ทำไม มหาวิทยาลัย...ไม่มี Innovation ไม่ได้?

หากพูดถึงชุมชนการศึกษานานาชาติ ที่แข็งแกร่งที่สุดในเมืองไทย คงต้องยกให้ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค ที่เปิดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรแบบนานาชาติเป็นแห่งแรกตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา 

  ทำไม มหาวิทยาลัย... ไม่มี Innovation ไม่ได้?

นอกจากจุดแข็งความเป็น International Community เอแบคยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ปักธงสร้างเอกลักษณ์ทางการศึกษาบนแนวคิด The Land of Tradition and Innovation อย่างจริงจัง           

บราเดอร์บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวถึงการปรับตัวว่ามีสาเหตุมาจากกระแส Globalization และเทคโนโลยีที่มาแรง ทำให้การเรียนการสอน  2 ภาษา   และการมีจุดแข็งด้านองค์ความรู้ Management ของเอแบคไม่เพียงพออีกต่อไป การปรับตัวจึงมีทั้งด้าน Tradition หรือการรักษาคุณภาพการศึกษาที่ดีไว้ดังเดิม ควบคู่ไปกับการสร้าง Innovation           

“เราต้องเป็นองค์กรที่มีอยู่ในอนาคต จะมานั่งรักษาอย่างเดียวไม่ได้ จึงต้องสร้าง Innovation ในทุกเรื่อง เช่น หลักสูตรจะต้องมี Innovation หากยังทำแบบเดิม คนจะไม่สนใจ สังเกตว่าในยุคเก่าการศึกษาจะเน้นการสร้างคน แต่ในยุคใหม่เน้นการสร้างคนให้ออกมาทำงานให้ได้ เทรนด์ของวิชาชีพจึงเติบโตเร็วมาก     การศึกษาจึงต้องมี Innovation ในแง่ของหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน ความยืดหยุ่นในการทำงาน การเข้าเรียนในชั้นเรียน ตัวอย่างของ Innovation ในเอแบค เช่น การก่อตั้งสถาบัน ซิเด้ (CIDE : College of Internet Distant Education) เพราะในอนาคตจะเกิดภาวะแย่งงานกันทำ จึงเกิดคำถามว่าสถาบันจะดึงกลุ่มคนวัยทำงานมาเรียนได้อย่างไร ในเมื่อค่าเล่าเรียนเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงและคนกลุ่มนี้ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย”

เอแบค ยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่สร้าง U Town หรือ University Town มหาวิทยาลัยเสมือนจริง (Virtual University) บนโลกออนไลน์แห่งแรกของไทย มีการจำลองสถาปัตยกรรมต่างๆ ในเอแบค เช่น ตึก สนามบาส อัฒจันทร์ รูปปั้น ฯลฯ เหมือนผู้ใช้งานเดินเข้ามาในเอแบคจริงๆ นอกจากนี้ใน U Town ยังมีการพัฒนาระบบให้นักศึกษาทำกิจกรรมได้มากมาย เช่น การสนทนาผ่านเครือข่าย การเข้าเรียนในชั้นเรียนที่สอนผ่านระบบ E – Learning และการพัมนาระบบอีคอมเมิร์ซ Virtual Commerce เป็นบริการเสริมสามารถซื้อขายออนไลน์ มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสามมิติ และสั่งซื้อสินค้าได้จริงผ่านระบบ Paypal

โปรเจ็กต์ต่อยอดของ U Town คือการเชื่อมโยงกับการศึกษา การท่องเที่ยว เช่น จำลองโบราณ สถานที่สูญหายไป เช่น วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ จ.พระนครศรีอยุธยา การสร้างกิจกรรมสมานฉันท์ในสังคม เช่น การจำลองสวนโมกข์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์คุณภาพแห่งนี้ได้ด้วย     

ล่าสุดเอแบคยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เปิดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ในระบบ Broadcast ผ่าน Mobile Learning ในระบบ iTouch & Learn เริ่มที่หลักสูตร i M.B.A. เป็นหลักสูตรแรก โดยมีการอัพโหลดเนื้อหาการเรียนการสอนไว้ในระบบที่พัฒนาร่วมกับ Apple นักศึกษาสามารถเข้าไปดาวน์โหลดเนื้อหาต่างๆ ลงมาไว้ใน iPhone, iPad หรือคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊คทั่วไป ทั้ง Platform Mac หรือ Windows เป็นการเผยแพร่เนื้อหาการเรียนสู่สากล และช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าไปดูเนื้อหาก่อนเรียนหรือในกรณีเข้าเรียนไม่ทัน ซึ่งมีส่วนช่วยให้การเรียนของนักศึกษามีความคล่องตัว สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น

ในอนาคตอันไกล้ เอแบคเตรียมการพัฒนาระบบ iTouch & Learn ขยายไปยัง Mobile Devices หรือสมาร์ทโฟน เช่น BlackBerry หรือ Android เพิ่มเติม    

แหล่งที่มา : The Company (ปีที่ 14 ฉบับที่ 161 เมษายน 2554) หน้า 104 

"เอแบค" ตอกย้ำ ม.เอกชนหลักสูตรนานาชาติแห่งแรกของไทย รุกเปิดประตูการศึกษาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดย ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เผยว่า “ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) และโรงเรียนอัสสัมชัญ นครราชสีมาเราเป็นสถาบันการศึกษาที่บริหารโดยมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยที่ผลิตบุคลากรเพื่อรับใช้สังคม และประเทศชาติมาเป็นเวลานาน เราทั้ง 2 สถาบันการศึกษาเล็งเห็นความสำคัญในเปิดโอกาสทางการศึกษาในเมืองไทยให้ก้าวสู่ระดับสังคมโลก (Form International to Globalization) ซึ่งเอแบคเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในเมืองไทยที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติในทุกหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งตลอดมาทางบัณฑิตที่เรียนจบจากที่นี่เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพสร้างสรรค์พัฒนาชาติไทยให้เจริญก้าวหน้ามากมาย ทางมหาวิทยาลัยเองในเรื่ององค์ความรู้นั้นก็เป็นอันดับหนึ่งไม่รองใคร       กว่า 40 ปี ที่เอแบค หรือ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญยืนหยัดเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติที่มีนักศึกษามากเป็นอันดับต้นของเมืองไทย ล่าสุดมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ร่วมมือกับโรงเรียนอัสสัมชัญ นครราชสีมา เตรียมขยายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนมัธยมที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยและผู้ที่สนใจศึกษาต่อในระดับโท และเอก ได้รับคำปรึกษาและสมัครเรียนในภูมิภาคของตัวเองผ่าน ศูนย์ ABAC Admissions Center ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดนครราชสีมา 

ในส่วนของผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ จะได้รับความมั่นใจและมีส่วนร่วมกับบุตรหลานในการตัดสินใจสรรหาสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุด และมั่นใจที่สุดสำหรับส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงและรวดเร็วจากศูนย์รับสมัครที่มีอยู่ในภูมิภาคของเรา ที่ผ่านมาเร่าค่อนข้างเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการศึกษาต่อของเด็กมัธยมปลายและจนผู้สนใจศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้วยความเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้แบบนานาชาติที่มีนักศึกษาจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกเข้ามาศึกษาในแต่ละปี และมีหน่วยกิตการศึกษาที่ไม่แพงอย่างที่คิดเมื่อเทียบกับหลักสูตรนานาชาติของสถาบันอื่นในเมืองไทย และด้วยความเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาที่มีความทันสมัย ทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมอันงดงาม จะส่งผลให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จและมีความสุขกับการมาเรียนในสถาบัน

นอกจากนี้เอแบคยังเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMDs)ของประเทศไทย โดยศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์บริการให้คำปรึกษาและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโดยชื่อว่า ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ หรือ ABAC Innovation. Creativity and Enterprise (ICE Center) และ ศูนย์ ABAC Business Leal and Advisory Center หรือ ศูนย์ปรึกษาทางธุรกิจ และกฎหมาย แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เราคาดว่าการขยายโอกาสทางการศึกษาของเอแบคสู่ภูมิภาคอื่นๆ ต่อ ทั่วประเทศไทย จะสามารถสร้างสรรค์บุคลากรที่มีคุณภาพครบสูตรมารับใช้ประเทศชาติ และสังคมโลกได้ โดยที่นักศึกษาเหล่านี้สามารถเลือกเรียนได้ตามศูนย์ที่อยู่ในภูมิลำเนาของตนเอง” ภรดา ดร.บัญชา กล่าวทิ้งท้าย 

ด้าน ภราดาวีรยุทธ บุญพราหมณ์ อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมากล่าวว่า “โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา เป็น 1 ใน 14 สถาบันของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับใช้ด้านการศึกษาให้กับชุมชนและผู้ปกครองของจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่เราประสบความสำเร็จ ทางด้านการจัดการศึกษาและเป็นที่ยอมรับของสังคมมาโดยตลอด  

โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมาของเรา เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นก่อนประถมศึกษา ถึง มัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนมุ่งพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ตที่มีจุดมุ่งหมายแรกเริ่มที่จะสอนให้เยาวชนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และมีหลักศาสนาเป็นแนวทางให้ประพฤติตนเป็นคนดี ปัจจุบันเรามีความพร้อมในทุกด้านทั้งอาคารเรียน อาคารประกอบ รวม 12 อาคาร อาคารที่พักนักเรียน ประจำ 4 อาคารห้องเรียนและห้องปฏิบัติการกว่า 100 ห้อง มีครูไทยและครูต่างชาติกว่า 200 คน และนักเรียนกว่า 3,000 คนต่อปี ซึ่งนักเรียนประจำและนักกีฬาช้างเผือกกว่า 30 คน การเปิดศูนย์รับสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงเป็นการเพิ่มโอกาสต่อยอดสู่ความสำเร็จของลูกหลานชาวอัสสัมชัญสายตรง เพื่อก้าวไปสู่ระดับประเทศและนานาชาติในอนาคตอันใกล้” 

 

สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ ABAC Admissions and study Abroad Center

โทร.044-295300 เบอร์ตรง 081 8151237

แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ปีที่ 10 ฉบับที่ 3496 วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 10 

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สถาบันการศึกษาที่คนไทยเชื่อมั่นในความเป็นนานาชาติ

เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปิดพรมแดนนานาชาติให้สามารถทำการค้าด้วยกันได้ทั่วโลก ความต้องการบุคลากรที่มีความพร้อมทั้งความรู้ความสามารถ และภาษาที่เป็นสากลในตลาดแรงงาน ทำให้วงการศึกษาในไทยเกิดความตื่นตัวรับกระแส สถาบันการศึกษาหลายแห่งพยายามปรับหลักสูตรให้สามารถตอบสนองความต้องการในภาคธุรกิจ จนเกิดการแข่งขันสร้างจุดเด่นในความเป็นนานาชาติในสายตาพ่อแม่ผู้ปกครอง 

ท่ามกลางสถาบันการศึกษานานาชาติที่เปิดแข่งกันเป็นดอกเห็ดอยู่ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มีระบบการสอนหลักสูตรนานาชาตินับตั้งแต่วันแรกเริ่มก่อตั้งกระทั่งมาขยับนำไปอีกก้าวด้วยการตั้งเป้ายกระดับความเป็นนานาชาติ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยโลก เพื่อแสดงศักยภาพความเป็นสถาบันการศึกษาที่พร้อมมอบองค์ความรู้ระดับสากลแก่นักศึกษาทั่วโลก 

ยกระดับนานาชาติ สู่มหาวิทยาลัยโลก 

ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) กล่าวว่าการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ ไม่ได้หมายเพียงแค่เรื่องภาษาเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงองค์ประกอบทุกอย่างอันเป็นปัจจัยสร้างองค์ความรู้ระดับสากลที่จะทำให้เมื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว นักศึกษาสามารถนำเอาองค์ความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วทุกมุมโลก โดยไม่ต้องมาเสียเวลากับการปรับตัวอีก ซึ่งการสร้างองค์ความรู้สากลนี้เอแบคได้สั่งสมประสบการณ์มานานกว่า 40 ปี โดย เน้นปัจจัยสำคัญดังนี้

 - ผู้เรียน ปัจจุบันเอแบคมีนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 3,000 คน จาก 88 ประเทศใน 6 ทวีป และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน้อยปีละ 15% การเป็นแหล่งรวมนักศึกษานานาชาติอย่างแท้จริง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอันจะเป็นการลดช่องว่างและสร้างความเข้าใจที่เสริมประสิทธิภาพวิชาความรู้ของนักศึกษาให้สามารถนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ทั่วทุกมุมโลก 

- ผู้สอน อาจารย์ผู้สอนเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิมาจากหลายประเทศ โดยมีอาจารย์ต่างชาติ 30% ที่เหลือเป็นอาจารย์คนไทยที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ และบางท่านมีประสบการณ์การสอนในต่างประเทศมาก่อน 

- สภาพแวดล้อม ทั้งตึกอาคารเรียน สำนักงาน หอสมุด หอพัก หรือแม้กระทั่งป้ายประกาศล้วนสร้างให้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมนานาชาติอย่างแท้จริง ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้นักศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัยต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร บรรยากาศการเรียนการสอนจึงไม่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยเมืองนอกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย 

- หลักสูตรการเรียนการสอน มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชื่อดังในหลายประเทศเพื่อพัฒนาหลักสูตรให้มีความเป็นสากลตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานโลก อีกทั้งยังมีการควบรวมหลักสูตรที่มีความเกื้อหนุนกันเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่รอบด้าน นักศึกษาที่จบออกไปจึงไม่เพียงรู้ลึกรู้กว้างในสาขาวิชาที่เรียน แต่ยังมีความคล่องตัวในการปรับตัวให้เข้ากับวิชาชีพในอนาคต “เช่น หลักสูตรวิศวกรรมการบิน นักศึกษาจะมีความรู้พื้นฐานทั้งทางด้านวิศวกรรม และด้านอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อจบออกไปแล้ว หากค้นพบทีหลังว่าไม่ชอบหรือไม่ถนัดอาชีพนักบิน หรือประสบปัญหาไม่สามารถประกอบอาชีพนักบินได้ ก็ยังสามารถไปประกอบอาชีพอย่างอื่นได้ หรือศึกษาต่อในด้านอื่นได้ เช่น วิศวะ หรือ ช่างซ่อมเครื่องบิน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว  

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นสถาบันการศึกษานานาชาติที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ มีหลายมหาวิทยาลัยทั้งใน ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั่วเอเชียส่งนักศึกษามาเรียนที่นี่ปีละหลายร้อยคน ภราดา ดร. บัญชากล่าวว่ากว่าเอแบคจะมาเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ ที่ยังไม่มีอาจารย์จบจากต่างประเทศมากนัก ทำให้เอแบคต้องลงทุนจ้างอาจารย์ชาวต่างชาติมาสอนขณะที่นักศึกษาในยุคนั้นมีพื้นฐานภาษาไม่ดีประเภทเรียนมาหลายปีก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ มหาวิทยาลัยจึงต้องพยายามทุกอย่างเพื่อปรับพื้นฐานภาษาให้กับนักศึกษา อีกทั้งยังต้องปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของสังคม และตลาดแรงงานไปพร้อมกัน

ความสำเร็จในวันนี้จึงต้องยกประโยชน์ให้กับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ตลอดจนถึงนักศึกษานับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันที่ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคจนนำพามหาวิทยาลัยมาถึงวันนี้ได้ ซึ่งนับจากวันนี้ไปถือเป็นภาระหน้าที่ของชาวเอแบครุ่นใหม่ทุกคนทั้งคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนถึงนักศึกษาจะร่วมกันนำพาเอแบคก้าวไปถึงการเป็น Thailand’s Global University ในปี 2562

มุ่งภารกิจผลิตทรัพยากรบุคคลสร้างสรรค์สังคมโลก

เพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอีกทั้งโลกที่ถูกย่อให้ทุกสังคมเชื่อมโยงถึงกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งจึงสามารถส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกได้ หลักสูตรการเรียนการสอนจึงไม่ควรมุ่งเน้นผลิตบุคลากรให้มีความสามารถในการแข่งขันกันเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องคำนึงถึงการรังสรรค์ประโยชน์ต่อส่วนรวม ประชาคมโลกจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

วัฒนธรรมการเรียนการสอนของเอแบค เน้นเปิดเสรีทางความคิดให้กับนักศึกษา เพื่อฝึกฝนให้เป็นคนคิดเองเป็น ทำเองได้ โดยเชื่อว่าทักษะเช่นนี้จะทำให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาต่อยอดความคิดใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก ภราดา ดร. บัญชา กล่าวว่าก้าวต่อไปของเอแบคไม่ใช่เป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นเนื้อหาวิชาการเป็นหลักอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาให้มหาวิทยาลัยผลิตงานวิจัยรองรับสังคมให้มากขึ้น สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็น Teaching and Research University นำงานวิจัยเข้าไปเสริมความรู้หลัก และยกระดับงานวิจัยให้เทียบชั้นกับงานวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งเอแบคได้เปรียบตรงความเป็นนานาชาติมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยนำนักศึกษาต่างชาติเข้าสู่ประเทศจนเกิด เครือข่ายทางวิชาการ ส่งผลให้เกิดพลังขับเคลื่อนจากภายในมหาวิทยาลัยส่งผ่านไปยังภายนอกสะท้อนเอกลักษณ์มหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน 

ขณะเดียวกันก็ต้องปลูกฝังจริยธรรมวิชาชีพให้กับนักศึกษาด้วย โดยทุกหลักสูตรของเอแบคนักศึกษาจะต้องเรียนและผ่านวิชาจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งไม่เพียงเรียนแค่ทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังนำบุคคลสำคัญในวงการวิชาชีพต่างๆ มาถ่ายทอดประสบการณ์ตรง อีกทั้งจัดพานักศึกษาไปสัมผัสเรียนรู้ชีวิตผิดพลาดของคนในแต่ละกลุ่มเพื่อให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะขึ้น เช่น สัมผัสกับชีวิตนักโทษในเรือนจำ บ้านพักคนชรา เป็นต้น 

ความมุ่งมั่นในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีจิตสาธารณะ เช่นนี้ถือเป็นพันธกิจที่ท่านอธิการบดีคนปัจจุบันเชื่อมั่นว่าจะนำพามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพิ่มมากขึ้นจนสามารถผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้เอแบคไม่เพียงเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศเท่านั้น ในประเทศไทยเองเอแบคขึ้นชื่อเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในฝันที่หลายคนอยากเข้าศึกษา กระทั่งได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และนักศึกษาทั่วเอเชียลงคะแนนให้ได้รับรางวัล Trusted Brand 2011 จากนิตยสารรีดเดอร์สไดเจสท์ ในปีแรกที่มีการสำรวจความนิยมในกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน ในเรื่องนี้ ภราดา ดร. บัญชากล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจที่ได้รู้ว่ามีคนเห็นความมุ่งมั่นในการอุทิศตนให้กับการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งความภาคภูมิใจนี้จะเป็นพลังใจให้ชาวเอแบคทุกคนร่วมใจกันนำพามหาวิทยาลัยแห่งนี้ก้าวสู่การเป็น Thailand’s Global University ได้ตามเป้าหมายแน่นอน 

“ความเป็นสถาบันการศึกษา ต่างจากแบรนด์สินค้าทั่วไป เราไม่สามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์จุดดีจุดเด่นของเราได้ พื้นที่สามหน้านี้จึงมีจุดหมายเพื่อแสดงความขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบความเชื่อมั่นให้กับเรา และขอให้คำมั่นว่าเราจะทำให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ เป็นแหล่งรวมการศึกษาของคนทุกชาติ เป็นสถาบันการศึกษาที่ทุกคนที่จบออกไปจะต้องเกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพของตัวเอง”                  ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกล่าวในตอนท้าย 

แหล่งที่มา : วารสาร Resders Digest มิถุนายน 2554 หน้า 113-115 

The Entrepreneur Creator ABAC The Land of Tradition and Innovation

 

“อุปสรรคทั้งปวง สามารถเอาชนะได้ด้วยความอุตสาหะ”

  สถาบันที่เปรียบประดุจบ้านเกิด

ผู้เรียนทุกคนประหนึ่งเป็นสมาชิก

ในครอบครัวเดียวกัน 

 สถาบันที่เป็นแสงประทีปแห่งปัญญา

เป็นดวงประทีปส่งนำชีวิตไปสู่จุดหมาย

ด้วย “ปัญญา” และ “คุณธรรม” 

 สถาบันที่เปรียบเป็น “นาวาชีวิต”

ที่ต้องฝ่าคลื่นลมไปจนถึงฝั่ง 

โดยให้คิดอยู่เสมอว่า “ชีวิตคือการต่อสู้”

สถาบันที่สอนให้คนทำงานทุกอย่างเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระเจ้า

และให้มุ่งแสวงหาความรู้อยู่เสมอ 

 สถาบันที่พร่ำสอนให้กระทำความดี

เพื่อเชิดชูและจรรโลงไว้ซึ่งเกียรติยศ

จะเป็นที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว 

 ..................

 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)  

The Entrepreneur Creator

“ปรัชญาการศึกษาของ ABAC ไม่เปลี่ยนเพราะถือเป็นสถาบันการศึกษาคาทอลิก ต้องยึดมั่นต่ออุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งคือนักบุญ หลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต (Saint Louis Marie Grignion de Montfort) ที่เชื่อว่า การศึกษาจะเป็นตัวสร้างคนให้มีปัญญา”

ของเก่าดีๆ เก็บไว้ ของใหม่มา ใช้อย่างรู้ทัน ใช่ว่า “เก่าไป ใหม่มา” ซะที่ไหนกัน ถ้าจะให้ดีทั้งสองอย่างต้องผสมกลมกลืนให้ลงตัวที่สุด ความคิด วิธีการ คุณค่า ค่านิยมที่เติบโตมาพร้อมความงอกงามของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ประสานกับองค์ความรู้ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี เพราะโลกศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงชนิดที่ต้องจับตาทุกขณะ มหาวิทยา-ลัยอัสสัมชัญจึงเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงเสมอมา  

@ABAC สถาบันการศึกษาที่เกิดขึ้นจากการออกแบบมาตั้งแต่ต้น (Born By Design) โดยมีปรัชญาการศึกษาที่พัฒนาศักยภาพของบุคคลทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย สติ ปัญญา อารมณ์ และจิตวิญญาณ เพราะแต่ละส่วนที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวนั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้เด็ดขาด ถึงจะเรียกว่า “สมบูรณ์แบบ”

 

ดัง “จิตตารมณ์” ที่ได้รับการทบทวนจากคณะภราดาเสมอเหมือนอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่น ทุ่มเท ทำงานหนัก (Operated by Commitment) เพื่อผลิตผู้เรียนออกสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพพร้อมสรรพวิชาด้วยบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาของผู้เรียนยิ่งเปิดโลกทัศน์และมุมมองทางความคิดให้กับผู้เรียนได้เห็นมุมมองของการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

“การให้การศึกษากับคน ต้องให้การศึกษาให้ครบไม่ใช่ให้ส่วนเดียวของร่างกายเพราะคนนี่มีหลายมิติ (Dimensions) ซึ่งจับแยกกันไม่ได้” ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว หากร่างกาย (body) ไม่แข็งแรงก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และประกอบกิจการงานต่าง ๆ ขณะเดียวกันสติปัญญาต้องได้รับการพัฒนาโดยให้การศึกษา ให้คนรู้จักคิด รู้จักสร้างงานด้วยตนเอง และสร้างสรรค์งานอย่างมีคุณธรรม

ปณิธานเมื่อแรกก่อตั้ง จวบจนวันนี้ยังคงความเข้มแข็งในการทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้” การศึกษาอันเป็นเลิศของคณะภราดาและคณาจารย์ เพื่อบ่มเพาะความรู้ให้กับผู้เรียนพร้อมกับคุณธรรมที่ดำรงไว้ซึ่งความเป็น “คนดี” ของสังคม ดังที่ ภราดา ซีเมออน (Simeon) อัคราธิการองค์ที่ 2 (ค.ศ. 1852- 1862) 

เคยกล่าวไว้ว่า “…จะอย่างไรก็ตามภราดาที่รัก พวกเราต้องพยายามทำตนให้เหมาะสมกับการเป็นครู มิใช่ทางด้านศาสนาและคุณธรรมเท่านั้น แต่ในด้านวิชาโลกด้วย...” (4 สิงหาคม 1855 )

พัฒนาการของมหาวิทยาลัยก้าวไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อม ผนวกกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) ปรับรูปแบบวิธีการบริหารงานให้คล่องตัว (Adapting itself to the changes) และนำนวัตกรรมกลับมาใช้ใหม่ (Re-innovation) ผ่านหลักสูตรที่ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย เทคโนโลยีการสอนที่ตามทันกระแสนำมาใช้เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มและตื่นตัวต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ตลอดจนไม่ได้ละเลยเทคนิคการสอนของอาจารย์แม้จะเป็นคณาจารย์รุ่นเก่าแต่มีความทันสมัยที่ปรับตัวไปพร้อมกับผู้เรียนทุกย่างก้าว

ทว่า สิ่งหนึ่งที่เอแบคยังคงยึดมั่นไม่เสื่อมคลายแม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปมากแค่ไหนก็ตาม คือ การขัดเกลาผู้เรียนให้มีคุณธรรม ซึ่งสะท้อนผ่านวิชา Professional Ethics ที่แม้จะไม่มีหน่วยกิต ไม่สามารถวัดผลเป็นคะแนนได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ความสำคัญกลับเป็นเครื่องมือหล่อหลอมคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งเป็นพื้นฐาน “ความดี” ของความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เรียนที่ซึมลึกอยู่ในจิตวิญญาณ 

ความรอบรู้ที่จำเป็น ในยุคโลกาภิวัตน์จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่เส้นทางการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันในโลกยุคใหม่ที่ต้องมองให้รอบด้านบริหารจัดการให้เป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ สิ่งแวดล้อมภายใน ภายนอกอย่างเท่าทัน และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็น

“เราฝึกเด็กของเราให้เป็นผู้นำ ในศตวรรษที่ 21 ต่างจากผู้นำในอดีต และจะนำอย่างไร เราจึงต้องรู้จักสร้างคนให้เป็นผู้นำโดยมีลักษณะเป็นคนที่ Think Globally and Act Locally ต้องรู้จักประชาคมโลก มีนิสัยที่เรียกว่าคิดกว้าง เรียนรู้วัฒนธรรมต่างประเทศ เมื่อรู้วัฒนธรรมคนอื่นก็รู้จักเขาดีขึ้นและทำธุรกิจก็ง่าย”

จากปี 1969 ถึง 2011 เอแบคก้าวขึ้นแท่นผู้นำด้านการศึกษา เพราะเมื่อคิดจะลงทุนใน “คน” แล้ว ก็ต้องทำให้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แม้ผลสะท้อนที่ได้กลับมาไม่ได้ออกมาเฉพาะแต่บุคลากรที่จบออกไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่ความงอกงามและคุณธรรมที่ติดตัวพร้อมกับทักษะการใช้ชีวิตจะเป็นเครื่องมือและเกราะป้องกันที่ดีที่พร้อมให้พวกเขาเหล่านั้นรู้ทันและปรับตัวเข้ากับโลกได้อย่างองอาจนั่นเอง

แหล่งที่มา : นิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม - กันยายน 2554 หน้า 56-59