onwin
Interviews

Mission & Vision 2007 and Beyond


ABACA Profile เริ่มบทสัมภาษณ์ท่านอธิการบดีด้วยการขอให้ท่านเล่าถึงความแตกต่างในการบริหารงานมหาวิทยาลัย ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่ง Vice President for Academic Affairs ในช่วงปี ค.ศ. 1991 กับช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่ง Vice President for Academic Affairs ในช่วงปี ค.ศ. 1994 จนกระทั่งปัจจุบัน

ประเด็นที่ถามมีมิติด้านช่วงเวลา บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในแต่ละมิติจะมีความแตกต่างกันอยู่ในตัวของมันเอง สำหรับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันและตั้งแต่ ค.ศ. 2002 ถึงปัจจุบัน ต้องรับผิดชอบในฐานะอธิการบดีด้วย จึงขอเล่าในลักษณะมองย้อนอดีตและฉายภาพอนาคตในแบบภาพรวม ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับองค์การแห่งนี้ในระยะแรกๆ มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็เหมาะสมและสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในขณะนั้น แต่ในระยะหลังๆ จนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่เราเรียกว่า ‘การเปลี่ยนแปลงอย่างพลวัต’ (dynamic change) เพราะสภาพแวดล้อมภายนอกมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมาก เช่น มีการแข่งขันสูงมากทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ มีความต้องการใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา อิทธิพลของโลกาภิวัตน์ การไหลบ่าของข้อมูล ข่าวสาร (information explosion) และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นต้น แรงกดดันต่างๆ เหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วด้วย

“การพัฒนาของมหาวิทยาลัยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของอุดมศึกษาทั้ง 4 ประการ คือ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริหารทางวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการในหลายๆ กิจกรรมไปพร้อมๆ กัน คือ

 ด้านวิชาการ ได้แก่ การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลาย ทันสมัย สามารถสนองความต้องการส่วนบุคคลของนักศึกษา และความต้องการของประเทศได้อย่างมีคุณภาพ การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาอาจารย์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นต้น การจัดการเรียนการสอนจากเดิมที่มีคณะบริหารธุรกิจเพียงคณะเดียว ปัจจุบันมีถึง 10 คณะ วิชาในระดับปริญญาตรี และมีบัณฑิตศึกษาที่จัดการศึกษาในระดับปริญญาโทมากกว่า 35 หลักสูตร และปริญญาเอกมีถึง 10 หลักสูตร

ด้านอาคารสถานที่ ได้มีการพัฒนาพื้นที่อาณาบริเวณให้มีความสะอาดสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการบริหารจัดการพื้นที่ (space management) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากเดิมมีพื้นที่เฉพาะที่หัวหมากเพียง 16 ไร่ 3 งานเศษ มีอาคาร 3-4 อาคาร แต่ปัจจุบันมีถึง 12 อาคาร และยังมีวิทยาเขตบางนาที่มีพื้นที่มากกว่า 374 ไร่ มีอาคารสวยงามใหญ่โตมากมาย และกำลังก่อสร้างอีก 3 อาคาร เพื่อรองรับการขยายตัวและการย้ายจากวิทยาเขตหัวหมากไปในอนาคตอันใกล้ กล่าวโดยเฉพาะที่วิทยาเขตบางนามีอาคารสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนการสอนมาก บรรยากาศทางวิชาการ (academic atmosphere) ดีมาก เป็นการพัฒนาขึ้นมาตามแนวคิด ‘มหาวิทยาลัยในวนอุทยาน’ (university in a park) อันจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมและกล่อมเกลาให้นักศึกษาสามารถพัฒนาบุคลิกภาพ ความรู้สึกนึกคิดเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างดี

 ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งเพื่อจัดการเรียนการสอน และการบริหารงานทั่วไปมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกในการจัดการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแห่งแรกทำให้ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกรวมกันมากกว่า 30 หลักสูตร ทำให้มหาวิทยาลัยต้องลงทุนและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดมา มหาวิทยาลัยได้ลงทุนก่อสร้างอาคาร IT ขึ้นเป็นการเฉพาะโครงการนี้ต้องลงทุนเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท อันประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า 2,000 เครื่อง ห้อง studio และห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่ทันสมัยล่าสุดเรากำลังพัฒนาระบบ College of Internet and Distance Education เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต นักศึกษาสามารถติดต่อกับอาจารย์ทางอี-เมล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

การพัฒนาห้องสมุด หอสมุดเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษามาก ดังนั้น หอสมุดจึงต้องมีความทันสมัยมีความพอเพียงในการเป็นแหล่งค้นคว้าสรรพวิชาความรู้ที่หลากหลาย มหาวิทยาลัยจึงได้พัฒนาหอสมุดให้มีความสวยงาม โอ่โถง มีหนังสือและสื่อต่างๆ ที่ทันสมัยมากมาย เพียงพอกับการค้นคว้าของนักศึกษาและอาจารย์ทุกระดับ ทั้งที่หัวหมาก และบางนา มีการจัดให้มี Digital and Electronic Library ขึ้น ประกอบด้วยฐานข้อมูล Online จำนวนมาก นักศึกษา อาจารย์ สามารถค้นคว้าหาความรู้ได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด

การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการพัฒนานักศึกษา ตลอดเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีเป้าหมายชัดเจนในการดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึงซึ่ง ‘ความเป็นเลิศทางวิชาการ’ (academic excellence) ในขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะพัฒนาศึกษาให้บรรลุถึง ‘การเป็นคนทั้งครบ’ (total and complete man) คือ มีความรู้ ความสามารถ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และในขณะเดียวกันก็เป็นบุคคลที่มีจิตใจที่ดีงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จะต้องมีกิจกรรมที่ต้องสร้างต้องทำอีกมากมายที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมาแล้ว คือ การสร้างศูนย์กีฬา และสนามกีฬาที่ทันสมัย ทั้งในร่มและกลางแจ้ง โดยเฉพาะการสร้างสระว่ายน้ำ มาตรฐานโอลิมปิกที่ทันสมัย สนามเทนนิสที่ได้มาตรฐาน สนามกีฬาต่างๆ เหล่านี้จะช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง อันจะทำให้เป็นคนที่มีสติปัญญาฉับไว (sound mind in a healthy body) นอกจากนี้ยังทำให้เป็นคนที่มีระเบียบวินัยในตนเอง มีอารมณ์ที่มั่นคง จิตใจบานอีกด้วย การส่งเสริมกิจกรรมเสริมหลักสูตร เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนานักศึกษา นอกเหนือจากการเรียนการสอน และการกีฬา มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นักศึกษารวมกลุ่ม จัดตั้งเป็นทีม เป็นชมรมที่หลากหลายตามความสนใจของนักศึกษา ซึ่งจะช่วยทำให้นักศึกษามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การรู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักการนำความรู้ที่เล่าเรียนมาประยุกต์อันจะทำให้นักศึกษามีการพัฒนาเชิงวุฒิภาวะได้อย่างดี โดยเฉพาะกิจกรรมเชิงวิชาการหรือที่มีลักษณะประเทืองปัญญา มหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งงบประมาณและการอำนวยความสะดวกต่างๆ

การพัฒนาความเป็นนานาชาติ (internationalization) มหาวิทยาลัยได้ชื่อว่าเป็น The First International University in Thailand เพราะเราได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระบบนานาชาติมากว่า 35 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ทำให้มีอาจารย์และนักศึกษาจากนานาประเทศมาศึกษา และเรียนรู้ร่วมกันที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นจำนวนมาก คือ มีอาจารย์ต่างชาติจำนวน 381 คน จาก 38 ประเทศ และมีนักศึกษาต่างชาติจำนวน 2,360 คน จาก 77 ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มหาวิทยาลัยเป็น International Community of Scholars” จุดเด่นของการพัฒนาความเป็นนานาชาตินี้มีผลทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมกันเป็นอย่างดีทุกคนสามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ร่วมกันอย่างสันติ และสามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท

หลังจากท่านอธิการบดีได้กล่าวถึงภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในอดีตมาจนถึงปัจจุบันแล้ว ท่านยังได้กรุณาฉายภาพอันเป็นการมุ่งหวังในอนาคตที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น ดังนี้

แผนงานหรือโครงการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้นี้ที่คิดไว้มีหลายประเด็นซึ่งจะขออนุญาตไม่ลงไปในรายละเอียดมากนัก เพราะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา และยุทธศาสตร์การแข่งขัน เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในความเป็นนานาชาติ ซึ่งได้กล่าวไปบ้างแล้ว ยังมีประเด็นที่จะต้องทำต้องพัฒนาอีกต่อไป โดยเฉพาะในปีนี้มหาวิทยาลัยจะมีกิจกรรมระดับโลก 2 กิจกรรม คือ

  • มหาวิทยาลัยร่วมจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ในเดือนสิงหาคม 2550

  • มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันโต้วาทีโลกในเดือนธันวาคม 2550

สำหรับเรื่องที่จะทำต่อไปคือ

  • การเพิ่มจำนวนนักศึกษาให้มากขึ้นทุกปี

  • การจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ

  • การสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสถาบันและองค์กรต่างประเทศ

  • การมุ่งสู่ความเป็นสากลในทุกมิติของการเป็นมหาวิทยาลัยยอดนิยม

การส่งเสริมงานวิจัย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราเน้นการเป็น Teaching University ตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 เป็นต้นไป จะให้น้ำหนักงานวิจัยมากขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และนำมาใช้ในการเรียนการสอน การเพิ่มพูนความรู้ของอาจารย์ รวมถึงการวิจัยเพื่อเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยจึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสนับสนุนการวิจัยอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะด้านงบประมาณและทรัพยากรการวิจัยอื่นๆ อันจะทำให้การส่งเสริมการวิจัยนี้เป็นรูปธรรม โดยกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเน้น คือ การศึกษาวิจัยของอาจารย์และของนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา

การส่งเสริมให้อาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นอีกแผนงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยมุ่งส่งเสริมให้มากยิ่งขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า อันจะเป็นผลพลอยได้ต่อเนื่องมาจากการส่งเสริมการวิจัย โดยมุ่งให้อาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์เป็นอันดับแรก รองลงมาคือในระดับรองศาสตราจารย์ และศาตราจารย์เป็นลำดับสุดท้าย

การพัฒนาบุคลากร บุคลากรถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์การให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงจะต้องทำทุกวิถีทางในการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ และทักษะให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของมหาวิทยาลัยทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้ได้ และเพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นเป็น ‘สินทรัพย์’ (human assets) ที่ทรงคุณค่าของมหาวิทยาลัย

การพัฒนาระบบ เมื่อมีการพัฒนาบุคลากรแล้วจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบด้วย ซึ่งถือเป็นโครงสร้างทางการบริหารที่สำคัญ ถ้าระบบต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไม่ชัดเจน ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีคุณภาพ ผลลัพธ์ที่คาดหวังจะให้เกิดก็อาจจะไม่เกิด ระบบต่างๆ ที่จะต้องพัฒนาประกอบด้วย

  • ระบบการวางแผน การจัดทำและการประเมินผลงบประมาณ

  • ระบบการตรวจสอบภายในทางด้านการบริหารจัดการ และด้านคุณภาพ (QA)

  • ระบบการบริหารงานบุคคล

  • ระบบการสนับสนุนการเรียนการสอน ได้แก่ ระบบ ICT อุปกรณ์และสื่อทัศนูปกรณ์ทางการศึกษา

  • การสร้างวัฒนธรรมองค์การ ที่มีอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย การมีธรรมาภิบาล การดำเนินชีวิตและการบริหารตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่พร้อมถึงด้วยคุณธรรมและจริยธรรม การมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย

การพัฒนาด้านวิชาการ เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และจะต้องดำเนินการต่อไปในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยมีนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและประเทศ การยุบรวม และยกเลิกหลักสูตรที่ซ้ำซ้อน และไม่ทันสมัย

การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยจะเน้นเทคนิควิธีการเรียนการสอน (pedagogical techniques and methodologies)

การพัฒนาวิทยาเขตหัวหมาก ขณะนี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีทั้งหมดไปที่วิทยาเขตบางนา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จภายใน 5 ปี หลังจากนั้น วิทยาเขตหัวหมากจะถูกพัฒนาให้เป็น ‘วิทยาเขตในเมือง’ (downtown campus) ที่มีความพร้อมและทันสมัยสำหรับการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา การฝึกอบรม และการศึกษาในหลักสูตรพิเศษต่างๆ เพื่อตอบสนองการศึกษาตลอดชีพ (life-long education) ต่อไป

นี่คือ Mission & Vision 2007 ของ ท่านอธิการบดี ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ ในการบริหารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งคงช่วยให้เกิดความกระจ่างแก่ศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไป เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 

 แหล่งที่มา : ABACA Profile (January – April, 2007) หน้า 20-22

ทิศทางที่ 2
เพิ่มคุณธรรม 
(Ethic and Moral) 

ความรวดเร็วในการทำธุรกิจ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในการดำเนินงานมากขึ้น วิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อสถาบันการเงินระดับใหญ่ของโลก นำเงินไปลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ เมื่อความเป็นจริงปรากฏ ผลกระทบจึงตกกับคนทั้งโลก

การตัดสินใจที่ผิดพลาดขาดความยับยั้งชั่งใจการปกปิดข้อมูลสำคัญอย่างในกรณีของเอนรอนที่กลายเป็นกรณีศึกษาของนักศึกษาเอ็มบีเอทั่วโลก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้มีต้องมีการสอดแทรกแนวคิดด้านคุณธรรมและจริยธรรมทางธุรกิจเข้าไปในการเรียนการสอน

สถาบันการศึกษาในประเทศไทยทุกสถาบันล้วนเห็นตรงกันว่าการสอดแทรกเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการอบรมบ่มเพาะคนที่มีคุณภาพสู่สังคม ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ให้ความเห็นว่า สถาบันการศึกษามีความสำคัญ สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมที่ตัวเองอยู่ได้ เนื่องจากเป็นแหล่งความรู้ เป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาต่างๆ

“สมมติเราเป็นหมอมีโรคเอดส์ มีโรคซาร์ส เราก็ต้องไปวิจัย เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะสมัยก่อนโลกไปช้า ยุคใหม่โลกวิวัฒนาการเร็วมาก เราก็ต้องเอาคนมีปัญญาไปแก้ไข” ดร.บัญชากล่าว

สิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องทำคือ การนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ อาทิ งานวิจัย หรือความรู้ทางวิชาการที่มีอยู่แล้วนำเข้าไปสู่สังคม หรือในบางเรื่องก็สามารถช่วยสร้างจิตสำนึกให้กับคนในสังคมด้วยการเขียนบทความ ร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นได้

ดร.บัญชา อธิบายเพิ่มว่า “สร้างจิตสำนึกว่า เราแคร์สังคมนะ ไม่อย่างนั้นแล้ว อย่างห้องน้ำตามปั้มสมัยก่อนไม่กล้าเข้า เพราะอะไรไม่แคร์คนอื่น ใช้เสร็จแล้วก็ทิ้งไป ไม่สนใจคนอื่น ของเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้น ถ้าทุกคนทำ อย่างความสะอาดถ้าเห็นคนทิ้งทุกคนจะจ้องเลย ทำให้คนเกิดจิตสำนึกได้

“สังคมคนไม่ได้อยู่คนเดียวโดดๆ มีอิทธิพลต่อกัน แม้ไม่มีจิตสำนึกในตัวเองแต่ก็ช่วยได้ อย่างเด็กแต่งตัวมาไม่นุ่งทับมาเห็นคนอื่นเขานุ่ง ก็ต้องทำ แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้โตขึ้นไปก็จะค่อยๆ เรียนรู้ไปว่า ตอนที่เขาว่าเราตอนนั้น ถูกนะ จะเกิดมาทีหลัง ของอย่างนี้ไม่ได้เกิดง่าย การสอนให้เกิดปุ๊บปั๊บไม่มี เด็กจะเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง เด็กอาจจะเข้าใจแต่ไม่ทำก็ได้ ต้องปลูกฝัง เหมือนเมล็ด บางคนหย่อนลงหลุมน้ำลงแตกเลย แต่บางคนอีกนาน เราจะไปว่าใครไม่ได้ การสอนคนถึงลำบาก ไม่เหมือนบริษัท บริษัทตั้งเป้าหมายอย่างนี้ เป็นตัวเลขเด่นชัด”

วิธีการของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญคือ ให้นักศึกษาทุกคนต้องลงเรียนวิชาจริยธรรมด้านวิชาชีพ ทุกเทอมตลอด 4 ปี เป็นการสอดแทรกความคิดผ่านเนื้อหาวิชาที่เรียน พร้อมกับการควบคุมระเบียบต่างๆ ที่เป็นตัวช่วยสร้างความมีระเบียบวินัยให้กับนักศึกษา

ทางด้าน ดร.ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล ก็มองภาพการเพิ่มพูนกลไกจริยธรรมไปในหลักสูตรว่า ปัจจุบันมีมากขึ้น “ที่เป็นกลไก

หน่อยไม่ใช่จริยธรรมแต่เป็นการจัดการที่ดีที่เรียกว่า Good Governance ก็ไม่ได้ลงไปถึงเรื่องจริยธรรม เป็นลักษณะของการควบคุมการกำกับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง แต่จริยธรรมเป็นเรื่องของภายใน เกิดจากตัวคนมากกว่าที่จะมีการจำกัดหรือเหนี่ยวรั้งตัวเอง เพราะฉะนั้นก็ต้องมีควบคู่กันไป”

ดร.ชัยอนันต์มองว่า การสอนจริยธรรมในทางวิชาการทำได้ยาก ที่สามารถทำได้คือการศึกษากรณีศึกษา ที่เป็นเรื่องราวความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของสาธารณะกับองค์กรและผลประโยชน์ส่วนตัว โดยสามารถนำกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นที่ใดในโลกมาดู เพื่อให้รับรู้ว่าสิ่งนี้ผิดและไม่ควรทำ แม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดในเชิงจริยธรรมอย่างไร

แนวคิดนี้สอดคล้องกับที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อรรณพ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตเคยมีวิชา Business Ethic และทางคณะฯ พบว่า การเปิดสอนเป็นรายวิชา มีการสอบ มีการให้เกรด ทำให้เกิดความคิดขัดแย้งว่า คนนี้มีจริยธรรมมากกว่าอีกคนหนึ่ง ทางคณะฯ จึงเปลี่ยนแปลงไม่แยกทำเป็นรายวิชาเช่นก่อน หากแต่สอดแทรกลงไปในทุกวิชา เช่น การทำบัญชีให้ถูกต้องการเก็บข้อมูล และการแสดงข้อมูลที่ถูกต้อง 

พร้อมกันนี้ ดร.อรรณพยังแสดงความเห็นด้วยว่า “สมัยก่อนเราไม่เคยมีคำว่า Ethic เลย ทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไร ต้องเป็นอย่างไร ผมก็เห็นนักธุรกิจสมัยก่อนร่ำรวยก็บริจาคเงินทอง ทำบุญกุศล แต่ปัจจุบันต้องมีการเขียนว่า Ethic คืออะไร แสดงว่าสังคมไม่ได้มองจุดนี้ คือต้องไปแก้ตั้งแต่เด็กเลย ไม่ใช่มาแก้ตอนนี้”

ไปดูที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดร.ทิพยรัตน์ ให้รายละเอียดในการสอดแทรกแนวคิดคุณธรรมจริยธรรมให้กับนักศึกษาว่า “จริงๆ ต้องแทรกตั้งแต่เด็กแต่อย่างไรก็ตามเราเป็นสถาบันอุดมศึกษาจะไป

โทษว่าแต่เด็กไม่สอนไม่ได้ เราต้องรับผิดชอบสังคม เราก็ทำตั้งแต่ปริญญาตรีไปจนปริญญาเอก การสอดแทรกจะต่างกัน ปริญญาเอกเขาเป็นผู้ใหญ่ เราจะไปสอนสอดแทรกแบบปริญญาตรีคงไม่ได้ ของปริญญาตรีอาจารย์บางคนใช้เทคนิคว่า เด็กนี่ต้องดูทีวีอยู่แล้ว เขาให้ 10 นาทีหลังจากที่เขาสอนเสร็จให้เด็กออกมาเล่าเรื่องในทีวี โดยยกตัวอย่างว่า สิ่งที่เขาดูเมื่อวานนี้มีอะไรที่บ่งบอกถึงคุณธรรมจริยธรรมออกมาวิเคราะห์”

“สำหรับปริญญาเอกเนื่องจากเน้นวิจัยเราจะมองเรื่องคุณธรรมของการทำวิจัยเป็นจรรยาบรรณที่ไม่ทำให้ใครเขาเดือดร้อนต้องระวังเป็นคุณธรรมประจำใจที่ว่า ไม่ใช่ทำวิจัยแล้วไปทำให้ใครเดือนร้อน

“คุณธรรมเหมือนนามธรรม ต้องมีจริยธรรม คือการปฏิบัติ ในปริญญาโท ปริญญาเอก เราจะเน้นให้เขาคิดด้วยตัวเอง”

ดร.ทิพรัตน์ สรุปว่า ยังไม่ทราบว่าสิ่งที่ทำอยู่ขณะนี้ถูกหรือผิด แต่มีความหวังว่า นักศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอน จะสามารถมีคุณธรรมจริยธรรม สามารถแยกแยะเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างถูกต้องดีงามยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ความต้องการของผู้ประกอบการด้านธุรกิจที่มีเพิ่มมากขึ้นจากความตื่นตัวในปรากฎการณ์โลกร้อนส่งผลให้แต่ละสถาบันต้องเปิดสอนวิชา เช่น ธรรมาภิบาล CSR ซึ่งนอกจากเป็นส่วนช่วยในการสร้างจิตสำนึกทางอ้อมแล้ว ยังสามารถนำแนวคิดด้านคุณธรรม จริยธรรม ไปส่งเสริมการประกอบธุรกิจให้มีความโปร่งใส เป็นมิตรกับชุมชนและสังคมรอบข้างได้มากขึ้น รวมถึงช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรในระยะยาว

แนวคิดด้านคุณธรรมจริยธรรม จึงเป็นอีกประเด็นที่ถูกสอดแทรกลงไปในหลักสูตรอย่างแนบเนียน ขณะเดียวกันคณาจารย์ก็ให้ความเห็นว่า

เรื่องดังกล่าวต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก การมาบ่มเพาะในช่วงที่เรียนระดับปริญญาโทอาจจะไม่ทันการณ์ เพราะคนที่คิดดีอยู่แล้วนั้นแทบไม่ต้องไปบอกอะไรก็สามารถมีคุณธรรมจริยธรรมได้ อย่างไรก็ตามการเพิ่มแนวคิดดังกล่าวอาจช่วยทำให้เกิดฉุกคิดและเปลี่ยนแปลงตนเองได้ต่อไป

ทิศทางที่ 3
ภาษาและวัฒนธรรม(Language & Culture)

 “มีห้าสิ่งที่ต้องหาอยู่ตลอด ทางด้านวิชาการ

“หนึ่ง" เราต้องปรับวิชาการให้ทันสมัย ตัวนี้ต้องปรับตลอดเวลา จะบอกว่าไม่มีอะไรใหม่ไม่ได้

“สอง" โลกนี้รวมกันแล้ว ไปงานไหนก็จะเห็นคนมาจากหลายๆ ชาติ ต้องศึกษาเรื่อง Culture ต้องมีประสบการณ์ จะได้ปรับตัวให้เข้ากับเขาได้ สังเกตอย่างคนไทยไม่ค่อยกล้าพูดกล้าทำ เราต้องรู้ต้องมีประสบการณ์

“สาม" การพัฒนาตัวเอง การเรียนหนังสือพ่อแม่เน้นที่วิชาการ ความรู้จะหาเมื่อไหร่ก็ได้ อ่านเองก็ได้ แต่การพัฒนาตัวเอง คาแร็กเตอร์สำคัญ Social Skill ลักษณะนิสัยต่างๆ 

“สี่" คือภาษา ในยุโรปจบมหาวิทยาลัยต้องได้สี่ภาษา ของเราไม่

“ห้า" Thinking Skill ทักษะการคิดต้องหาทางพัฒนา ยุคใหม่ เราเปลี่ยนจากเกษตรมาอุตสาหกรรม มายุค Knowledge base ต้องมายุค Creativity Innovation ดูอย่างมือถือสวีเดน นาฬิกาสวิสเรือนหนึ่ง เราขายข้าวแทบตาย อยู่ที่ Innovation เวลานี้มีบ้างแล้วเริ่มคิดแล้ว เรามีของเยอะแต่ไม่ค่อยมี Innovation พ่อแม่ครูก็ต้องสอนให้เด็กคิด ไม่ใช่ทำให้เลย เด็กไม่เรียนรู้ ที่บ้านและโรงเรียนต้องเชื่อมกัน

“มิติต่าง ๆ เหล่านี้ต้องทำจะเป็นเอ็มบีเออย่างไรก็แล้วแต่เราต้องสร้างคนที่เป็น Global อยู่ที่ไหนก็ได้ ภาษาสำคัญมาก”

นี่คือบทสรุปของ ภราดา ดร.บัญชา จากมหาวิทยาลัยอัสสัม-ชัญ ที่มองว่า ทักษะด้านภาษาและการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกยุคใหม่ๆ การสร้างบุคลากรเพื่อรองรับจึงต้องเน้นหนักให้มีทักษะความรู้ด้านภาษาติดตัวออกไปด้วย ในหลายสถาบันเปิดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเห็นความจำเป็นดังกล่าว เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียน

พร้อมกับการเรียนการสอนเรื่องวัฒนธรรมของแต่ละชาติแต่ละทวีปที่มีความเชื่อวิธีการทางสังคมที่แตกต่างกันโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้งในรายวิชาและการไปทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศที่น่าสนใจอีกทั้งในบางมหาวิทยาลัยมีอาจารย์จากต่างประเทศมาเป็นผู้สอนทำให้นักศึกษาสามารถรับรู้ และสอบถามเรื่องราวทางวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น

เช่นที่มหาวิทยาลัยชินวัตร ผศ.ดร.ชาญชัย บัญชาพัฒน-ศักดา ผู้อำนวยการหลักสูตร MBA ให้ข้อมูลการเปิดสอนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษว่า แม้ผู้เรียนชาวไทยจะไม่สันทัด แต่ทางสถาบันก็เล็งเห็นว่าจำเป็นโดยการใช้อาจารย์จากต่างประเทศ ร่วมกับอาจารย์ชาวไทยเป็นการบังคับให้นักศึกษาต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมให้ผู้เรียนสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้นพร้อมกับการได้ศึกษาความแตกต่างของวัฒนธรรมจากที่ต่างๆ ของโลก 

ขณะที่มีอีกหลายมหาวิทยาลัยคิดโปรแกรมการเรียนแบบใหม่ เช่นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อรรณพ เปิดเผยว่า จะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมากขึ้น โดยมีแนวคิดว่าจะจัดทำหลักสูตรที่ “เทอมที่หนึ่งเรียนจุฬาฯ เทอมที่สองเรียนยุโรป แต่ตรงนั้นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น จะได้คอนเน็กชั่น ได้เห็นวัฒนธรรม เพราะการทำธุรกิจต้องมองภาพกว้าง ต้องทำระดับปริญญาโท ปริญญาเอก เป็นพวกท็อปสัก 20 คน เพราะการทำงานธุรกิจไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศ ต้องมองภาพกว้าง”

นอกจากภาษาอังกฤษที่สามารถสื่อสารกับคนได้ทั่วโลกแล้ว ภาษาจีนและญี่ปุ่น ก็กำลังเป็นที่สนใจของผู้เรียนจำนวนมาก เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และความยิ่งใหญ่ทางธุรกิจของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้มีทักษะทางภาษานั้นๆ มีแต้มต่อที่ดีกว่าในการติดต่อประสานงานทางธุรกิจ

หากมองว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ เริ่มจากในองค์กรที่ทุกวันนี้มีพนักงานนานาชาติมากขึ้น การติดต่อภายนอกองค์กรคู่ค้าและลูกค้า ทำให้หลีกเลี่ยงการติดต่อกับชาวต่างชาติได้ยาก การเพิ่มการศึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรมซึ่งเป็นตัวช่วยที่สามารถเสริมสร้างทักษะในการสื่อสารระดับโลกให้กับบุคลากร จึงมีความตื่นตัวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเห็นชัดเจน 

ทิศทางที่ 4
เน้นงานวิจัย (Research) 

งานด้านวิชาการที่สถาบันการศึกษาเป็นผู้ผลิต มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของโลก กระบวนการวิธีการบริหารจัดการรูป แบบใหม่ๆ ได้รับการสังเคราะห์ วิเคราะห์ จนกลายเป็นทฤษฎีที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในชีวิตการทำงาน

แนวคิดการบริหารจัดการก็เช่นกันที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กูรูทางด้านการบริหารจัดการส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย คิดค้นหาคำตอบการจัดการใรรูปแบบต่างๆ กลายเป็นแบบเรียนให้นักศึกษาและนักธุรกิจทั่วโลกนำไปปรับใช้

ในประเทศไทย แม้ตลาดวิชาการยังไม่สามารถสร้างงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกให้เห็นเด่นชัด แต่ความจำเป็นในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น ให้เหมาะกับบริบททางธุรกิจของสังคมไทยยังคงมีอยู่ วิชาหลายวิชาที่นำมาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อมาถึงประเทศไทยอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นด้วยขนาดของตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่บางวิชาก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เนื้อหามีความสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

งานวิจัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในทุกสถาบัน

 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดร.จีรเดช ให้ความเห็นว่า การเรียนการสอนในรูปแบบเดิมเปลี่ยนไปแล้วสำหรับการศึกษาของไทย “เพราะระบบที่เราสอนอยู่นี้ล้าหลังต่างประเทศ 5-10 ปี สาเหตุเพราะอาจารย์ที่มาสอนไม่ทำวิจัย เมื่อไม่ทำวิจัยก็ต้องกางหนังสือสอน และหนังสือที่สอนกว่าอาจารย์ไทยจะมาอ่าน มาแปลแล้วขึ้นเว็ปก็ตกไป 5 ปี เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เป็นการเอาเรื่อง 10 ที่แล้วมาสอน ตรงนี้ผมรับไม่ได้ ผมจึงให้อาจารย์หันมาทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง”

ดร.บัญชา จากมหาวิทยา-ลัยอัสสัมชัญ ให้ความเห็นตรงกันว่า วิวัฒนาการของโลกอุดมศึกษา เริ่มจากการเรียนการสอน ต่อมาจึงมีการทำวิจัย โดยปกติแล้วอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยก็ทำงานวิจัยอยู่ด้วยแล้ว แต่ไม่ค่อยออกมาบอกกล่าวต่อสังคม

ปัจจุบันนี้งานวิจัยมีบทบาทมากขึ้น ถือเป็นภาระหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาอีกประการหนึ่ง แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอุดมศึกษาของประเทศไทยคือ “ประเทศไทยถามว่ามีหน่วยงานไหนไหมที่เป็นสถาบันการวิจัย ให้ใครทำสูงที่สุดในประเทศไทย ก็ยังนับไม่ได้ เพราะหลักเกณฑ์ของสถาบันวิชาการทางวิจัยต้องทำวิจัยกี่เปอร์เซ็นต์ แล้ววิจัยต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสามารถเอามาใช้ได้ ของไทยเราวิจัยเสร็จแล้วก็ขึ้นหิ้ง เอามาทำเป็นตำแหน่งทางวิชาการ” 

ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงเน้นการสร้างจิตสำนึกทางวิชาการให้กับอาจารย์ ให้ทำวิจัยด้วยตัวเองจากการสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ทางผู้บริหารสั่งการ ทั้งนี้ทางสถาบันจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ให้กับอาจารย์เอง

ขณะที่ ดร.ชัยอนันต์ จากวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล มองเรื่องการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางการบริหารจัดการว่า การสร้างทฤษฎีใหม่เป็นเรื่องที่ยาก เพราะสาขาวิชานี้เป็นฐานความคิดจากตะวันตก และประเทศไทยยังไม่มีนักคิดหรือนักทฤษฎีที่ไปพัฒนาแนวคิดให้สู่ระดับทฤษฎี

อย่างไรก็ตาม หากจะมีสาขาที่นักวิชาการไทยน่าจะสร้างทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ตามทัศนะของ ดร.ชัยอนันต์ชี้ว่า “ได้ก็คงเป็นด้านของจริยธรรม ที่เรียกว่า Corporate Social Responsibility (CSR) ความรู้นี้น่าจะทำได้ เพราะของเรามีพื้นฐานจากสังคม การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันและการให้กับสังคม ให้กับวัดหรือตั้งแต่ครอบครัวการอยู่กันมีปู่ย่าตายาย ดูแลคนที่ไม่ได้ให้อะไรต่อผู้ดูแล ไม่ได้เป็นลูกค้า ก็ยังมีการดูแลกันอยู่”

งานวิจัยที่สถาบันอุดมศึกษาจัดทำขึ้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่งานวิจัยทางวิชาการเพื่อทำเป็นทฤษฎีแต่การศึกษาธุรกิจแขนงต่างๆ ก็สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ประกอบการรุ่นหลังสามารถนำไปปรับใช้ได้ เช่น มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ผศ.ดร.วิชัย รัตนา - กีรณวร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย เปิดเผยว่า งานวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระของนักศึกษามีเป็นจำนวนมาก ทางสถาบันพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาทำงานให้เกิดประโยชน์กับตัวเองให้มากที่สุด ถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับสังคมธุรกิจในภาคใต้ไปพร้อมกัน

หรือในกรณีของ สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ โดย ผศ.ดร.รัตนา ประเสริฐสม อธิการบดี โดยความเห็นเกี่ยวกับการทำวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการค้าปลีกว่า ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้งานวิจัยเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจในการวางกลยุทธ์ต่างๆ ศูนย์วิจัยฯ สามารถช่วยสังคมหรือหน่วยงานภายนอกได้ในจุดนี้ เพราะทางสถาบันมีแผนแม่บทงานวิจัยที่จะรวบรวมข้อมูล เพื่อใช้ค้นคว้า

ดร.รัตนามองว่า สิ่งที่สถาบันจะได้ประโยชน์จากการทำงานวิจัยคือ ชื่อเสียงของสถาบัน และเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ทำงานวิจัยมากขึ้น และอนาคตหากมีผู้สนใจมาว่าจ้างให้สถาบันทำงานวิจัยก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมและหารายได้

ตัวอย่างงานวิจัยของนักศึกษาที่ทำขณะทำการศึกษาและได้รับการยอมรับตัวอย่างหนึ่งเกิดที่คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผศ.ดร.จิระเสกข์ ตรีเมธสุนทร รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา ให้ข้อมูลว่า ในการทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาอยากสร้างองค์ความรู้เรื่องอะไรต้องศึกษาวิจัยในเรื่องนั้น เช่น ต้องการสร้างองค์ความรู้เรื่องการบริหารอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ ผู้ทำวิจัยต้องนำเอาความรู้จากต่างประเทศมาปรับปรุงให้ตรงกับที่เขาต้องการทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่

“คือ มีนักศึกษาทำงานอยู่ที่โรงงานใหญ่แห่งหนึ่งเขาวิจัยเทคนิคการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ พอเขาวิจัยเสร็จ ผลปรากฎว่างานวิจัยเขาสามารถไปใช้งานในโรงงานได้จริง และเขาก็ได้รับรางวัล จากผู้บริหารต่างประเทศ นั่นเป็นผลจากการสร้างองค์ความรู้ของนักศึกษาเอง”

ดร.จิระเสกข์ บอกอีกว่า ทุกวันนี้งานวิจัยของนักศึกษาโดยส่วนใหญ่ เมื่อวิจัยเสร็จแล้ว ทางโรงงานก็จะขอดูเพื่อนำไปปรับปรุงโรงงานต่อไป

การสร้างงานวิชาการใหม่ๆ จึงไม่จำกัดวงอยู่เพียงแค่คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาหากแต่ตัวนักศึกษาเองก็สามารถเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นมาได้ ทั้งนี้โดยความช่วยเหลือให้คำปรึกษาของผู้สอน การร่วมมือกันเช่นนี้ส่งผลดีต่อทั้งนักศึกษาและอาจารย์ ที่จะมีโอกาสได้แบ่งปันสิ่งที่ตนมีอยู่ และนำสิ่งที่ตนขาดมาประยุกต์ปรับปรุงให้เกิดวิธีคิดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาได้

โลกที่แข่งกันด้วยความเร็ว ความรู้จำเป็นอย่างยิ่งที่งานวิจัยของประเทศไทยต้องมีการพัฒนา 
ให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นของเราเอง เพราะในสภาพการแข่งขันระดับโลก หากมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์หรือเปลี่ยนแปลงหลักวิธีคิดที่มีพื้นฐานจากแหล่งใด ประเทศต้นตำรับหรือผู้ที่ยึดครององค์ความรู้พื้นฐานในเรื่องดังกล่าว ก็สามารถประยุกต์เอาพื้นฐานที่มีนั้นมาใช้ได้โดยง่าย ต่างจากผู้ที่ไม่มีความรู้เป็นของตนเอง ใช้การนำเข้าองค์ความรู้และมาปรับใช้ การปรับตัวต้องใช้เวลานานกว่าที่จะสามารถทำได้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง

และเรื่องนี้สอดคล้องกับแนวคิดภาครัฐต้องการเน้นให้ประเทศไทยผลิตชุดความรู้ด้านต่างๆ ของตนเองขึ้นมาให้ได้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขันในระดับโลกต่อไป

วัดกันที่คุณภาพ

นับวันความนิยมศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจของคนไทยจะมีมากขึ้นสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งมีการปรับปรุงหลักสูตรวีธีการเรียนการสอนรวมถึงการเปิดสถานที่เรียนใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มาเรียนมากขึ้น

สิ่งที่ผู้เรียนคาดหวังจะได้จากการเรียนย่อมต้องเป็นความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาการที่นำมาสอนอีกทั้งเน็ตเวิร์กที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนกับเพื่อนร่วมห้องและคณาจารย์การเพิ่มทักษะความสามารถใหม่ๆ สำหรับการทำงานของแต่ละคนความคาดหวังจะได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นการย้ายที่ทำงานใหม่ ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าเดิม หรือบางคนอาจจะอยากมาเรียนเพราะอยากได้ปริญญาอีกสักใบไว้ประดับฝาบ้าน

ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นได้จากการเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงคือคุณภาพทางการศึกษาที่แต่ละสถาบันมอบให้กับมหาบัณฑิตเหล่านี้สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตร MBA ในประเทศไทยที่มีจำนวนมากมายจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการควบคุมดูแลคุณภาพการเรียนการสอนให้ดี

ขณะที่ผู้เรียนคงต้องทบทวนตัวเองว่า ที่สมัครเข้าเรียนนั้นตามแฟชั่นหรือไม่ เรียนแล้วจะนำไปใช้งานจริงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า การเรียน MBA ก็เป็นโอกาสแบบหนึ่ง หากเรียนแล้วไม่นำไปใช้นับเป็นการสูญเสียโอกาสของสังคมของประเทศ

ผู้บริหารสถาบันการศึกษาหลายท่านให้ความเห็นกับ MBA ว่าต่อไปผู้ประกอบการคงต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกรับบุคคลเข้าทำงานที่เรียนจบ MBA มากขึ้นเพราะจำเป็นที่มีมากขึ้นของสถาบันที่สอน จำนวนนักเรียนที่จบมาปีละกว่าหมื่นคน การคัดเลือกอย่างพิถีพิถันจึงเป็นสิ่งจำเป็น

เพราะการแข่งขันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา คำว่าคุณภาพ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการคัดสรรบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ทั้งสถาบันอุดมศึกษาและตัวผู้เรียนเองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาคุณภาพของตนเองไว้ให้ได้ 

แหล่งที่มา : วารสาร MBA (Vol.10 No.115 October 2008) 

 

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (Assumption University) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย และเป็นองค์กรที่มิได้หวังผลกำไรตอบแทน ใน พ.ศ. 2512 มูลนิธิฯ ได้ขยายการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่เน้นภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอนแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “Assumption School of Business” (ASB) และ พ.ศ. 2515 สถาบันได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและใช้ชื่อใหม่ว่า “วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ” (Assumption Business Administration College-ABAC) ต่อมาใน พ.ศ. 2533 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัย และใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ” (Assumption University- Au) จนถึงปัจจุบัน เป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คือการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนมาตั้งแต่ครั้งในอดีตซึ่งมีเพียงคณะบริหารธุรกิจเพียงคณะเดียวจนกระทั่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญสามารถเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน อีกทั้งยังได้ปรับปรุงระบบการศึกษาให้เป็นตามมาตรฐานสากล และเป็นสังคมนานาชาติ (International Community) ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างความหลากหลายทาง

เชื้อชาติ ศาสนา สิลปวัฒนธรรม และประเพณี ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสและชื่นชมสิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมทั้งของตะวันตกและตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาและคณาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมากกว่า 80 ประเทศ

ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า รางวัล PM’s Export Award 2008 นี้นับเป็นรางวัลที่ 2 ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่ได้รับจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งครั้งแรกได้รับไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา หากมองในแง่ของอุตสาหกรรม การส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ เราก็จะได้เงินดอลลาร์กลับมา แต่สำหรับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ไม่ใช่เพียงแค่ค่าหน่วยกิต เพราะเราเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศ การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษาชาวต่างชาติ ที่เข้ามาพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กินอาหารไทย ซื้อสินค้าไทย ธุรกิจต่างๆ เหล่านี้ก็ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย ถือเป็นการช่วยเรื่องเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้นักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทย รู้จักอาหารไทย และมีโอกาสนำประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้กลับไปยังประเทศบ้านเกิดอีกด้วย

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีระบบการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ (International Program) ทั้งหมดมีนักศึกษาหลากหลายชาติ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย รัสเซีย ภูฏาน ทิเบต ฯลฯ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่เราให้การช่วยเหลือ เช่น ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งเป็นการสร้างพันธมิตรระหว่างชาติ ถือเป็นการรับใช้ประเทศชาติอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ก็มีส่วนช่วยเหลือมหาวิทยาลัยในเรื่องของการเปิดตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ มากขึ้น และสิ่งที่เน้นย้ำเสมอคือเราเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แม้ว่าเราจะทำงานแบบนักธุรกิจ แต่เราไม่ทำธุรกิจกับการศึกษา ดังนั้นเงินทุกบาทที่ได้มาจึงเป็นการนำกลับไปใช้พัฒนาการศึกษา ปรับปรุงสถานที่เพื่อบรรยากาศเรียนที่ดี คุณภาพของบุคลากรเจ้าหน้าที่ และปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ทันยุคสมัยตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นการลงทุนทางการศึกษาที่ใช้เงินทุนจำนวนมากมายมหาศาล เพื่อผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพออกสู่สังคมโลก

 

แหล่งที่มา : วารสาร Strategy+Marketing (Vol.7 Issue 81, 2008) หน้า 92

เอแบค-ตลท. เปิดสาขาวิชาตลาดทุน และมอบ 

TSI Investment Simulation และ SET Corner

ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ นายพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงเปิดสาขาวิชาตลาดทุน เพื่อผลิต Capital Market Professionals สู่ตลาดอุตสาหกรรม โดยมี ดร. กิตติ โพธิกิตติ คณบดีบัณฑิต วิทยาลัยบริหารธุรกิจ และนางจิราพร คูสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมในพิธีแถลงข่าวพร้อมผู้บริหารทั้งสองฝ่าย ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตหัวหมาก เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา 

แหล่งที่มา : วารสาร MBA (Vol. 11 No. 120, March 2009) หน้า 175