onwin
Interviews
 ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ : 360 องศา "Education-Driven Strategy"

“มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ” (Assumption University : AU) เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทยที่ติดอันดับ Top of Mind มานานนับทศวรรษ ด้วยความเป็นสากลที่แตกต่างอย่างยั่งยืนของ “AU” ที่ไม่เป็นสองรองใคร จากการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่งมากว่า 40 ปี และการเดินยุทธศาสตร์ทางการศึกษาแบบรอบด้าน 360 องศา เพื่อการผลิต “ทุนมนุษย์” ระดับคุณภาพระดับสากลสู่สังคม และที่เหนือกว่านั้น คือ เพื่อสร้าง “ทุนมนุษย์” ให้เป็น “ทุนของประเทศไทย” ในการสร้างความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกได้ !!  

“มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ” ที่มีประวัติความเป็นมาจากความมุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนกว่า 100 ปี ให้กับระบบการศึกษาไทยของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และต่อมาได้ขยายจนถึงระดับอุดมศึกษา ที่เน้นใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนเป็นแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นในนาม “Assumption School of Business” (ASB) ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 และสถาบันได้รับการรับรับรองอย่างเป็นทางการ และใช้ชื่อใหม่ว่า “วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ” (Assumption Business Administration College : ABAC) จนกระทั่ง 22 พ.ค. 2533 ทบวงมหาวิทยาลัยก็อนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อใหม่ว่า “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ” (AU) ซึ่งปัจจุบันเปิดสอนครบทั้งระดับปริญญาตรี-โท-เอก โดยยังคงใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน อีกทั้งยังได้ปรับปรุงระบบการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็น “ชุมชนนานาชาติ” ที่มีนักศึกษาและคณาจารย์ต่างชาติมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 80 ประเทศทั่วโลก 

ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวถึงภาพรวมของตลาดสถาบันการศึกษาว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ภาพธุรกิจเองก็เริ่มหันมาเปิดสถาบัน เพื่อสร้างแรงงานป้อนเข้าสู่องค์กรของตนเองโดยตรง ส่งผลทำให้สถานการณ์ตอนนี้อยู่ในภาวะ Over Supply หรือจำนวนที่นั่งในสถาบันการศึกษามีมากกว่าจำนวนนักศึกษาจริง นอกจากนี้ ตลาดการศึกษายังเป็นตลาดที่อ่อนไหวโดยตรงต่อ วิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ปกครองและนักศึกษา เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำย่อมทำให้กำลังซื้อของผู้ปกครองลดน้อยลงไปโดยปริยาย ขณะที่เนื้อหาของหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ก็มีความคล้ายคลึงกัน และมีบ้างที่ดัดแปลงหลักสูตรพื้นฐานให้เหมาะสมสำหรับวิชาชีพเฉพาะมากยิ่งขึ้น  

ส่วนปัญหาความผันผวนทางการเมืองนั้น ก็ส่งผลต่อแวดวงการศึกษาด้วย โดยเฉพาะการเปลี่ยนนโยบายทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งส่งผลให้สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน ไม่รู้ว่าจะเป็นการส่งเสริมกองทุนให้นักศึกษายืม การประกันคุณภาพ กรอบมาตรฐานคุณภาพ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรจากประเทศคลื่นลูกใหม่ที่พร้อมก้าวมาเบียดเราอยู่ทุกขณะ เช่น ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ เป็นต้น ในขณะที่คนไทยเองยังคงเคยชินกับการเป็นผู้ตาม นี่จึงอาจเป็นข้ออ่อนด้อยที่จะทำให้ถูกแซงหน้าไปได้ง่ายๆ  

ด้วยเหตุเหล่านี้เอง ภราดา ดร.บัญชา ได้ให้มุมมองในฐานะผู้กำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญว่า AU ต้องคอยสังเกตและปรับตัวเองให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา และยังคงความเป็นหนึ่งในผู้นำของวงการศึกษาไทย โดยมุ่งกลยุทธ์แรกไปที่การปรับปรุงหลักสูตรที่จะต้องคำนึงถึงความทันสมัยให้เท่าทันกับการแปรเปลี่ยนของโลก ขณะเดียวกันหลักสูตรต่างๆ ก็ต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล และเพื่อสร้างความแตกต่างและตอบสนองความต้องการให้ได้มากที่สุด AU จึงหันมาจับกลุ่ม Niche Market เพิ่มด้วยการสรรหาหลักสูตรใหม่ๆ ที่ไม่สามารถหาเรียนได้ในประเทศไทยมาเปิดสอน เช่น วิศวะการบินที่ไม่ได้สอนเพียงแค่การเป็นนักบิน แต่ยังสอนให้เป็นวิศวกรที่สามารถดูแลเครื่องได้ด้วย และที่ขาดไม่ได้ คือ การสอนภาษาต่างประเทศที่เป็นของคู่กับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญไปแล้วนั้น ปัจจุบันก็มีการสอนภาษาอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เน้นเพียงแค่ภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว  

นอกจากนี้ จุดแข็งทางด้านการเรียนการสอนที่เป็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของ AU ยังประกอบด้วย

  1. Business Language นักศึกษาที่จบการศึกษาไปอย่างน้อยต้องสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศที่ใช้ในทางธุรกิจได้อย่างน้อย 1 ภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น หรือภาษาฝรั่งเศส
  2. Entrepreneurship หรือ ทักษะการบริหารจัดการธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถนำไปสร้างธุรกิจของตนเองได้
  3. Ethics การเรียนการสอนถึงจริยธรรมของวิชาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ย่อยให้เด็กได้เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวันของตนเอง

“นักศึกษาที่จบออกไปแล้ว ต้องคิดเป็น แก้ปัญหาได้ และเรียนรู้ใหม่ด้วยตัวเองได้ แต่หน้าที่เหล่านี้ไม่ใช่ภาระของฝ่ายการศึกษาเพียงอย่างเดียว การจะให้นักศึกษาจบจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้วสามารถปฏิบัติได้ทันทีนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะเวลาในห้องเรียนมีไม่มาก ฝ่ายธุรกิจต้องมีส่วนผลักดันให้นักศึกษาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย”  

กลยุทธ์ถัดมาของ AU คือ การฉีกตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่าง การสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยพื้นฐานต้องเริ่มจากการวางแนวทางให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่อง TQF (Thailand Quality Framework) ซึ่งเป็นการควบคุมมาตรฐานระดับคุณภาพ ซึ่งในอนาคตก็จะพัฒนาไปสู่ AQF (Asian Quality Framework) เพื่อเป็นมาตรฐานที่น่าเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น 

เมื่อการจัดการภายในพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาของการจัดการช่องทาง (Channel) ให้สามารถเข้าถึงนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ซึ่งต้องเหมาะสมและง่ายกับผู้รับให้มากที่สุด ดังนั้น งานด้านไอทีจึงเป็นเรื่องที่ AU ไม่เคยมองข้าม   

ภราดา ดร.บัญชา เผยว่า มหาวิทยาลัยได้ลงทุนเรื่องนี้มานานอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยหยุดนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้กับมหาวิทยาลัยเลย อย่างไรก็ตาม แม้อิทธิพลของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษามากขึ้นก็จริง แต่ด้วยลักษณะนิสัยของเด็กไทยที่อาจจะยังไม่มีระเบียบวินัยมากนักเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก ทำให้การเรียนการสอนของ AU เลือกที่จะเดินด้วยวิธี Mix Mode คือ ต้องอาศัยทั้งการเรียนในห้องเรียน ซึ่งเป็น Traditional Classroom หรือการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติมาผสมผสานเข้ากับ Virtual Classroom หรือห้องเรียนเสมือน ซึ่งเป็นการเรียนการสอนผ่านทางอินเทอร์เน็ต 

นอกจากช่องทางการเรียนการสอนแล้ว ช่องทางการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อประชาสัมพันธ์ AU ก็เป็นเรื่องจำเป็น รวมทั้งการทำความเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายทางการศึกษาใน AU เพื่อสร้าง Brand Exposer และ Brand Perception เนื่องจากที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า AU มักมีภาพลักษณ์ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีค่าใช้จ่ายสูง และผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษาในต่างจังหวัดอาจจะไม่รู้จัก AU ดีนัก ทำให้เมื่อหลายปีก่อน AU เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่เข้าไปทำ Campus Visiting ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อแนะนำและให้ข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีการตั้งศูนย์ข้อมูลในจุดต่างๆ ตามสถาบันในเครือ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ศรีราชา เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้ในตอนนี้ก็คือช่องทาง Social Network ซึ่งถือเป็นช่องทางการสื่อสารแบบอินเตอร์แอคทีฟที่มีประสิทธิผลช่องทางหนึ่ง  

การเดินยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของ AU ด้วยเป้าหมายที่ต้องการทะยานสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และของโลกนั้นทำให้ AU มิได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมาย หากแต่ยังมีโลกทัศน์ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน "เสาหลัก" ของสถาบันการศึกษาด้วย 


การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจการศึกษา หากนักศึกษาที่จบออกมาแล้วสามารถนำความรู้มาประกอบอาชีพได้จริงก็นับว่าสถาบันนั้นประสบผลสำเร็จทางธุรกิจแล้ว แต่จะสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น หากสถาบันนั้นมุ่งสร้างศีลธรรมให้แก่บุคคล นอกเหนือจากการสร้างสติปัญญา !! 

ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค)

 

แหล่งที่มา : นิตยสาร Strategy + Marketing Magazine [November 25, 2011] page: 137-139

ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ

ABAC Globalizaion สร้างผู้นำท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง 

ในเรื่องการพัฒนาบุคลากร สถาบันการศึกษาถือเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่มีบทบาทหล่อหลอมคนทั้งทางด้านวิชาชีพ ภูมิปัญญา และองค์ความรู้ ดังนั้นในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษานั้นมีการพัฒนาไปอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่แข็งแกร่งย่อมเกิดจากรากฐานที่มั่นคง ดังเช่นที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า เอแบคนั้นสถาบันแห่งนี้ถือเป็นสถาบันแห่งแรกที่นำภาษาอังกฤษมาในการเรียนการสอนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2512 เกิดเป็นจุดแข็งนำหน้าที่ไม่เหมือนใคร

ในเรื่องนี้ ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี ขยายความให้ฟังว่า นี่คือจุดแข็งที่วางมาตั้งแต่ต้นเพื่อสร้างให้เอแบคเป็นชุมชนที่มีความเป็นนานาชาติ แม้ว่าในอดีตเอแบคคือมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่เปิดหลักสูตร International แต่หลังจากศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา กระแสความเป็นนานาชาติเริ่มเข้ามามาก โรงเรียนต่างๆ จึงเริ่มปรับหลักสูตรมาเป็น 2 ภาษา หรือ Bilingual รวมถึงการเปิดตัวโรงเรียนนานาชาติขึ้นอีกมาก จนปัจจุบันมีถึง 80 แห่ง “ในตอนนั้นเราเองว่า Globalization จะต้องเกิด ดังที่บรรดาเจษฎาจารย์ที่เป็นบรรพบุรุษของเราได้จัดหลักสูตรนานาชาติที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการหรือ ACC เมื่อกว่า 60 ปีนับว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ไกลข้ามศตวรรษ ซึ่งก็ไม่ได้คิดว่าจะเกิดเร็วขนาดนี้ ดังนั้นเรื่องของภาษาจึงเป็นเรื่องจำเป็น การรู้แค่ภาษาที่ 2 ในปัจจุบันอาจจะไม่พอแล้ว ทำให้คนเริ่มสนใจภาษาที่ 3 ที่ 4 แต่การเรียนรู้เพียงแค่ภาษายังไม่พอ ยังต้องมีเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ลักษณะการทำธุรกิจต่างๆ ด้วย”

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เอกลักษณ์ความเป็นชุมชนนานาชาติขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางกระแสโลภาภิวัฒน์ เอแบค จึงได้วางรากฐานการพัฒนาภายใต้แนวคิด The Land of Tradition and Innovation โดยคำว่า Tradition หมายถึง ขนบธรรมเนียมประเพณี มรดกตกทอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิชาความรู้คุณภาพการศึกษาทั้งในแง่อาจารย์ก็ต้องรู้จักคิดและสอนให้เด็กคิดเป็น รู้ถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีมุมมอง ทัศนคติที่ถูกต้อง และรู้จักการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม เรียกว่าต้องให้เด็กที่จบมาเก่งทั้งคนและเก่งทั้งงานอันเป็นการจัดการศึกษาตามหลักการจัดการศึกษาคาทอลิกที่กำหนดว่า “คนทั้งครบ” (Total and Complete Man) ขณะเดียวกันในโลกยุคใหม่การศึกษาต้องมี Innovation เช่นในแง่ของหลักสูตรที่นำระบบ IT มาใช้กับการเรียนการสอน นักศึกษาสามารถทบทวนบทเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตด้วยการดาวน์โหลดวิชาเรียนผ่านอุปกรณ์ (Devices) ประเภทต่างๆ เทคนิคการสอนใหม่ที่ไม่หยุดอยู่กับที่ หรือกระทั่งใช้ IT กับระบบการบริหารจัดการข้อมูลภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงการทำงานวิจัยต่างๆ

     “เราบอกเลยว่า เอแบค เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และทุกอย่างที่เราทำ เรานำคนอื่นตลอดเพราะสิ่งเหล่านี้เราดีไซน์ไว้ตั้งแต่ต้น”

นอกจากนี้แล้ว บราเดอร์บัญชา ย้ำว่า สิ่งที่เอแบค ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือกระบวนการด้านการเรียนการสอนที่เรียกว่าเป็นการสร้างความเป็นตัวตน ด้วยการให้อิสรภาพทางความคิด ผลักดันให้เกิดบุคลิกและอุปนิสัยที่เรียกว่า Characterist Traits ที่มีลักษณะเฉพาะของนักศึกษาเอแบค ไม่ว่าจะเป็นพูดภาษาอังกฤษได้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ การทำงานเป็น Teamwork กล้าโต้แย้ง กล้าแสดงความคิดเห็นด้วยความมั่นใจกล้าตัดสินใจ และเพื่อปูพื้นฐาน Characterist Traits ให้มีความแข็งแกร่ง รูปแบบการเรียนการสอนจึงมีส่วนสำคัญ โดยอันดับแรกที่เป็นเรื่องของวิชาการ ซึ่งนอกจากความรู้เฉพาะทางตามสาขาวิชาที่เรียนแล้ว ในทุกหลักสูตรจะมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ นั่นเพราะการบริหารจัดการคือพื้นฐานของการทำงานในทุกอาชีพ ไม่ว่านักศึกษาเรียนจบแล้วมีอาชีพอะไร ทนาย ศิลปิน วิศวกร ฯลฯ หากมีความรู้เรื่องการบริหารจัดการก็จะสร้างข้อได้เปรียบให้กับการเติบโตในเส้นทางอาชีพ รวมถึงการบริหารจัดการชีวิตด้วย

“นอกจากสอนด้านวิชาการ เราต้องสอนให้เด็กรู้จักชีวิต ดังนั้นเด็กทุกคนจะถูกสอนเรื่องจริยธรรมวิชาชีพตลอดทั้ง 4 ปีการศึกษา เป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียน ไม่มีหน่วยกิต แต่ถ้าไม่เรียนก็ไม่จบ เพราะอะไร...เหตุผลคือ จริยธรรมวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญในสังคมปัจจุบัน เราต้องการให้เด็กของเราเมื่อจบไปแล้วเข้าไปอยู่ในสังคม ไม่โกง อย่าเอากำไรกับสังคมอย่างไร้คุณธรรม รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกที่สำคัญปีสุดท้ายเราจะส่งเด็กไปเรียนรู้การทำงานในโลกภายนอก ซึ่งจะทำให้เด็กได้สัมผัสกับความเป็นจริง ไปดูว่าทั้งหมดที่เรียนรู้ไปนั้นเอาไปใช้ตรงไหนได้บ้าง ความรู้ความเฉลียวฉลาดที่ปราศจากคุณธรรมและจริยธรรมเป็นอันตรายต่อสังคมมาก”

 

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดเสรีตลาดการค้า การลงทุน และการศึกษา แน่นอนว่าย่อมมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น แต่อย่างน้อย บราเดอร์บัญชา อธิบายว่า ที่ผ่านมาเอแบค ได้ออกแบบสถาบันให้มีความเป็นชุมชนนานาชาติตั้งแต่ต้น ดังนั้นเรื่องภาษาและวิชาการแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนจึงได้เตรียมพร้อมให้นักศึกษาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้พื้นฐานของอาเซียนทั้งด้านสภาพเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรมรวมถึงทักษะและวิธีการทำงานกับคนชาติต่างๆ ที่มีความหลากหลายทางด้านเศรษฐสังคม (Socio-Economic Background) เพราะมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีนักศึกษานานาชาติ กว่า 3,000 คนจาก 88 ประเทศ ย่อมเป็นโอกาสในการเรียนรู้และอยู่กับความแตกต่างได้อย่างกลมกลืน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการพัฒนาความคิด และฝึกความเป็นผู้นำ “เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โลกใบนี้มีปัญหาอะไรเราต้องรู้ เช่น global warming ความยากจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหล่านี้เป็นปัญหาของโลกที่นับวันจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และล้วนส่งผลกระทบต่อตัวเราทั้งสิ้น การสอนจึงไม่ใช่แค่สอนให้ทำงานได้อย่างเดียว แต่ต้องสอนให้เด็กพัฒนาความคิด เพราะเมื่อมีอะไรเปลี่ยนแปลงก็จะสามารถคิดและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เป็นการต่อยอดและแก้ปัญหาได้ในทำนองมองปัญหาออก แก้ปัญหาเป็น”

ด้วยเหตุนี้ การเรียนการสอนในเอแบคจึงมีความเข้มข้น ซึ่งบราเดอร์บัญชา บอกว่าในระหว่างการเรียนการสอน 4 ปี นอกจากวิชาการปกติแล้วยังมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมให้นักศึกษาออกไปเผชิญโลกภายนอกได้อย่างมั่นใจ ซึ่งพอจะแบ่งคร่าวๆ ได้คือ ปีแรกจะเน้นให้นักศึกษารู้จักตัวเอง เรียนเพื่อต้องการอะไร ปีที่สองตัวดูตัวเองวว่าเก่งอะไร หรือมีศักยภาพอะไรที่จะไปพัฒนา ปีที่สามสอนให้รู้จักความเป็นผู้นำ ต้องการเด่นด้านไหนก็ศึกษาความรู้ด้านนั้นให้หมด เพื่อนำไปวางแผนกับชีวิต ปีที่สี่ต้องเรียนรู้การให้ รู้ว่าจะให้อะไรกับตัวเอง ให้อะไรกับผู้อื่น และให้อะไรกับสังคม

 “เวลาเราสอนคน เราไม่ได้สอนให้มีแต่สติปัญญา แต่เราสอนทั้งองคาพยพ ทั้งร่างกาย จิตใจ ร่างกายคือต้องแข็งแรง ต้องสมาร์ท มีสติปัญญา ส่วนจิตใจก็คือ emotion เพราะอารมรณ์กับสังคมเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องคุมอารมณ์ของตัวเราเองให้ได้ ตามหลัก “คนทั้งครบ” ที่กล่าวแล้ว

เพราะการศึกษาสร้างคน และการสร้างคนก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร คนที่ดีในสังคมก็คือคนที่มีคุณภาพ มีสติปัญญาบวกกับจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ เอแบค เน้นย้ำมาตั้งแต่ต้น

 

 แหล่งที่มา : Business+Top Universities 2012 หน้า 74 - 75

 "เอแบค" ตอกย้ำ ม.เอกชนหลักสูตรนานาชาติแห่งแรกของไทยรุกเปิดประตูการศึกษาสู่ภาคตะวันออก

ณ โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จังหวัดชลบุรี

กว่า 40 ปีที่เอแบค หรือ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญยืนหยัดเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติที่มีนักศึกษามากเป็นอันดับต้นของเมืองไทย ล่าสุดมหาวิทยา-ลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ร่วมมือกับ โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เตรียมขยายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนมัธยมที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยและผู้ที่สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และเอกได้รับคำปรึกษาและสมัครเรียนในภูมิภาคของตัวเองผ่าน ศูนย์ ABAC Admissions Center ในภาคตะวันออก คือ จังหวัดชลบุรี

โดย ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เผยว่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) และโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เป็นสถาบันการศึกษาที่บริหารโดยมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ที่ผลิตบุคลากรเพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติมาเป็นเวลานาน เราทั้ง 2 สถาบันการศึกษาเล็งเห็นความสำคัญในการเปิดโอกาสทางการศึกษาในเมืองไทยให้ก้าวสู่ระดับสังคมโลก (From International to Globalization) ซึ่งเอแบคเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในเมืองไทยที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติในทุกหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งตลอดมาบัณฑิตที่เรียนจบจากที่นี่เป็นบุคลกรที่มีคุณภาพที่มีส่วนสร้างสรรค์พัฒนาชาติไทยให้เจริญก้าวหน้ามากมาย

ผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ จะได้รับความมั่นใจและมีส่วนร่วมกับบุตรหลานในการตัดสินใจสรรหาสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุด และมั่นใจที่สุดสำหรับส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลตรง และรวดเร็วจากศูนย์รับสมัครที่มีอยู่ในภูมิภาคของเรา ที่ผ่านมาเราเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการศึกษาต่อของเด็กมัยธยมปลายและผู้สนใจศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้วยความเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้แบบนานาชาติ ที่มีนักศึกษาจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกเข้ามาศึกษาในแต่ละปี และมีหน่วยกิตการศึกษาที่ไม่แพงอย่างที่คิดเมื่อเทียบกับหลักสูตรนานาชาติของสถาบันอื่นในเมืองไทย และด้วยความเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาที่มีความทันสมัย ทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมอันงดงาม จะส่งผลให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จและมีความสุขกับการมาเรียนในสถาบันเอแบค

ด้าน ภราดา ดร.ศิริชัย ฟอนซีกา ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา กล่าวว่า โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เป็น 1 ใน 17 สถาบันของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชนกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับใช้ด้านการศึกษาให้กับชุมชนและผู้ปกครองของจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียงตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่เราประสบความสำเร็จทางด้านการจัดการศึกษาและเป็นที่ยอมรับของสังคมมาโดยตลอด

โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาของเรา เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักบุญหลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต ที่มีจุดมุ่งหมายแรกเริ่มที่จะสอนให้เยาวชนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และมีหลักศาสนาเป็นแนวทางให้ประพฤติตนเป็นคนดี ปัจจุบันเรามีความพร้อมในทุกด้านทั้งอาคารเรียน อาคารประกอบรวม 26 อาคาร อาคารที่พักนักเรียนประจำ 7 อาคาร ห้องเรียนและห้องปฏิบัติการกว่า 180 ห้อง มีครูไทยและครูต่างชาติกว่า 340 คน และนักเรียนกว่า 4,650 คนต่อปี ซึ่งเป็นนักเรียนประจำถึง 1,600 คน รวมทั้งนักกีฬาช้างเผือกกว่า 100 คน การเปิดศูนย์รับสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงเป็นการเพิ่มโอกาสต่อยอดสู่ความสำเร็จของลูกหลานชาวอัสสัมชัญสายตรง เพื่อก้าวไปสู่ระดับประเทศและนานาชาติในอนาคตอันใกล้

 

แหล่งที่มา : Kom Chad Luek [June 18, 2012] page: No.10

ABAC The International University

ABAC 

It’s a must

ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่จะต้องปลูกฝังและฝังลึก ให้อยู่ในจิตใจให้กับผู้เรียน คือ ในความเป็นโลกาภิวัฒน์จะต้องเคารพและยอมรับความแตกต่าง ทั้งค่านิยมความคิด ตลอดจนเรียนรู้ พร้อมเติบโต และท้ายสุดเพื่อเข้าใจความเป็น “ปัจเจกบุคคล” ABAC กำลังสอนสิ่งนี้ให้กับผู้เรียน! 

จะว่าไปแล้วมหาวิทยาลัยในบ้านเรามีนับร้อยแห่ง แต่ละแห่งล้วนแล้วแต่มีเอกลักณ์เฉพาะตัวเรียกว่า “ทางใครทางมัน” เป็นเอกอุในแต่ละด้าน นับเป็นจุดเด่นไม่น้อยให้กับประเทศ เพราะถ้าใครอยากเก่งด้านไหนก็เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เป็นหนึ่งในด้านนั้นไปเลย ประหนึ่งว่า อยากเรียนบริหารธุรกิจไปที่ Standford Graduate School of Business. Harvard Business School อยากเก่งด้านดนตรีก็ไปที่ Yale School of Music

เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ ABAC แต่ไหนแต่ไรมาแล้วชื่อเสียงของเอแบคโดดเด่นเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนของที่นี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด บัณฑิตที่จบไปจึงขึ้นชื่อด้านการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว

ความสำคัญของภาษานับวันยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ ยิ่งเมื่อโลกกว้างข้ามมาสู่ยุคแห่งความเป็นสากลเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และท้ายที่สุดเมื่อทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันจะก้าวไปสู่ความเป็นนานาชาติ ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เอง มหาวิทยาลัยที่สั่งสมประสบการณ์และมีความแข็งแกร่งย่อมได้เปรียบเป็นธรรมดา

ไม่ปฎิเสธว่าความเป็น International ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นมาโดยสายเลือดหรืออยู่ในดีเอ็นเอตั้งแต่แรกก่อตั้ง ความเป็นมือฉมังทำให้แม้วันนี้ กระแสเรื่องการเปิดตลาดเสรีอาเซียนหรือ AEC ก็ไม่ส่งผลกระทบหรือทำให้มหาวิทยาลัยประหวั่นพรั่นพรึงแต่ประการใด กลับยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของคณะผู้บริหารที่มีอุดมการณ์มาแต่แรกแล้วว่าเอแบคเกิดมาเพื่อเป็น International University

ภราดาบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เล่าย้อยให้ฟังถึงเมื่อแรกก่อตั้งมหาวิทยาลัยโดยจุดหมายเพื่อก้าวไปสู่ความเป็น International และในความเป็นอยากให้มหาวิทยาลัยเป็นดินแดนที่เรียกว่า The Land of Tradition and Innovation นัยว่าแม้ว่าจะมีความทันสมัย ก้าวล้ำนำเทรนด์แค่ไหน แต่เอแบคจะยังคงวัฒนธรรมอันดีงามเป็นเสมือนรากฐานของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเอแบคจึงเป็นมหาวิทยาลัยที่น้อมรับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ไม่ว่าเศรษฐกิจหัวขบวนจะย้ายจากฝั่งอเมริกามาอยู่ที่เอเชียหรือกระแสAEC ที่กำลังงวดเข้ามาทุกขณะ

การปรับตัวคือสิ่งสำคัญที่ภราดาบัญชามักย้ำให้ฟังเสมอ ไม่ว่ากระแสจะมาอย่างไรสิ่งสำคัญคือการปรับตัวให้ไหลลื่นไปตามสถานการณ์ และพยายามมองหาทิศทางโดยต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าคนอื่น

ไม่แปลกที่เมื่อไปถามคณาจารย์ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยถึงเรื่องกระแส AEC ที่เกิดขึ้น คำตอบที่ไดัรับกลับเป็นเพียงว่า เอแบคเข้าสู่ความเป็นนานาชาติไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นแม้ว่าพันธสัญญาของ AEC ใน 10 ประเทศที่จะรวมเป็นตลาดเดียวกัน ก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้น

ภราดาบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ให้นิยามของความเป็นนานาชาติไว้อย่างน่าฟังว่า

     "ความเป็นนานาชาติ คือ กระบวนการ การนำเอามิติต่างๆ ที่เป็นเรื่องในระดับสากลมาบูรณาการเข้ากับจุดมุ่งหมายและพันธกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาหรือการนำเอาเรื่องเหล่านี้รวมเข้าไว้ในหลักสูตรเพื่อคนจะได้เข้าใจและสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้"

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถึง 43 ปี ภราดาบัญชาบอกว่า สิ่งที่เป็น “ของเก่า” ของที่นี่ ก็คงความมีเสน่ห์ ส่วน “ของใหม่” ที่เข้ามาตามกระแส เป็นเรื่องที่สถาบันต้องเรียนรู้และปรับให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งแนวคิด วิธีการ ค่านิยมใหม่ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนที่หลากหลายเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม

ความหลากหลาย “diversity” จึงเป็นเสน่ห์ของที่นี่ ไม่แปลกที่เมื่อเหยียบย่างเข้ามาในมหาวิทยาลัย ผู้ที่ได้เข้ามาจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของความเป็นไทยและต่างชาติไปพร้อมกัน อาคารเรียนสไตล์โรมัน ดูมั่นคง เหมือนกับความแข็งแกร่งทางวิชาการ

ความเป็นนานาชาติ สะท้อนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอังฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร อาจารย์ต่างประเทศ ผู้เรียนจากหลากหลายเชื้อชาติ และผลพลอยได้ คือ บรรยากาศแวดล้อม

 “ขณะนี้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้ก้าวเดินมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว สิ่งที่เราสั่งสมประสบการณ์มากพอสมควร เราเป็นมหาวิทยาลัยคาทอลิก ในการก้าวย่างของเราจะเข้าไปในส่วนที่ใช้ทุนสูงไม่ได้ อย่าลืมว่าคณะบราเดอร์มีขีดจำกัดของเราอยู่เพราะเราไม่ได้ร่ำรวยมาจากไหน เราจึงต้องไปสู่ในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำ”

แกนหลักจึงอยู่ที่กระบวนการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ภูมิทัศน์ คณาจารย์ ผู้เรียน ตลอดจนหลักสูตรที่โดดเด่นและที่สำคัญเน้นให้เกิดการบูรณาการหลักสูตรในทุกแขนง โดยนำความรู้ด้านการจัดการเข้าไปสอดแทรกในวิชาการต่างๆ

“เราพยายามสร้างองค์กรที่มีรากฐานด้านการบริหารธุรกิจ Based on หมายความว่าไม่ว่าจะเรียนสาขาไหนก็ตามต้องมีความรู้เรื่องการบริหารจัดการด้วย”

“ทุน” ที่ผู้เรียนจะได้รับกลับไปนอกจากความเชี่ยวชาญในแขนงวิชาหลักแล้ว สิ่งที่ติดไม้ติดมือกลับไปคือ การบริหารจัดการที่ดี เหมือนอย่างที่ภราดาบัญชาบอกไว้ว่า เอแบคเตรียมคนให้พร้อมไว้สำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเป็นคนมีทักษะรอบด้าน รอบรู้ และรู้ทันกับความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนนั่นเอง

“จริงๆ แล้วเราเตรียมคนของเราให้พร้อมสำหรับโลกอยู่แล้ว เด็กของเราออกไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ทำงานได้ทั่วโลกเพราะความรู้ของเราเข้าสู่สากลไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่า AEC จะเข้ามาเราก็พร้อมและสิ่งที่เราจะทำคือพยายามดูว่าโลกขยับไปสู่ทิศทางไหน”

“เราเดินทางมาถูกทางแล้ว” คือคำพูดทิ้งท้ายของบราเดอร์บัญชา แสงหิรัญ

Inter Academic Excellence

แน่นอนว่าประเด็นหลักสำคัญของการศึกษาคือ การมุ่งสู้ความเป็นเลิศทางวิชาการ “คุณภาพ” ต้องคับแก้ว หลักสูตรทุกหลักสูตรของเอแบคเปิดขึ้นมาเพื่อรองรับการทำธุรกิจในทุกด้าน และมีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะไม่ครบรอบของการปรับก็ตาม เพราะเห็นทิศทาง แนวโน้มที่มาแรงด้านเศรษฐกิจหรือความนิยมในขณะนั้น

ดร.สมพิศ ป.สัตยารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวถึงหลักสูตรที่ปรับเปลี่ยนก่อนครบรอบเทอม เช่น หลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรการบินใหม่ซึ่งเป็นหลักสูตรร่วมระหว่างการบินไทยกับ Aviation เพราะมองเห็นทิศทางที่ไทยจะก้าวไปเป็นฮับด้านการบินในระดับภูมิภาคได้ไม่อยาก หรือหลักสูตร MBA เช่น Retail Management, Entrepreneurship ซึ่งต่างเป็นหลักสูตรที่เปิดขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับกับการทำธุรกิจและการผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่มากขึ้น

อีกทั้งความเป็นวิชาการต้องเป็นไปตามมาตรฐาน TQF (Thailand Qualifications Framework for Higher Education) โดยวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียน 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ คุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ

ยิ่ง AEC จะเข้ามา กรอบมาตรฐานของการผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อให้บัณฑิตของเอแบคเข้าไปทำงาน ในระดับภูมิภาคและสู่ความเป็นสากลได้ และในอีกไม่กี่ปีจะมีมาตรฐาน AQF (Asean Qualifications Framework for Higher Education) ซึ่งเป็นกรอบของอาเซียน เอแบคพร้อมรองรับมาตรฐานนี้ ซึ่งหมายความว่าผลการเรียนรู้ของบัณฑิตในประเทศอาเซียน จะอยู่ในระดับเดียวกัน สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้

7 สาขา ที่จะเป็นตลาดแรงงานไหลเข้ามาอย่างเสรี ได้แก่ วิศวกร แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี หลักสูตรของเอแบคตอบสนองความต้องการอาเซียนได้ครอบคลุม “เราไม่ได้ทำเฉพาะในประเทศอาเซียนเท่านั้น โอกาสของเราในประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสเข้าไปแข่งขันได้มากขึ้น โดยนำความรู้ของเราเข้าไปทำให้เป็นบัณฑิตของเราไปแข่งขันต่างประเทศมากขึ้น”

งานวิชาการที่มีความเป็นนานาชาติ หลักสูตรหรือเนื้อหาจึงอิงกับบริบทที่อยู่ในแวดวงนานาชาติและเกี่ยวข้องกับ AEC เช่น Thai Culture and Traditions, Buddhism Asean Law อีกทั้งข้อตกลงทางการศึกษา (MOU) ที่มหา-วิทยาลัยอัสสัมชัญ มีอยู่กับหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ที่อยู่ในประเทศอาเซียนสะท้อนให้เห็นถึงการขยายพรมแดนทางการศึกษาที่ไม่ใช่เฉพาะบุกเบิกแต่ประเทศในแถบตะวันตกเพียงเท่านั้น

“ในแง่งานวิชาการของเอแบคเป็นเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ต้องรอให้ครบรอบและทำได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน”

ความได้เปรียบของการเป็นผู้บุกเบิกย่อมได้เปรียบที่จะก้าวหน้าไปก่อนใครเพื่อนก็เหมือนกับการตลาดนั่นแหละ สินค้าไหนที่แตกต่างหรือยังไม่มีใครคิดค้นได้โดยอาศัยนวัตกรรมใหม่มารองรับ เมื่อออกสู่ตลาดก็ย่อมเก็บส่วนแบ่งทางการตลาดได้มาก จนเมื่อมีคู่แข่งหน้าใหม่โผล่เข้ามา

ด้วยความที่เอแบคมีฐานจากความเป็นนานาชาติอยู่แล้ว การบุกเบิกตลาดต่างๆ ประเทศจึงแซงหน้าไปก่อนมหาวิทยาลัยอื่น ปี 1986 เริ่มทำ joint Program ร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับประเทศอังกฤษเป็นที่แรก และขยับขยายไปสู่สหรัฐอเมริกา เมื่อมีความร่วมมือเช่นนี้ การดึงเอา Professor คนดังจากเมืองนอกเข้ามาสอนก็ย่อมเป็นจุดแข็งใหกับทั้งมหาวิทยาลัย ผู้เรียน คณาจารย์ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

“จริงๆ แล้ว จุดประสงค์ของการมีนักศึกษาต่างชาติเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ มีความเป็นนานาชาติ ที่นี้เด็กไทยถ้าไม่ได้มีการสัมผัสภาษาก็ไม่ได้ พอมีเด็กต่างชาติมาเรียนก็ต้องพูดภาษาอังกฤษโดยอัตโนมัติและเป็นเรื่องของสีสัน ทำให้ความเป็นนานาชาติสมบูรณ์” นายกมล กิจสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล กล่าว

นักศึกษาต่างชาติเป็นส่วนที่เพิ่มสีสันให้กับมหาวิทยาลัยไม่น้อย เดินไปเดินมา ก็จะได้เจอกับเด็กเนปาล อังกฤษ สวีเดน อเมริกา ออสเตรเลีย จีน พม่า แคนาดา ฝรั่งเศส เกาหลี รัสเซีย ไต้หวัน ตรุกี บังคลาเทศ อียิปต์ เยอรมัน ฮังการี บางประเทศไม่น่าเชื่อว่าจะมาเรียนถึงเอแบค หรือเด็กจากประเทศ UAE มาเรียนถึงนี่ ดร.กมลบอกว่ามีเด็กจากประเทศที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมาเรียนที่เอแบคน่าจะได้ยินชื่อเสียงของเอแบคจากสื่อ หรือมาเที่ยวในเมืองไทย

นับไปนับมามีผู้เรียนต่างชาติถึง 83 ชาติ 3,048 คน “สิ่งที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ระหว่างกันเช่น การทำกิจกรรม การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประเทศต่างๆ โดยองค์กรนักศึกษาและมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุน มีความเป็นบริบทนานาชาติและเป็น Gift ให้กับเด็กไทยได้เรียนรู้ถึงความหลากหลาย”

เชื่อว่า เอแบคเป็นมหาวิทยาลัยที่มีผู้เรียนต่างชาติมากและอาจารย์จากต่างประเทศมากที่สุดของประเทศ บริบทความหลากหลายช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และที่สำคัญเปิดมุมมองต่อการมองโลกให้แก่ผู้เรียนเอง

Cool MBA

หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตของเอแบคไม่ว่าจะเป็น i.M.B.A., M.B.A. Professional, S-M.B.A. Mini M.B.A. และอีกหลากหลายหลักสูตรที่เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับกับการทำธุรกิจ ตลอดจนหลักสูตรที่เป็น Double Degree ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศเรียนที่เอแบค 1 ปี และไปเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ดังนี้ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ( Stanford University ), City University of Seattle ประเทศอเมริกา, University of Applied Sciences Mainz ประเทศเยอรมนี หรือจะเลือกไปเรียนที่ De Montfort University, London South Bank University และ University West of England อังกฤษ

“โลกาภิวัตน์ทำให้เราต้องมองอะไรกว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงในประเทศอย่างเดียว ฉะนั้นลักษณะการเตียมความพร้อม การจัดการเรียนการสอน ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศจะทวีความเข้มข้นขึ้นและใกล้ชิดกว่าเก่าก่อนมาก” ดร.กิตติ โพธิกิตติ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย บริหารธุรกิจ กล่าว และเชื่อว่าจะมีความร่วมมือกับอีกหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก MBA ต้องเป็น MBA ที่สอดคล้องกับการพัฒนาธุรกิจในสายนั้น และต้องเกิดเป็น Creative เกิดการบูรณาการทั้งเรื่องของการผสมผสานสาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น เรื่องการบริการก็สอดแทรกเรื่องการท่องเที่ยวเข้าไปด้วย เรื่อง Health Care Management บวกกับเรื่อง Supply Chain โดยที่ไม่แยกกันเหมือนแต่ก่อน เรียกว่านำศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันทั้งมาบูรณาการอย่างรอบด้าน “ลักษณะของหลักสูตรจะจับนู่นจับนี่มาผสมกัน เช่น การท่องเที่ยวอาจจะร่วมกับหลักสูตรการแพทย์ หรือ Health Care Management หรือเป็นการตลาดกับโลจิสติกส์ เพื่อที่จะสร้างบุคลากรให้เป็นบัณฑิตที่สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจได้มากขึ้น” ประเทศในแถบบ้านเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นหลักคิดที่ได้จากการเรียนรู้ต้องสามารถเป็นประโยชน์และนำไปสร้างธุรกิจหรืออาชีพได้จริงให้กับผู้เรียน Academic Excellence จึงต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนโดยพัฒนาเนื้อหาสาระของการเรียน ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจในประเทศของผู้เรียนด้วย เพราะเมื่อตัดสินใจมาเรียนแล้วสิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับไม่ใช่เพียงแค่ว่า อยากมาอยู่ประเทศไทย ประเทศไทยน่าอยู่ แต่มาแล้วต้องได้อะไรกลับไป ทั้งองค์ความรู้ เน็ตเวิร์กต่อยอดทำธุรกิจที่ได้จากเพื่อนในห้อง และสำรวจเศรษฐกิจในบ้านเราและนำไปปรับใช้กับบ้านของเขาได้ หรือธุรกิจตัวไหนที่จะนำกลับไปสร้างได้

“เราไม่ได้สอนว่าทำธุรกิจแบบนี้ทำอย่างไร แต่เขาสามารถบริหารจัดการนำกลยุทธ์แล้วเอาไปประกอบธุรกิจที่ประเทศของเขายังขาดอยู่ นี่คือสิ่งสำคัญของบัณฑิตสมัยใหม่ เอแบคไม่ได้เน้นให้เรียนได้เกรด A หมด แต่จบไปแล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้”

หลักสูตร MBA จึงมีความเป็นพลวัตและเปลี่ยนไปตามสภาพการทำธุรกิจหรือทิศทางธุรกิจที่เล็งแล้วว่าเมื่อผู้เรียนเข้ามาจะได้รับองค์ความรู้สูงสุดกลับไปใช้ประกอบอาชีพเริ่มต้นทำธุรกิจหรือสานต่อกิจการครอบครัวซึ่งไม่แปลกว่าผู้เรียนเอแบคส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกเจ้าของกิจการ การสืบทอดธุรกิจของครอบครัวเป็นสิ่งที่อยู่ในมือ และอยู่ที่ว่าจะนำหลักการบริหารจัดการไปใช้พัฒนาธุรกิจครอบครัวอย่างไร หรือหากไม่ได้มีกิจการ MBA ที่เรียนไปก็จะช่วยต่อยอดและเสริมประสบการณ์ให้ผู้เรียนโดยรู้ภาพกว้างของการบริหารทั้งระบบ ทำงานเหมือนกับองค์กรนี้เป็นของตนเอง ไม่ใช่มีความคิดแค่ว่าเป็นพนักงานในองค์กร

In Trend Technology

การเดินหน้าในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการทำระบบ Live Learning กับทาง Apple เพื่อก้าวไปสู่ iTunes University หรือการสร้าง ABAC eBookstore ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของสถาบัน เพราะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาอย่างรวดเร็ว เอแบคมองเห็นทิศทางและแนวโน้มของการต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อมาใช้กับการศึกษา จึงเป็นสถาบันแรกๆ ที่เข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล วันนี้ผู้เรียนในบางโปรแกรมของที่นี่ จึงสามารถเรียนที่ไหนในโลกที่ไร้พรมแดนไม่ว่าจะเป็นบ้าน หอพัก ในรถ หรือแม้แต่เมื่อไม่สบายก็สามารถหยิบบทเรียนออนไลน์ขึ้นมาทบทวนย้อนหลังได้ตลอดเวลา “เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการนำมาใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเข้าถึงข้อมูล การเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือแม้แต่การแปลงคอนเทนต์ทุกอย่างให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทัลหรือการสร้าง ABAC App เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น IOS หรือ Adnroid” ดร.สุนทร พิบูลย์เจริญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบัณฑิตศึกษา กล่าวถึงการทวีความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน

“เทคโนโลยี” เปรียบเสมือนถนนแห่งใหม่ในการเข้าถึงข้อมูล ผู้เรียนสามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารจำพวก สมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ในการเข้าถึงบทเรียนแบบ Real time หรือ On Demand อีกทั้งเอแบคได้เปิด E-Bookstore ขึ้นมาเฉพาะให้กับนักศึกษาทั่วไป โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักศึกษาเอแบค ซึ่งมีทั้งแมกกาซีน หนังสือพิมพ์ และอนาคตก็จะขยายไปยัง Academic Textbook ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหนก็ได้จริงๆ ซึ่งมีทั้งบทเรียนในคลาส หนังสือเรียนหรือแม้แต่ การเรียนแบบสดๆ จากห้องเรียน เทคโนโลยีเหล่านี้เองทำให้เอแบคมีดีกรีและความได้เปรียบเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

“เทคโนโลยีที่ทำ เริ่มให้นักศึกษาเริ่มเรียนที่ไหนก็ได้ จริงๆ คุณอยู่ข้างนอก คุณไม่มี Text Book คุณพลาดคลาสเรียนนี้สามารถกลับไปดูย้อนหลังได้ อยู่ข้างนอกก็เรียนได้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำและพยายามต่อจิ๊กซอว์ทุกตัวให้ครบ” ในปีหน้าเองทางเอแบคจะเริ่มปรับปรุงหลักสูตร MBA บางโปรแกรมเป็นแบบ Workshop and Case studies based จะกำหนดการเรียนการสอนเป็นแบบ Hands on Experience and Activities มากกว่า Lecturing Class. “เราเริ่มมองแล้วการเรียนแบบ Workshop จะทำให้นักศึกษาได้ลงมือเรียนแบบปฏิบัติงานจริงๆ และเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนแบบฟังอาจารย์สอนเพียงอย่างเดียว” 

ดร.สุนทร กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในปีหน้า ดังนั้น จากความแข็งแกร่งของเอแบคไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพและเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดแรงงาน สิ่งอำนวยความสะดวกภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้ประยุกต์เข้ากับสื่อการเรียนการสอน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งข้อมูลนอกห้องเรียน ยิ่งทำให้วันนี้ ผู้เรียนของมหาวิทยาลัยมีความพร้อมที่จะออกไปเป็นคนของศตวรรษที่ 21 ที่พรั่งพร้อมไปด้วยทักษะ ความรู้ มุมมองการทำธุรกิจ ตลอดจนแนวคิดการบริหารจัดการระดับนานาชาติ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เตรียมคนของโลกธุรกิจจริงๆ

แหล่งที่มา : MBA Magazine [No.160 October-November 2012] page: 32-43