญหลุยส์มารีย์ เดอะมงฟอร์ต ประมาณ 300 ปีมาแล้ว นับถึงวันนี้ได้ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ออกรับใช้สังคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งความเป็นมาอันยาวนานเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมั่นคงแน่วแน่ทางการศึกษา และความเชี่ยวชาญ ในการอบรมสั่งสอนเยาวชนให้เป็นผู้มีคุณธรรม เป็นทรัพยากรมนุษย์ผู้ทรงคุณวุฒิและมากด้วยจริยธรรมคุณธรรมอีกด้วย

อธิการบดีกิตติคุณ ภราดา ดร.ประทีป ม.โกมลมาศ กล่าวว่าปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่ว่า “Labor Omnia Vincit” หรือ “ความอุตสาหวิริยะ เป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จ” ถือเป็นฐานสำคัญของความเป็นเอแบค อันเป็นสถาบันการศึกษาที่คณะนักบวชเซนต์คาเบรียลก่อขึ้นมาโดยมีพันธกิจเป็นผู้แสวงหาความจริง และความรู้ คติพจน์ของเอแบค คือ การแสวง หาพระเจ้า และความรู้      

    

เอแบคเป็นสังคมนานาชาติ นักบวชเองมีหลายชาติ อาทิ  ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐฯ แต่มีพื้นฐานมาจากที่เดียวกันมีนโยบายการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันช่วยเหลือกัน มีความเป็นนานาชาติ เอแบคก็เช่นกัน เป็นศูนย์รวมของนักศึกษาจากนานาชาติที่จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจากนี้ก็จะทำให้มั่นคงแข็งแรงต่อไปทำให้นักศึกษาซาบซึ้ง และเข้าไปในบรรยากาศที่ว่านี้


ภราดา บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาของการดำเนินการมหาวิทยาลัยนั้นภารกิจสำคัญยิ่งคือมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพมีวิชาความรู้ที่ทันสมัยและมีคุณธรรมสามารถนำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาตลอดหลักสูตรไปใช้ในการดำรงชีพอย่างมีจริยธรรม เป็นคนเก่งและคนดีของสังคมดังนั้นระหว่างหลักสูตรการศึกษานั้นมหาวิทยาลัยได้พยายามสอดแทรกการปลูกฝังให้นักศึกษาของเราค่อยฯ ซึมซับวิถีแห่งการเป็นคนดีทีละน้อยๆ โดยวิธีการนี้จะทำให้เกิดประสิทธิผลที่มากกว่าเพราะอย่าลืมว่านักศึกษาส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น การที่จะสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมกับคนวัยนี้จะต้องมีกลวิธีที่ดี เพราะเราต้องการให้ผลผลิตที่เกิดจากเอแบค เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณภาพของประเทศและของโลก” 

 ก้าวสู่ปีที่ 40 กับความเป็นเลิศด้านการศึกษา

“คณะแรกที่เราเปิดคือ คณะบริหารธุรกิจ ต่อมาเราก็พยายามดูที่พื้นฐานของทุกอย่างว่ามาจากศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกสาขาวิชา มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการที่จะทำให้คนเป็นคนต้องอาศัยวิชาเหล่านี้ไปช่วยไม่ใช่คนเราเกิดมาเพื่อมีอาชีพอย่างเดียวหลายคนคิดว่าเรียนหนังสือเพื่อไปใช้หากินทำไมถึงต้องมาเรียนวิชาเหล่านี้ เราต้องสามารถสร้างคนให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขเราต้องดูประเทศชาติว่าประเทศชาติต้องการอะไรโลกนี้ต้องการอะไรแล้วประชาชนของเราต้องการอะไร เราได้จัดการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจมาระยะหนึ่งและได้เห็นแนวโน้มความต้องการของประเทศในด้านเทคโนโลยีมากขึ้น” ภราดา บัญชา กล่าว 

การแข่งขันเชิงธุรกิจที่มีสูงขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยต่างต้องค้นหาจุดขายให้กับตัวเอง ซึ่งจะต้องเป็นจุดเด่นที่สนับสนุนให้เกิดคุณภาพและทักษะแก่บัณฑิตให้เป็นที่ต้องการของตลาดและแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรม และด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารทำให้เอแบคได้วางแผนระยะยาวในการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้สนับสนุนการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆกับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียนเพื่อสนับสนุนพันธกิจดังกล่าว 

 เสริมสร้างทักษะการสอนให้อาจารย์ 

ภราดา บัญชากล่าวเสริม “ปัจจุบันเอแบคมี 2 แห่ง คือ ที่หัวหมากและวิทยาเขตบางนา โดยมีนักศึกษารวมทั้ง 2 แห่งราว 20,000 คนเรามีการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการเรียนการสอนทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยเอแบคได้ออกแบบการพัฒนาศักยภาพในส่วนนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการพัฒนาศักยภาพและทักษะของอาจารย์ และส่วนของนักศึกษา ซึ่งทั้งสองส่วนจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการยกระดับการศึกษาในภาพรวมของมหาวิทยาลัย”  โดยในส่วนของภาคการสอนนั้น เอแบคมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนด้านการเรียนการสอนและการวิจัยว่า ทั้งสองอย่างนี้เป็นของคู่กันต้องเดินหน้าไปด้วยกัน เมื่อมีอาจารย์ที่มีมาตรฐาน มีการเรียนการสอนที่ดีแล้วก็ต้องมีสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยด้วยเป็นงานที่ควรดำเนินควบคู่กัน เนื่องจากงานของอาจารย์นั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาข้อมูลทั้งที่อยู่ภายใต้หลักสูตรและนอกเหนือจากหลักสูตร โดยอาจารย์ผู้สอนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากคุณวุฒิคือ ความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ที่มีสู่นักศึกษา       

    

การคัดเลือกอาจารย์ของเอแบคจึงเป็นรูปแบบ เคสบายเคส เพราะต้องยอมรับว่า อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ไม่ไช่อาชีพที่มีรายได้สูงนัก ดังนั้นคนที่จะทำงานในด้านนี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมทั้งกายและใจ กล่าวคือ มีคุณวุฒิที่ตรงกับหลักสูตรและมีความพร้อมด้านจิตวิทยาด้วย ดังนั้นอาจารย์จำนวนมากของเอแบคจึงถูกคัดเลือกมาจากอาจารย์ผู้ช่วยสอน (TA) และสนับสนุนให้การศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ก่อนบรรจุเป็นอาจารย์ประจำ

นำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนทุกภาคส่วน 

สำหรับในส่วนของนักศึกษานั้นแน่นอนว่า ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น เอแบคเป็นมหาวิทยาลัยในระดับแนวหน้าที่มีความทันสมัยในเรื่องของการเข้าถึงการบริการด้านไอทีภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในชั้นเรียนนั้น ได้รับการเตรียมความพร้อมไว้อย่างเสร็จสรรพ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ ภราดา บัญชา กล่าว 

“สำหรับชั้นเรียนของเรานั้น หากว่า บทเรียนใดจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์สนับสนุนเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทางมหาวิทยาลัยเราจะมีการเตรียมความพร้อมรองรับกับความต้องการดังกล่าว เช่น หากต้องใช้ซอฟต์แวร์บางประเภทเราก็พร้อมที่จะสั่งซื้อมาให้นักศึกษาได้ทำการเรียนรู้ ในปริมาณที่มากเพียงพอสำหรับนักศึกษาทุกคน นอกจากนั้นแล้วในเรื่องของสภาพแวดล้อม ก็เป็นอีกส่วนที่เอแบคได้กำหนดให้เป็นมาตรฐานพื้นฐานที่ต้องใส่ใจ ทั้งในส่วนของบรรยายกาศโดยรอบมหาวิทยาลัยที่จะสร้างให้เกิดบรรยายกาศแห่งการเรียนรู้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักศึกษาทั้งในส่วนของ ระบบอินเตอร์เน็ต การเข้าถึงข้อมูลด้านวิชาการ การติดต่อสื่อสารกับอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และข้อมูลบทเรียนย้อนหลัง เป็นต้น 

ที่เอแบคทั้งสองแห่ง มีการนำไอทีมาใช้ในทุกๆ ด้าน ทุกพื้นที่ของเอแบคเป็นแบบไร้สายทั้งหมด มีทั้งที่นั่งเล่นพักผ่อน มีโน๊ตบุ๊ก เวลาไปไหนก็ต้องมีการเชื่อมต่อ เช่นเดียวกับยุคใหม่ที่ใช้ไอแพดในการดูเรื่องการเรียนการสอน ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้นี้อยากให้ก้าวหน้าต่อไป อยากให้ใช้เครื่องมือไร้สายมากขึ้น อาจารย์ก็ใช้สื่อสารการสอนจากที่บ้านได้ วันไหนมีประกาศฉุกเฉิน อาจารย์สามารถสอบผ่านออนไลน์ได้ การหยุดต้องมีการเรียน เป็นการเรียนแบบไร้สายจะได้ไม่เสียเวลาและโอกาสในการศึกษา  

“เทคโนโลยีสมัยใหม่ใช้เป็นก็เป็นประโยชน์ ใช้ไม่เป็นก็เสียเวลา การมองในแง่ของการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่จะเปลี่ยนกันง่ายๆ การเรียนคือการเปลี่ยนแปลง สมัยก่อนไม่มีใครเคยคิดว่าการศึกษาเปลี่ยนคนเราเอาการศึกษาเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนแปลง ภาษาอังกฤษถ้าเราไม่รู้เลยก็จะไม่มีโอกาสก้าวหน้า เรามาเรียนภาษาอังกฤษเพราะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ เชื่อมต่อกับข้อมูลทั้งหลาย วิชาความรู้ ใครเก่งก็ถาม ใครมีให้สอน ไม่ต้องกลัวว่าจะว่าโง่เง่า” ภราดา ดร. ประทีป กล่าว 

              

    E-Library ห้องสมุดออนไลน์ เพื่อการค้นคว้าแบบทุกที่ทุกเวลา 

การนำระบบไอทีมาใช้กับการบริหารจัดการส่วนต่างๆ ของเอแบคนั้น เป็นไปอย่างมีขั้นตอนและมีการวางแผนที่ชัดเจน ตัวอย่าง เช่น ในส่วนของวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายดายนั้นจึงได้ทำการปรับปรุงระบบการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีในห้องสมุด ดังนั้น ขั้นตอนการดำเนินการ คือ การจัดการระบบฐานข้อมูลบุคคล เชื่อมต่อกับระบบข้อมูลที่มีอยู่ในห้องสมุดและที่อื่นๆ 

สำหรับห้องสมุดของเอแบคนั้น นอกเหนือไปจากปริมาณหนังสือตำราที่มีอยู่อย่างมากมายนั้น ความทันสมัยของข้อมูลก็เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงสำหรับห้องสมุดแห่งนี้ อีกทั้งในขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำเป็น E-Library อย่างเต็มรูปแบบ โดยในอนาคต นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย จะสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หนังสือทั้งหมดที่มีอยู่ในห้องสมุดจะถูกจัดเก็บในรูปแบบของไฟล์ข้อมูล ซึ่งสามารถดาวน์โหลดไปอ่านเพื่อการค้นคว้าได้อย่างสะดวก ภราดา บัญชา กล่าว 

“ในอนาคต รูปแบบการอ่านหนังสือของคนจะต้องเปลี่ยนไป การอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ จะยังไม่ได้หายไป แต่อาจจะลดปริมาณลงส่วนหนังสือและข้อมูลต่างๆ จะอยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น คนจะอ่านข้อมูลผ่านอุปกรณ์โมบาย ผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากขึ้น ดังนั้น ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ ที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมากจำเป็นต้องได้รับการเผยแพร่และเปิดกว้างสู่ประชาชนทั่วไป ดังนั้น โครงการ e-library จึงเกิดขึ้น และเราคาดหวังว่าในอนาคต ห้องสมุดของเราจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญของประเทศและของโลก เพราะใครๆ ก็สามารถที่จะเข้ามาค้นคว้าวิจัย และใช้ข้อมูล อ่านหนังสือตำราต่างๆ ที่มีอยู่ภายในห้องสมุดเอแบคได้” ภราดา บัญชา กล่าว 

นอกเหนือไปจาก การนำข้อมูลจากหนังสือและตำราขึ้นสู่ระบบออนไลน์นั้น ระบบการยืม-คืน หนังสือแบบเดิม ก็ได้รับการปรับปรุงด้วยเช่นกัน โดยมีการใช้ระบบบันทึกข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์และส่งเป็นรายงาน การเข้าใช้ห้องสมุดของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อมูลในจุดนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยทราบถึงความต้องการใช้งานที่แท้จริง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงการเพิ่มเติมประเภท และปริมาณหนังสือ ให้ตรงตามความต้องการใช้งาน 

ห้องเรียนออนไลน์ e-learning แบบเต็มรูปแบบ

ด้วยหนึ่งในเป้าหมายของมหาวิทยาลัย คือ การเป็น World Class University นั้น ทำให้เอแบคจำเป็นต้องทำการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมออีกทั้งรูปแบบการเรียนการสอนที่บางครั้งต้องมีการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยยิ่งขึ้น 

“เอแบคมีนักศึกษาจำนวนมากที่เป็นชาวต่างชาติ นอกเหนือจากความโดดเด่นในเรื่องของหลักสูตรนานาชาติ ที่เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาจากประเทศต่างๆ ได้เข้ามาเรียนแล้วนั้นเรายังมีหลักสูตร e-learning ที่เป็นหลักสูตรออนไลน์ กล่าวคือ ผู้เรียนสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่การเริ่มต้นหลักสูตรจนถึงจบหลักสูตรเลยทีเดียว โดยชั้นเรียนแบบออนไลน์นี้ นักศึกษาสามารถคอนเน็กกับอาจารย์ผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียนแบบเรียลไทม์ รวมทั้งสามารถทบทวนบทเรียนย้อนหลังได้อีกด้วยซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเหมาะสำหรับนักศึกษาที่ไม่มีเวลาเข้าสู่ชั้นเรียนปกติหรือมีระบบเวลาที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มอาชีพ แอร์โฮสเตส หรือผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศบ่อยๆ” ภราดา บัญชา กล่าวเสริม 

ปัจจุบัน เอแบคสามารถผลิตมหาบัณฑิตจากหลักสูตรออนไลน์ได้จำนวนหนึ่งแล้ว และมีแผนที่จะขยายไปยังหลักสูตรอื่นๆ ต่อไป ซึ่งอธิการบดีเอแบคได้ขยายความเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยไม่ได้วัดที่จำนวนของบัณฑิตที่ผลิตออกสู่ตลาดแรงงานหรือภาคธุรกิจเท่านั้น หากแต่อยู่ที่ว่า บัณฑิตที่จบออกไปแล้วเมื่อเข้าสู่โลกของธุรกิจแล้ว สามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมานั้น บัณฑิตจากเอแบคได้รับการยอมรับจากทุกวงการว่าเป็นบุคลากรที่ทรงประสิทธิภาพและคุณภาพ ส่วนหนึ่งของบัณฑิตมักจะออกไปดำเนินธุรกิจของตนเองหรือสืบทอดธุรกิจของครอบครัว 

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า นอกเหนือจากองค์ความรู้ด้านวิชาการแล้ว บุคลากรเหล่านี้ต้องมีความรู้คู่คุณธรรมด้วย เพื่อนำพาองค์กร และประเทศชาติสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนและมั่งคง  

     นอกจากนี้บัณฑิตของเอแบคสามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ชั้นนำของโลกในสาขาวิชาต่างๆ ได้ทุกปี “เด็กของเราจะต้องเข้าเรียนต่อที่ไหนก้อได้ที่อยากจะเรียน ซึ่งนั้นหมายถึง ความสามารถของบัณฑิตจากเอแบคจะต้องอยู่ในระดับที่ได้มาตรฐาน หรือสูงกว่ามาตรฐาน” ภราดา บัญชากล่าวเสริม

เรียนรู้วิถีแห่งชีวิต ภายในรั้วเอแบค

“เด็กๆ มักจะพูดกันว่า ที่เอแบคนั้นเรียนยาก เรียนหนัก ทำให้ไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยเลย แต่ในความเป็นจริงนั้น คืออาจจะยากอยู่ตรงที่ภาษา เพราะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง แต่เฉพาะในช่วงแรกเองที่จะต้องปรับตัว สิ่งที่บราเดอร์เห็นคือ นักศึกษาส่วนใหญ่มีเวลาว่างค่อยข้างมากแต่ไม่รู้จะทำอะไร บางทีเห็นนักศึกษาบางคนนั่งว่างอยู่ไม่ได้ทำอะไร บางคนก็โทรศัพท์บ้าง ซึ่งไม่ได้อยู่ที่เขาไม่มีเวลา แต่ไม่รู้จักจะบริหารเวลาของตนเองมากกว่า ไม่รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เขาลืมไปว่า “time is money” หรือเขายังไม่ทราบซึ่งในคำกล่าวที่ว่า “time and tide wait for no man” ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญ ถ้าเขาตระหนักในสิ่งเหล่านี้เขาจะต้องศึกษาและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาตนเอง ความสามัคคีไม่ได้เกิดจากการทำกิจกรรมอย่างเดียว เกิดจากหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกปลูกฝังในตัวของนักศึกษา แน่นอนกิจกรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่มาช่วยสอน ต้องถามตัวเองก่อนว่าเราทำอะไรในแต่ละวัน ถ้าเพื่อนั่งฟังอาจารย์สอนแล้วก็กลับบ้าน มันก็ไม่เกิดประโยชน์เหมือนกับการเรียนของเขาอยู่ในระดับมัธยม 

ตรงนี้เขาต้องปรับเปลี่ยนวิถีของเขาให้ได้ เปลี่ยนจากระดับที่เป็นนักเรียนซึ่งเรียนรู้จากอาจารย์อย่างเดียว มาเป็นนักศึกษาชื่่อก็บอกอยู่แล้วต้องเป็นคนที่รู้จักศึกษาค้นคว้าแล้วรู้จักเรียนรู้ตัวเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ การเรียนมีหลายแบบ ครูที่ดีต้องสอนให้เด็กยืนบนขาตัวเองให้ได้ ครูเป็นเพียงผู้บริหารจัดการ บั้นปลายแล้วนักเรียนนักศึกษาต้องสามารถเรียนรู้ ค้นคว้าหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ 

เมื่อเขาต้องประสบปัญหา เพราะชีวิตในอนาคตไม่มีอาจารย์อยู่ด้วย ตัวเขาเองต้องเป็นคนสอนเขาเอง ต้องขัดเกลานิสัยตัวเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวของกิจกรรมโดยเฉพาะ หลายคนที่เข้าไปทำกิจกรรมอาจจะทะเลาะกันก็ได้ ความหมายของกิจกรรมในตัวของมันเองนั้นไม่ได้ขัดเกลาคนเสมอไป อาจจะนำสู่ทางไม่ดีก็ได้ แต่ถ้าเรามีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลานำความรู้มารวมเข้ากับการปฎิบัติ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น นำสิ่งที่เรียนรู้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพยายามปฎิบัติเหมือนอย่างสมัยก่อน เมื่อเราเป็นเด็กเรามักจะไม่อยากแปรงฟัน แปรงฟันแล้วมันเจ็บ แปรงแล้วถูกับเหงือก แต่อีกหน่อยพอรู้ว่าการแปรงฟันเป็นสิ่งสำคัญต้องทำให้ได้ ต้องฝึกจนกระทั้งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราต้องทำให้ติดเป็นนิสัย” 

“ขณะนี้เราไม่คิดว่าเราเป็นเบอร์หนึ่งของมหาวิทยาลัยเอกชน แต่เราคิดว่าเราทำดีเสมอไปเรามองอีกแบบหนึ่ง การอบรมคนของเราอาจจะไม่เหมือนใคร เราเน้นมโนธรรมในจิตใจที่ทำอะไรก็รู้อยู่ในตัวของตัวเอง การอบรมคนไม่ใช่ง่ายๆ เรายอมขาดทุน เรายอมให้เขาบ้าง แต่ถ้าสร้างความยุติธรรมได้ก็ถือว่าคุ้มและอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ คนทุกคนพิการทั้งนั้น ถ้าคนทุกคนเหล่านั้นไม่รู้จักการต่อสู้ชีวิต” ภราดา ดร.ประทีป กล่าวเสริม 

กลูกฝังรากฐานแห่งการเป็นคนดี 

“เรามีจุดเด่นตรงที่เราใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสื่อสารและภาษาธุรกิจ หลักสูตรของเรามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมีเนื้อหาของการบริหารจัดการเป็นพื้นฐานในทุกโปรแกรม พูดง่ายๆ ว่าเด็กของเราที่จบไปเราจะต้องให้เขาไปเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่ให้แต่ทฤษฎีอย่างเดียวต้องมีภาคปฏิบัติให้กับเด็กด้วย เรามีการจัดการเรียนการสอนด้านจริยธรรมวิชาชีพ (Professional Ethics and Service Learning) เพื่อสร้างนักศึกษาให้เป็นคนที่มีคุณธรรมในการปฎิบัติหน้าที่ หากถามว่าที่อื่นมีหลักสูตรอย่างนี้หรือเปล่า ตอบได้ว่ามี แต่สิ่งที่คนอื่นไม่มีคือ เราเป็นมหาวิทยาลัยคาทอลิก คำว่า คาทอลิก ไม่ได้อยู่ที่ชื่ออย่างเดียว

      

เรามีผู้บริหารเป็นนักบวช ดังนั้นในบริบทของมหาวิทยาลัยคาทอลิกที่มีผู้บริหารเป็นนักบวช จึงต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในด้านศิลธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในการให้การศึกษาอบรมแก่นักศึกษา และในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในภาพรวมด้วยมหาวิทยาลัยอื่นก็มีหลักสูตรนานาชาติ ตึกอาคารเรียนใหญ่ มีนักศึกษาต่างชาติเหมือนกัน แต่คุณค่า (Value) ทางด้านการเรียนการสอน การสื่อสาร ความสัมพันธ์ต่อกัน มันเป็นคุณค่าทางศาสนาที่เรายึดถือปฎิบัติติดต่อกัน นั่นคือ ศาสนาคริสต์สอนเรื่องความรัก ความเมตตา การรู้จักเสียสละ การรู้จักรับใช้เพื่อนคนอื่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราต้องพยายามปลูกฝังตัวของนักศึกษาซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการเรียนการสอนอย่างเดียว แต่จะเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรทุกคน ไม่เกิดเฉพาะในห้องเรียนอย่างเดียว แต่เกิดในทุกขณะ และเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในมหาวิทยาลัย” 

แหล่งบ่มเพาะกล้าพันธุ์ชั้นดี 

ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เอแบคได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นแล้วว่า สถานศึกษาแห่งนี้เป็นแหล่งเพาะกล้าพันธุ์ทรัพยากรมนุษย์คุณภาพดีออกรับใช้สังคม “หากให้ระบุนิยามของเอแบค เราคงต้องกล่าวว่า เราเป็นสถาบันแห่ง Transition & Innovation ซึ่งการที่เราจะเป็นเช่นนั้นได้จะต้องเดินตาม แนวทาว ปฎิบัติ 3 อย่างคือ by Design ซึ่งเราตั้งเป้าหมายว่าที่แห่งนี้จะเป็นสังคมนานาชาติ เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้และนักศึกษา นักวิชาการ อาจารย์จากหลายประเทศ ถัดมาคือ by Commitment ด้วยความเป็นนักบวช เราจึงมุ่งมั่นตั้งในการศึกษาด้านศาสนา เพราะทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดีและสุดท้ายคือ by Innovation หมายถึงเราจะเติบโตโดยอาศัยนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งการใช้นวัตกรรมนี้เองที่จำเป็นต้องปลูกฝังจิตสำนึกของการใช้งานให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกที่ควร” ภราดา บัญชา กล่าวเสริม 

ด้วยเป้าหมายและความมุ่งมั่นที่จะสร้างบัณฑิตซึ่งมีวิชาความรู้ที่ดี และต้องรู้จักการให้ การแบ่งปัน ความรู้ความสามารถให้ผู้อื่นได้รับรู้ และสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นจากความรู้ความสามารถที่มีดังนั้น ก่อนที่นักศึกษาทุกคนจะเรียนจบหลักสูตร มหาวิทยาลัยจะมีการจัดโครงการที่เรียกว่า Service Learning แนะนำให้ว่าที่บัณฑิตทุกคนได้เรียนรู้และวางแผนสู่การงานในอนาคต 

“เอแบคเป็นสถาบันที่ซึ่งให้ความรู้ สามารถทำให้คนที่เข้ามาศึกษาสามารถอยู่รอด และมีความสุขในสังคมและชีวิตของตนเอง ได้ค้นพบศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองและสร้างประโยชน์แก่สังคม” ภราดา บัญชา กล่าวทิ้งท้าย 

แหล่งที่มา : E-Leader [Vol.21 No.261 November 2010] page: 44-51